นักข่าวชาวเมียนมาของบีบีซีที่โดนเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบควบคุมตัวที่กรุงเนปยีดอเมื่อวันศุกร์ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ขณะอียูประกาศชื่อ 11 บุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วงที่จะโดนอายัดทรัพย์สินและห้ามเดินทางเข้าอียู
แฟ้มภาพ ผู้ประท้วงเดินขบวนในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 พร้อมกับป้ายขนาดใหญ่เรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศปฏิบัติตามหลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง (อาร์ทูพี) เข้ามาแทรกแซงวิกฤติในเมียนมา
อ่อง ตูรา ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมาของบีบีซีภาคภาษาเมียนมา โดนชายในชุดพลเรือนพาตัวไปขณะทำงานด้านนอกศาลในกรุงเนปยีดอเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม รายงานบีบีซีกล่าวว่า กลุ่มชายที่มากันในรถตู้ที่ไม่ติดเครื่องหมายใดๆ มาขอพบเมื่อเวลาประมาณเที่ยงวัน แล้วพาตัวเขาไป บีบีซีไม่สามารถติดต่อกับนักข่าวรายนี้ได้นับแต่นั้น
เว็บไซต์ของบีบีซีเมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 รายงานว่า อ่อง ตูรา ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่รายงานไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม รายงานไม่ได้กล่าวถึงตาน ไท อ่อง นักข่าวชาวเมียนมาอีกคนที่ทำงานให้สำนักข่าวมิซซิมา ซึ่งโดนจับตัวไปพร้อมกัน สำนักข่าวอิสระแห่งนี้โดนรัฐบาลทหารเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อต้นเดือนนี้
รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) กลุ่มจับตาสถานการณ์ในเมียนมา เปิดเผยว่า นับแต่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีคนถูกจับกุมแล้วมากกว่า 2,600 คน และมีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์รุนแรงจากการประท้วงและการปราบปรามมากกว่า 250 คน
ชาวเมียนมายังคงออกมาประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร แม้ฝ่ายความมั่นคงจะใช้กำลังปราบปรามก็ตาม ที่เมืองมัณฑะเลย์ ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง รวมถึงครู ออกมาลงถนนตั้งแต่เช้ามืด บางคนถือป้ายข้อความเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงวิกฤติ
เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมาที่มีประชากร 1.7 ล้านคนแห่งนี้ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่โดนปราบปรามรุนแรงที่สุด แหล่งข่าวที่เป็นหน่วยแพทย์เผยกับเอเอฟพีว่า เมื่อวันอาทิตย์มีคนตายอีก 8 ราย บาดเจ็บราว 50 คน เสียงปืนกลดังจนถึงดึกดื่นค่อนคืน
เสียงแห่งเมียนมารายงานว่า กลุ่มแพทย์ในเมืองนี้ประท้วงการปราบปรามอย่างโหดร้ายด้วยการใช้ป้ายกระดาษมาจัดวางบนถนนแทน กลุ่มพระภิกษุก็ใช้วิธีการประท้วงแบบ "ไม่มีพระ" ด้วย
ที่นครย่างกุ้ง มีการประท้วงตั้งแต่รุ่งเช้าเช่นกัน คนขับรถพากันบีบแตรรถเพื่อสนับสนุนการต่อต้านรัฐประหาร ในตำบลไลง์ของย่างกุ้ง ชาวบ้านปล่อยลูกโป่งสีแดงหลายร้อยลูกพร้อมโปสเตอร์เรียกร้องให้ยูเอ็นเข้ามายุติการเข่นฆ่านี้
วันจันทร์ สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศรายชื่อบุคคล 11 คนที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารและการปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งจะถูกคว่ำบาตรห้ามการเดินทางเข้าอียูและอายัดทรัพย์สิน นำขบวนโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารชุดนี้ วารสารทางการของอียูระบุว่า มิน อ่อง หล่าย รับผิดชอบต่อการบ่อนทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในเมียนมา
นอกจากนี้ ยังมีนายทหารระดับสูงอีก 9 คน และผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาที่โดนอียูขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางและอายัดทรัพย์สิน
ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี กล่าวว่า การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุที่ได้เห็นในเมียนมานั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง นั่นคือเหตุผลที่อียูไม่สามารถหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรได้
มาตรการลงโทษของอียูนี้มาทีหลังมาตรการของสหรัฐและอังกฤษที่คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี อียูได้ปิดล้อมการค้าอาวุธแก่เมียนมาและคว่ำบาตรนายทหารระดับสูงของเมียนมาหลายนายมาตั้งแต่ปี 2562 การคว่ำบาตรเพิ่มเติมนี้จะเป็นการตอบโต้ที่มีนัยสำคัญที่สุดนับแต่เกิดการรัฐประหาร โดยนักการทูตหลายคนกล่าวด้วยว่า ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับกองทัพเมียนมาจะถูกคว่ำบาตรเพิ่มในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ผู้นำประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนวิจารณ์การใช้ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในเมียนมา โดยอินโดนีเซียและมาเลเซียเรียกร้องให้อาเซียนประชุมฉุกเฉินผู้นำชาติสมาชิกเพื่อหารือวิกฤติ โดยวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ ตอบรับข้อเรียกร้องนี้ ในวันจันทร์เขาได้เดินทางไปบรูไน ชาติประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน แล้วจะต่อด้วยการเยือนมาเลเซียในวันอังคาร และอินโดนีเซียหลังจากนั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |