จากการสำรวจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 20.167 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 15.510 ล้านครัวเรือน ส่วนที่เหลือยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ 4.657 ล้านครัวเรือน และในกลุ่มนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยประมาณ 2.726 ล้านครัวเรือน
โดยในพื้นที่ชนบทมีประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อนที่อยู่อาศัยและที่ดิน ทั้งบ้านที่ก่อสร้างมานานแล้วมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง ไม่ได้ปรับปรุง ซ่อมแซม บ้านเรือนประสบภัย และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ
ดังนั้นโครงการบ้านพอเพียงชนบทจึงสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการซ่อมแซม ปรับปรุง ต่อเติมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรมทั่วประเทศ เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่มีสภาพที่ดีขึ้น มีความมั่นคง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความพอเพียง รวม 325,000 ครัวเรือน ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) ภายใต้งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท (รวมงบประมาณทั้งโครงการ 5,850 ล้านบาท)
“เงิน 18,000 บาทจะซ่อมอะไรได้?”
โครงการบ้านพอเพียงชนบทมีงบสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 18,000 บาท แม้ว่าจะเป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก แต่หากรวมทั้งโครงการ จำนวน 325,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ จะต้องใช้งบประมาณถึง 5,850 ล้านบาท ดังนั้นด้วยงบประมาณที่มีจำกัด หลายตำบลหลายพื้นที่ที่มีโครงการนี้จึงต้องคิดค้นวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้งบประมาณที่จะได้รับมาไม่หมดไป รวมทั้งยังสามารถนำกลับไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนในตำบลได้อีก
เกรียงศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ คณะกรรมการขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าว่า ขบวนองค์กรชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา แบ่งการทำงานเรื่องบ้านพอเพียงชนบทออกเป็นโซนๆ ซึ่งในส่วนของตนรับผิดชอบ 3 อำเภอ คือ อ.บางคล้า อ.คลองเขื่อน และ อ.บางน้ำเปรี้ยว โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลในแต่ละตำบลเป็นเวทีในการดำเนินโครงการ ซึ่งก่อนที่จะทำโครงการก็ได้เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. เพื่อทำความเข้าใจกับโครงการ
หลังจากนั้นจึงกลับมาประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจกับพื้นที่ 3 อำเภอ โดยเอาตำบลที่จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนแล้วมาทำความเข้าใจว่า โครงการบ้านพอเพียงชนบทคืออะไร มีขั้นตอนเป็นอย่างไร เช่น ต้องทำการสำรวจข้อมูลผู้ที่เดือดร้อน ผู้ที่ยากจน บ้านเรือนทรุดโทรม ฯลฯ งบประมาณที่สนับสนุนให้มาเป็นแบบไหน หลังคาเรือนละเท่าไร ตำบลหนึ่งไม่เกินกี่ครัวเรือน พอทำความเข้าใจเสร็จ ทุกตำบลก็กลับไปสำรวจข้อมูลตัวเอง เสร็จแล้วจึงนำข้อมูลมานั่งคุยกัน แล้วมาเรียนรู้เรื่องการเขียนโครงการเพื่อเสนองบประมาณจาก พอช. ดังนั้นทุกตำบลจึงสามารถทำโครงการมานำเสนอได้
“โครงการบ้านพอเพียงนี้ เราไม่ได้ช่วยเหลือหรือให้เงินชาวบ้านเป็นเงินสด แต่จะสำรวจข้อมูลว่าบ้านที่จะได้รับการช่วยเหลือมีกี่หลัง จะซ่อมแซมอะไรบ้าง เช่น เปลี่ยนหลังคาที่ผุพังกี่แผ่น ซ่อมฝาบ้าน ใช้ไม้ ใช้วัสดุอะไร จำนวนเท่าไหร่ ปูนกี่ถุง รวมเป็นราคาเท่าไหร่ ใช้วิธีสืบราคาดูจากหลายร้านๆ แล้วสั่งซื้อวัสดุส่งไปให้บ้านที่จะซ่อมแซม โดยเราจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแบ่งหน้าที่กันทำงาน เช่น ฝ่ายสืบราคา ฝ่ายตรวจรับวัสดุ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายช่าง เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใส ชาวบ้านที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือจริง” เกรียงศักดิ์อธิบาย
ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่เดือดร้อนและสมควรได้รับความช่วยเหลือนั้น เกรียงศักดิ์บอกว่า แต่ละตำบลจะกำหนดกติกาเอง เช่น ต้องมีฐานะยากจนและต้องอาศัยอยู่ในตำบลนั้นอย่างน้อย 1 ปี บางตำบลก็ 3 ปีจึงจะมีสิทธิ์เข้าโครงการ และการช่วยเหลือก็จะมี 2 แบบ แบบที่หนึ่ง คือ ‘ให้เปล่า’ สำหรับผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ คนพิการ ไม่มีญาติพี่น้องดูแล ฯลฯ
โดยผู้ที่จะได้รับการช่วยแบบให้เปล่าจะต้องผ่านการประชาคมจากหมู่บ้าน เมื่อประชาคมหมู่บ้านให้ความเห็นชอบแล้วจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อกลั่นกรองให้ได้ผู้ที่เดือดร้อนและสมควรให้การช่วยเหลือแบบให้เปล่าจริงๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้านแบบให้เปล่านี้ คนในชุมชนจะช่วยกันลงแรง ลงขันสร้างบ้านให้ หากขาดเหลือวัสดุก่อสร้างใดๆ คนในชุมชน รวมทั้ง อบต.หรือเทศบาลอาจจะช่วยกันสมทบเงินหรือจัดหาวัสดุมาให้
แบบที่สอง คือ “ต้องชำระคืน” สำหรับผู้เดือดร้อนทั่วไปที่มีฐานะยากจน แต่มีกำลังความสามารถที่จะสมทบเงินกลับคืนเข้าสู่กองทุนได้ โดยแต่ละตำบลจะมีการจัดตั้ง ‘กองทุนบ้านพอเพียง’ ขึ้นมา ผู้ที่ได้การช่วยเหลือจะต้องออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท เมื่อซ่อมบ้านเสร็จแล้วจะต้องสมทบเงินกลับคืนเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ตามที่ได้รับการช่วยเหลือไป เช่น ได้รับการช่วยเหลืองบประมาณซ่อมบ้านหลังละ 18,000 บาท จะต้องสมทบคืนเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาทจนครบ 18,000 บาท เพื่อนำเงินนี้ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนคนอื่นๆ ต่อไป
“ตอนแรกที่มีโครงการบ้านพอเพียง พอรู้ว่ามีเงินช่วยเหลือเพียงหมื่นแปด หลายคนบอกไม่เอาหรอก จะเอาไปทำอะไรได้ ผู้นำพูดอย่างนี้ทุกคนเลย ผมก็พยายามยกตัวอย่างให้ผู้นำเข้าใจว่า อย่างคนเป็นผู้นำ เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็น ส.ท.หรือ อบต. พวกนี้ฐานะค่อนข้างดี เขาก็จะไม่เดือดร้อน แต่ว่าเงินหมื่นแปด สำหรับคนจน คนที่เดือดร้อน มันมีความสำคัญมาก เงินหมื่นแปดช่วยเขาได้เยอะ บางบ้านหลังคาหลุด หลังคารั่ว ฝาบ้านแตก พอฝนตกก็เปียกปอนกันทั้งบ้าน พอเงินหมื่นแปดมาได้หลังคาใหม่เลย ได้ฝาผนังบ้านมาอีกแถบหนึ่ง อย่างนี้มันก็ช่วยเขาได้เยอะ เพราะจะหาเงินก้อนทีเดียวมาหมื่นแปดก็คงหาไม่ได้” เกรียงศักดิ์ยกตัวอย่าง
“กองทุนบ้านพอเพียงเพื่อความยั่งยืน”
โครงการบ้านพอเพียงชนบทในจังหวัดฉะเชิงเทราเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบันนี้มีพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว 10 ตำบล 3 อำเภอ คือ อ.บางคล้า อ.คลองเขื่อน และ อ.บางน้ำเปรี้ยว รวมทั้งหมด 358 ครัวเรือน โดยเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีมอบของขวัญปีใหม่ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ให้แก่ประชาชนใน 3 อำเภอดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการมอบงบประมาณสนับสนุนบ้านพอเพียงชนบทที่จะซ่อมแซมในปี 2561 อีกจำนวน 2,081 ครัวเรือน สำหรับ 7 จังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด (จังหวัดละ 5 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม โครงการบ้านพอเพียงชนบท แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์แบบให้เปล่าสำหรับคนที่ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้มีสภาพที่ดีขึ้น เหมาะสมกับการอยู่อาศัย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วโครงการบ้านพอเพียงชนบทนี้ยังสามารถต่อยอดหรือพัฒนาไปสู่โครงการอื่นๆ ในตำบลได้อีก ไม่ใช่มีลักษณะแบบการทุ่มงบประมาณลงมาในพื้นที่ เมื่อหมดเงิน หมดงบประมาณแล้ว โครงการก็จบลงไป
ดังเช่นที่ ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจัดตั้ง ‘กองทุนบ้านพอเพียง’ ขึ้นมา โดยให้ผู้ที่ได้การช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านจะต้องออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท เมื่อซ่อมบ้านเสร็จแล้วจะต้องสมทบเงินกลับคืนเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ตามที่ได้รับการช่วยเหลือไป เช่น ได้รับการช่วยเหลืองบประมาณซ่อมบ้านหลังละ 18,000 บาท จะต้องสมทบคืนเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาทจนครบ 18,000 บาท เพื่อนำเงินจากกองทุนนี้ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนคนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
เกรียงศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลปากน้ำ ซึ่งใช้สภาองค์กรชุมชนฯ ขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียง และจัดตั้งกองทุนบ้านพอเพียงขึ้นมา บอกว่า ต.ปากน้ำมีชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้านพอเพียงทั้งหมด 63 ราย ใช้งบซ่อมบ้านรายละ 7,000-18,000 บาท แต่ทุกรายจะต้องออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาท และสมทบเงินค่าซ่อมบ้านกลับเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ทำให้แต่ละเดือนจะมีเงินเข้ากองทุนประมาณเดือนละ 18,000 บาท
“ตอนนี้กองทุนมีเงินประมาณสองแสนบาท และจะนำเงินกองทุนนี้ไปช่วยเหลือชาวบ้านคนอื่นๆ ที่เดือดร้อนต่อไปอีก คิดว่าคงจะช่วยได้อีกประมาณ 6 ครอบครัว รวมทั้งจะทำให้กองทุนนี้ยั่งยืนคู่กับ ต.ปากน้ำต่อไป และจะไม่ทำเฉพาะเรื่องบ้านเท่านั้น” เกรียงศักดิ์พูดถึงอนาคตของกองทุน
นอกจากกองทุนบ้านพอเพียงแล้ว ที่ ต.ปากน้ำยังมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้การช่วยสมาชิกกองทุน เช่น กรณีเกิด รับขวัญเด็กเกิดใหม่ 1,000 บาท มารดานอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 200 บาท คนเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 200 บาท ไม่เกิน 5 คืนต่อ 1 ปี สมาชิกเสียชีวิตช่วยเหลือ 5,000 บาท ฯลฯ ขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 600 คน สมาชิกต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 700,000 บาทเศษ
“สำหรับสมาชิกกองทุนบ้านพอเพียงที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการ เราจะชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการด้วย แม้ว่าเงินช่วยเหลือจะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นกองทุนเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ช่วยกันแบบพี่แบบน้อง ส่วนคนที่ด้อยโอกาส กองทุนก็จะให้เป็นสมาชิกฟรี ไม่ต้องสมทบเงินรายปี ตอนนี้ในตำบลเรามีสมาชิกประเภทนี้ 60 คน” เกรียงศักดิ์พูดถึงการเชื่อมโยงกองทุนบ้านพอเพียงไปสู่กองทุนสวัสดิการ
เช่นเดียวกับที่ ต.มหาราช อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีโครงการบ้านพอเพียงชนบทและมีการจัดตั้ง ‘กองทุนแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยตำบลมหาราช’ ขึ้นมา เนื่องจากพื้นที่ ต.มหาราชเป็นที่ราบต่ำ ถูกน้ำท่วมแทบจะทุกปี ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย
ฌาณราเมศวร์ กลมกล่อม หรือ ‘ผู้ใหญ่เทือง’ แกนนำในการดำเนินโครงการบ้านพอเพียง เล่าว่า กองทุนนี้เกิดจากพี่น้องที่มีบ้านเรือนทรุดโทรมที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้านพอเพียงจำนวน 26 ราย มาร่วมกันออมทรัพย์ครอบครัวละ 85 บาทต่อเดือน และสมทบเงินกลับคืนเข้าสู่กองทุนแก้ไขปัญหาที่ดินฯ เดือนละ 490 บาท ตอนนี้มีสมาชิกใหม่มาสมัครเข้ากองทุนประมาณ 60 ราย มีเงินทั้งหมดประมาณ 120,000 บาท
“เงินที่เราสนับสนุนซ่อมบ้านไปนี้ คนที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วก็จะชำระคืนกลับมาเข้ากองทุน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในงวดต่อๆ ไป ซึ่งตอนนี้เรามีประมาณ 50 ครัวเรือนที่รอรับการช่วยเหลือ ก็จะได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดภายใน 5 ปีจากกองทุนนี้ เพราะทุกๆ เดือนจะมีการคืนเงินกลับมาสู่กองทุน เป็นการช่วยเหลือกัน เอาผู้ที่เดือดร้อนมาออมร่วมกัน สนับสนุนกันให้เป็นกองทุนใหญ่เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ หรือผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว ถ้าหากว่าบ้านทรุดโทรมหรือเสียหายจากน้ำท่วม ก็สามารถกลับเข้ามาใช้เงินจากกองทุนได้อีก” ผู้ใหญ่เทืองบอก และว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่เดือดร้อนหรือยังไม่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมบ้าน หากจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนก็สามารถทำได้ เมื่อยามเดือดร้อนก็สามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ได้
นอกจากนี้ กองทุนยังนำเงินไปช่วยเหลือสมาชิกด้านอาชีพ เช่น กู้ไปหมุนเวียนค้าขาย หรือกู้ฉุกเฉิน ในยามเจ็บป่วยหรือเดือดร้อนเร่งด่วน โดยกองทุนจะกันเงินเอาไว้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินทั้งหมด แล้วนำมาให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืมไม่เกินรายละ 3,000 บาท มีสมาชิกกู้ยืมไปแล้ว 12 ราย โดยคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูก คือร้อยละ 50 สตางค์ต่อเดือน
นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างของการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ต่อยอดมาจากโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งไม่ใช่เป็นการให้งบประมาณมาแบบให้เปล่า เมื่อหมดเงิน หมดงบประมาณ โครงการก็จบลงไป แต่สามารถขยายผลไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือสมาชิกที่เดือดร้อน หรือต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ในชุมชนต่อไปได้...!!.
บ้านพอเพียงชนบท ต.บางคล้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีชื่อเสียงโด่งดังมานานในเรื่องของมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีสีเหลืองทอง เป็นผลไม้ส่งออกที่ทำรายได้ปีละหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งการเลี้ยงกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำก็ทำรายได้นับพันล้านบาทต่อปีเช่นกัน ทำให้ดูเหมือนว่าคนบางคล้าจะมั่งคั่งร่ำรวยกันทั้งอำเภอ...
แต่ในความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องรายได้และฐานะความเป็นอยู่ของสังคมไทยมีให้เห็นอยู่ทุกจังหวัด ที่ อ.บางคล้าก็เช่นกัน ยังมีครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ต้องสร้างบ้านเรือนในที่ดินสาธารณะ บ้านเรือนทรุดโทรม โย้เย้ หลังคาผุพัง บางหลังก็ต้องหาเศษไม้ แผ่นสังกะสีเก่า นำมาปะคลุมเพื่อกันแดดกันฝนไปวันๆ
สาคร รุ่งศรีรำไพ อายุ 47 ปี ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่กับครอบครัวบนที่ดินสาธารณะ หมู่ที่ 12 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า เล่าว่า เธอมีอาชีพเป็นลูกจ้างทำขนมเปี๊ยะอยู่ในตลาดบางคล้า มีรายได้วันละ 280 บาท สามีมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีรายได้วันละ 300 บาท มีลูก 3 คนกำลังเรียนตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยม เป็นวัยกำลังกินกำลังนอน รายได้จึงหมดไปกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
บ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันเป็นบ้านชั้นเดียว ก่อด้วยอิฐบล็อกขนาดกว้างยาวประมาณ 5x6 ตารางเมตร ปลูกสร้างมานาน 8 ปีแล้ว สภาพทรุดโทรม สาครบอกว่า บ้านที่ปลูกอยู่แถบนี้ส่วนใหญ่จะถูกน้ำท่วมทุกปี เพราะมีลำคลองไปเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกง เมื่อแม่น้ำบางปะกงเอ่อล้น น้ำก็จะไหลเข้ามาในคลองและท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน ซึ่งในปี 2554 น้ำเคยท่วมสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1.30-1.50 เมตร ทำให้บ้านได้รับความเสียหาย พื้นปูนซีเมนต์แตก หลังคาสังกะสีก็ผุพัง อยากจะซ่อมแซม แต่ยังไม่มีเงิน เพราะรายได้ในแต่ละวันจะหมดไปกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว
ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา น้าเกรียงศักดิ์ (ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลปากน้ำ) มาบอกว่ามีโครงการบ้านพอเพียงชนบท มีงบประมาณมาช่วยเหลือให้บ้านเรือนที่ยากจน มีความเดือดร้อน ได้ซ่อมแซมบ้าน แต่จะต้องสมทบเงินออมทรัพย์ทุกเดือน เดือนละ 30 บาท และส่งคืนเงินที่ซ่อมบ้านเดือนละ 300 บาทเข้ากองทุน
“ดีใจที่มีโครงการนี้มาช่วยเหลือ เพราะลำพังรายได้ในครอบครัวไม่พอที่จะซ่อมบ้าน เพราะต้องกิน ต้องใช้ เด็กๆ กำลังเรียน แต่บ้านมันโทรมแล้ว พื้นปูนก็แตก น้ำจากใต้ดินก็ซึมขึ้นมา ถ้าฝนตก ฝนก็จะสาดเข้ามา” สาครบอก
ครอบครัวของสาครได้รับการช่วยเหลือเป็นวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น อิฐ ปูนซีเมนต์ ทราย และกระเบื้องปูพื้น ในวงเงิน 18,000 บาท และใช้แรงงานในครอบครัวช่วยกันซ่อมพื้นบ้านที่แตกร้าว และปูพื้นด้วยกระเบื้อง ใช้เวลากว่า 2 เดือนจึงแล้วเสร็จ
“ตอนนี้ยังเหลือหน้าต่างที่ยังไม่ได้ทำอีก 3 บาน เพราะเงินไม่พอ คงต้องรอให้ส่งเงินคืนกองทุนหมดเสียก่อน แล้วจะขอยืมเงินกองทุนเอามาทำหน้าต่าง เวลาฝนตกจะได้ไม่เปียก” สาครพูดถึงแผนการซ่อมบ้านในอนาคต...
ห่างจากบ้านของสาครเข้าไปในสวนมะพร้าว สวนมะม่วง และบ่อเลี้ยงกุ้ง ราว 2 กิโลเมตร สุดปลายสวนมีบ้านของ ‘ป้าประจวบ ชาวนา’ วัย 70 ปีเศษ ตั้งอยู่ แกอยู่ลำพังเพียงคนเดียว ไม่มีสามี แต่เดิมป้าประจวบเคยทำสวน ทำไร่ แต่เมื่ออายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บเริ่มมาเยี่ยมเยียน ป้าประจวบจึงต้องอยู่เฝ้าบ้าน โดยมีหลานๆ มาช่วยดูแล หาข้าวหาน้ำมาให้กิน
บ้านที่ป้าประจวบอยู่อาศัยเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง ปลูกสร้างมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ อายุบ้านคงไม่ต่ำกว่า 70 ปี พอๆ กับอายุของป้าประจวบ สภาพบ้านจึงทรุดโทรมไปตามกาลเวลา คือเสาเรือนทรุด ทำให้บ้านโย้เย้ เพราะไม่มีเสารับน้ำหนัก หลังคารั่วผุพัง ฝาบ้านแตกหัก
เกรียงศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์ ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลปากน้ำที่ขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบท บอกว่า ก่อนหน้าจะมีโครงการนี้ขึ้นมา ชาวบ้านได้ช่วยกันซ่อมแซมบ้านให้ป้าประจวบมาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะสภาพเดิมพื้นบ้านทรุด ไม้ผุ หลังคารั่ว แต่เมื่อหลายปีผ่านไป สภาพบ้านก็ทรุดโทรมอีก เมื่อมีโครงการบ้านชนบทพอเพียงขึ้นมา ชาวบ้านจึงเสนอให้ซ่อมแซมบ้านให้ประจวบอีก โดยผ่านการพิจารณาของสภาองค์กรชุมชนตำบลปากน้ำเพื่อซ่อมบ้านแบบให้เปล่า โดยใช้งบทั้งหมดกว่า 20,000 บาท เป็นงบจากบ้านพอเพียง 18,000 บาท ส่วนที่เหลือชาวบ้านร่วมกันสมทบ ใช้วัสดุ ใช้แรงงานจากคนในชุมชน ซ่อมพื้นบ้าน หลังคา และครัว ใช้เวลา 3 วันจึงแล้วเสร็จ
ป้าประจวบยิ้มกว้างอย่างคนอารมณ์ดี บอกสั้นๆ ว่า “อยู่ดีกว่าเดิม นอนสบาย ฝนตกก็ไม่รั่ว”.
เกรียงศักดิ์ สมบูรณ์ทรัพย์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |