นายกฯ ห่วงราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น แจงเป็นไปตามราคาตลาดโลก มท.1 อ้างในอดีตเคยสูงถึง 40 บาทต่อลิตร รมว.พาณิชย์สั่งศึกษาผลกระทบรับมือต้นทุนสินค้าขยับ เปิดทางผู้ผลิตหากอั้นไม่ไหวยื่นเรื่องขอปรับราคาได้ "เจ๊เกียว" บุกคมนาคมขอปรับขึ้นค่าโดยสาร 10 สต./กม. "อาคม" เบรก! ให้รอ 2 เดือนศึกษาโครงสร้างราคาค่าโดยสารใหม่เสร็จ ขณะที่แอลพีจีพุ่งพรวดส่งผลราคาก๊าซหุงต้ม 15 กก.เพิ่ม 23 บาท/ถัง
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2561 โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวแสดงความห่วงใยถึงปัญหาราคาน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นว่า ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้เป็นไปตามราคาตลาดโลก จาก 50 บาทต่อบาร์เรลเป็นกว่า 70 บาทต่อบาร์เรล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้อยากให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ดังนั้นตอนนี้จึงรู้สึกเป็นห่วงคนไทยที่ต้องใช้น้ำมันราคาแพง ขณะเดียวกันอยากให้ทุกคนเข้าใจ ซึ่งอาจมีการเข้าใจผิดว่ารัฐบาลทำให้ราคาน้ำมันแพง จึงอยากให้เข้าใจตรงนี้ อีกทั้งยังไม่รู้ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นอีกนานแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้กล่าวด้วยว่าราคาน้ำมันตอนนี้อยู่ที่ลิตรละกว่า 30 บาท ซึ่งในอดีตก็เคยมีราคาสูงถึง 40 บาท
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปศึกษาผลกระทบ จากการที่ราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอย่างไร คาดภายใน 1-2 สัปดาห์น่าจะได้ข้อสรุปของผลศึกษา โดยขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องเชิญผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมาหารือ ขอประเมินสถานการณ์อีกระยะก่อน
"คงต้องให้ความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตสินค้าด้วย เพราะหากต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นจริง โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในบัญชีควบคุมสามารถส่งเรื่องมาให้กระทรวงพิจารณาได้ ก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะต้องยอมรับว่าต้นทุนน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจริง ขณะที่ราคาข้าวสารบรรจุถุงหอมมะลิ (5 กก.) มีแนวโน้มปรับขึ้นราคาเกือบ 300 บาท/ถุง เป็นเพราะปัจจัยจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปีนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะได้รายได้จากการขายข้าวเปลือกราคาดีขึ้น" นายสนธิรัตน์กล่าว
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าฯ ได้ทำการศึกษาการปรับขึ้นค่าขนส่งของผู้ประกอบการรถบรรทุก 5% โดยจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าไม่เกิน 0.5% ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบก็มีอัตราส่วนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสินค้า เบื้องต้นถุงพลาสติกได้รับผลกระทบน้อยสุด ส่วนปูนซีเมนต์ได้รับผลกระทบมากสุด
"เท่าที่ประเมินผลกระทบยังไม่มาก ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น สบู่ ผงซักฟอกที่น้ำหนักบรรทุกไม่มาก จึงได้รับผลกระทบน้อยมาก อีกทั้งค่าขนส่งไม่ใช่ต้นทุนของสินค้าทั้งหมด เพราะต้นทุนสินค้าอยู่ที่วัตถุดิบการผลิตเป็นหลัก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการสินค้ารายใดขอปรับราคาเข้ามา" นายบุณยฤทธิ์กล่าว
ขณะที่นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารขนส่ง เปิดเผยภายหลังเดินทางมาขอเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ว่าล่าสุดราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นเป็น 29.79 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้ต้นทุนการให้บริการปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 จึงขอปรับขึ้นราคาตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในราคา 10 สตางค์ต่อกิโลเมตร ทั้งนี้หากไม่ได้รับการพิจารณา ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดเที่ยววิ่งลงในบางส่วน
นางสุจินดากล่าวว่า ปัจจุบันรถ บขส.และรถร่วมเอกชนมีบริการอยู่ 309 เส้นทาง โดยในส่วนของรถร่วมเอกชนมีรถกว่า 1 หมื่นคัน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก มีประมาณ 5% ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสารเพื่อให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด อีกทั้งจำนวนผู้โดยสารลดลงเนื่องจากมีสายการบินต้นทุนต่ำและรถตู้เข้ามาแข่งขัน ที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวแล้ว แต่ก็มีผู้ประกอบการเลิกกิจการไปแล้วมากกว่า 30% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน
"การเข้าพบนายอาคมในครั้งนี้ ต้องการเรียกร้องให้พิจารณาอนุมัติปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร 10 สตางค์ต่อกิโลเมตร เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันสูงเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะแบกรับภาระต่อไปได้อีก หากนายอาคมไม่ให้คำตอบ แนวทางที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่รอดได้ คือการปรับลดเที่ยววิ่ง และอาจส่งผลให้บางเส้นทางมีรถวิ่งให้บริการเพียง 1 เที่ยววิ่งต่อวัน หรืออย่างเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช จากเดิมที่มีเที่ยววิ่งจำนวน 300 เที่ยวต่อวัน อาจปรับลดเหลือ 200 เที่ยวต่อวัน" นางสุจินดากล่าว
นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสมาพันธ์ขนส่งรถบรรทุกอาเซียน กล่าวว่า ได้เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนค่าเชื้อเพลิงของการขนส่งไปจนถึงสิ้นสุดไตรมาส 3 เพื่อชะลอผลกระทบต้นทุนการขนส่งปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องปรับราคาค่าขนส่งไป 5% เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันเป็นต้นทุนการขนส่งมีสัดส่วนสูงถึง 50-55% ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ยอมนำเงินเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จะส่งผลให้ค่าขนส่งปรับขึ้นไปจนถึง 10% ทำให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน
ด้านนายอาคมกล่าวภายหลังรับหนังสือขอพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารจากนางสุจินดาว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกและบริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบัน ซึ่งต้องรอผลการศึกษาและสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ คาดว่าจะเสร็จสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จากนั้นจึงส่งรายละเอียดให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเป็นผู้พิจารณาค่าโดยสารอีกครั้ง ซึ่งชัดเจนว่าในช่วง 2 เดือนจากนี้จะยังไม่มีการพิจารณาค่าโดยสาร
"หลังจากนี้เจ๊เกียวต้องไปทำความเข้าใจกับสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการรถร่วม ว่ารัฐบาลจะหาแนวทางช่วยเหลือ โดยกระทรวงพลังงานจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และเสนอทางเลือกให้ผู้ประกอบการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 20 ซึ่งมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันดีเซลปกติลิตรละ 3 บาท โดยจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนมิถุนายนนี้" นายอาคมกล่าว
อย่างไรก็ตาม นางสุจินดากล่าวว่าตนจะไปหารือกับสมาชิกภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ส่วนการใช้บี 20 นั้นคงต้องรอดูคุณสมบัติของน้ำมันก่อนว่าจะมีผลอย่างไรต่อเครื่องยนต์ จึงจะพิจารณาว่าจะใช้หรือไม่ใช้ เนื่องจากรถใช้น้ำมันดีเซลคันละ 7 ล้าน หากจะเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแบบอื่นจะมีผลกระทบหรือไม่
นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (สมาคมรถร่วมฯ) กล่าวว่าการแบกรับต้นทุนด้านพลังงานเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้ประกอบการเสมอ จากที่กระทรวงคมนาคมชี้แจงว่ายังไม่สามารถปรับค่าโดยสารเพิ่มได้เนื่องจากต้องรอปฏิรูปให้เสร็จก่อนนั้น อยากสะท้อนในมุมของเอกชนว่า ปัญหาการขาดทุนและเงินทุนหมุนเวียนนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรอไม่ได้
มีรายงานว่า สำหรับอัตราค่าเรือโดยสาร เรือด่วนเจ้าพระยาและเรือคลองแสนแสบ ขณะนี้ยังไม่มีปรับตัวขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากกรมเจ้าท่าได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาปรับขึ้นค่าเรือโดยสารไว้ก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่สะท้อนราคาน้ำมันในช่วงนี้มีการขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันที่ 22 พ.ค.นี้ได้มีการขยับขึ้นอีก โดยผู้ค้ารายใหญ่ได้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจ้งคู่ค้าว่าราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งปรับเพิ่มขึ้น 1.5485 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีผลตั้งแต่เวลา 00:01 น. ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซถังขนาด 15 กก. ปรับขึ้นประมาณ 23 บาทต่อถัง จากราคาที่ประกาศสัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 372 บาทต่อถัง
ทั้งนี้ ราคาแอลพีจีของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนทุกสัปดาห์ โดยอ้างอิงราคาซื้อขายตลาดโลก สัปดาห์ที่แล้วราคาอยู่ที่ 563.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ต้นเดือน เม.ย.อยู่ที่ประมาณ 449 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือราคาขยับขึ้นถึง 114 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เป็นผลให้ราคาขายปลีกขยับขึ้นเกือบทุกสัปดาห์ โดยปัจจุบันเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับแอลพีจีอุดหนุนอยู่ที่ 2.7424 บาทต่อ กก. ทำให้เงินกองทุนไหลออกประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาก๊าซอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบประชาชนอย่างไร โดยจะนำผลกระทบไปหารือในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 4 มิ.ย.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |