เตรียมตัวไว้ปี 64 แล้งหนักจริง


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     สัญญาณภัยแล้งปีนี้น่าจะอยู่ในระดับรุนแรง เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 บางพื้นที่ในหลายจังหวัด มีการขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำที่เก็บไว้ในช่วงหน้าฝนมีไม่มากพอ แม้กระทั่งเมื่อน้ำเค็มทะลักเข้ามารุกล้ำคลองผลิตน้ำประปาในกรุงเทพฯ กรมชลประทานก็ยังมีน้ำไม่มากพอที่จะผลักดันน้ำเค็มออกไป ทำให้การประปานครหลวงได้แต่ป่าวประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการบริโภคน้ำประปาในช่วงหน้าแล้งนี้  

      ตามข้อมูลของกรมชลประทานระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ 44 จังหวัด เขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศไทย มีปริมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย การใช้น้ำปีนี้จึงต้องมีการวางแผนการจัดสรรระหว่างน้ำกิน น้ำใช้ น้ำทำการเกษตรให้ดี และต้องมีน้ำสำรองไว้รักษาสมดุลระบบนิเวศ รัฐบาล นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมการรับมือภัยแล้ง

      "เลิกแล้ง เลิกจน” เป็นโมเดลที่นำเสนอการแก้ปัญหาน้ำ จัดทำขึ้นโดยเอสซีจี ซึ่งร่วมมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และหอการค้าแห่งประเทศไทย โดย ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ได้นำเสนอทางออกปัญหาน้ำในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

 

 ดร.รอยล จิตรดอน  

    ดร.รอยลกล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยแล้งหนักจริงๆ เพราะปริมาณฝนสะสมในปี 2563 มีค่าน้อยกว่าค่าปกติ ติดลบไป 12% ยิ่งกว่านั้นปี 2562 ฝนน้อยกว่าปกติถึง 17% ทำให้ปีที่แล้วเราใช้น้ำต้นทุนที่มีในอ่างเก็บน้ำเกือบหมด ฝนน้อยเกิดติดต่อกันสองปี น้ำไหลลงอ่างน้อย ส่งผลกระทบหลายภาคส่วน อย่างพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาน้ำไม่พอทำนาปรัง สาเหตุที่ทำให้แล้งมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประมาณปี 2547-2548 ไทยเผชิญภัยแล้ง ปี 2549 ไทยเจอน้ำท่วม จนกระทั่งปี 2554 ปริมาณฝนสะสมประเทศเพิ่มถึง 24% จากปกติประมาณ 9% ปี 2560 เจอฝนเพิ่ม 25% ภาคกลางรอด เพราะฝนตกหนักในภาคอีสาน พื้นที่จมน้ำกว่าสองเดือน

      “วงรอบฝนเปลี่ยนจากเดิม 8 ปี เป็นเปลี่ยนทุก 3 ปี  แล้วเปลี่ยนหนักด้วย เปลี่ยนพื้นที่ไปตกท้ายอ่าง เวลาตกจะหนักในช่วงสั้นๆ พฤษภาคมตก กรกฎาคมฝนหาย กันยายนกลับมาตกเยอะอีก รูปแบบฝนเปลี่ยนไป พอเริ่มแก้แล้ง ท่วมมาแล้ว เพราะช่วงสั้น พอแก้ท่วม แล้งมาแล้ว ที่แล้วมาเราแก้แยก แก้น้ำท่วมอย่างนึง แก้น้ำแล้งอย่างนึง เรายังไม่ได้ทำเรื่องการบริหารความเสี่ยง พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งการบริหารความเสี่ยงเยอะมาก ทั้งระดับประเทศและระดับชุมชน คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงล้วนมีรากฐานมาจากการบริหารความเสี่ยง" ดร.รอยลเน้นย้ำไทยต้องบริหารความเสี่ยง 

      ภาพรวมทั้งประเทศไทย ประธาน สสน.ให้ข้อมูลว่า เดิมไทยบริหารแค่น้ำต้นทุนอย่างเดียว แต่ไม่ได้บริหารความต้องการใช้น้ำ เพิ่งทำข้อมูลใช้เมื่อปี 2558 จากสถิติไทยมีความต้องการน้ำมากถึง 153,578 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่ประเทศไทยมีความจุของอ่างรวม 76,067 ล้าน ลบ.ม. แต่มีน้ำไหลลงเขื่อนใหญ่และขนาดกลางเพียง 42,620 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ปีที่แล้วมีน้ำไหลเข้าอ่างแค่ 20,000 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณฝนที่ลดลง 12% แต่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างลดฮวบ ประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรเมื่อตอนนี้เหลือน้ำต้นทุนแค่สองหมื่นล้าน แต่ความต้องการใช้มากกว่าแสนห้าหมื่นล้าน

      พื้นที่กรุงเทพมหานครมีหลักฐานชัดว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนักแล้ว ดร.รอยลบอกว่า น้ำเค็มรุกตัวเข้าถึงสำแล อำเภอเมืองปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำดิบ ก่อนส่งเข้ากระบวนการผลิตน้ำประปาจ่ายให้คนกรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ ปกติค่าความเค็มอยู่ที่ 0.5 กรัมต่อลิตร แต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา น้ำที่สำแลค่าความเค็มสูงถึง 2.6 กรัมต่อลิตร ถ้าเค็มมากไปไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนป่วย ต้องเลี่ยง ส่วนอีกแนวทางบรรเทาน้ำเค็มรุกเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันเพื่อหยุดโครงการขุดลอกปากแม่น้ำเจ้าพระยา 

      “น้ำเค็มรุก เพราะปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้จาก 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำในอ่างเหลือเพียง 3,000 กว่าล้าน ลบ.ม. น้ำที่เคยใช้ไล่น้ำเค็มโดยบริหารจากเขื่อนพระราม 6 เขื่อนเจ้าพระยา เคยระบายน้ำด้วยความเร็ว 120 ลบ.ม.ต่อวินาที ต้องเพิ่มเป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที ถึงจะไล่น้ำเค็มได้ หมายถึงเราต้องปล่อยน้ำทิ้งทะเล 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน หรือ 600 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน แล้วทุกวันเราต้องใช้น้ำผลิตน้ำประปา 5 ล้าน ลบ.ม. เดือนพฤษภาคมจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก กรมชลประทานต้องเตรียมน้ำเพื่อการเกษตรภาคกลางอีก 2,000 ล้าน ลบ.ม. หนักจริงๆ ปีนี้" ดร.รอยลแสดงความหนักใจ  สถานการณ์ฝนในไทยปี 2564 เป็นอย่างไรนั้น ประธานกรรมการ สสน. บอกว่า คาดการณ์โดยใช้รูปแบบมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียเป็นตัวชี้ พบว่าฝนปีนี้จะคล้ายคลึงกับปี 2539 เดือนเมษายนจะมีปริมาณฝนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เดือนพฤษภาคมเริ่มมีฝนในภาคกลาง และเดือนมิถุนายนฝนขยับไปภาคเหนือ เดือนกรกฎาคม สิงหาคม ฝนน้อย ทิ้งช่วง กลับมาโหมตกเดือนกันยายน ความแปรปรวนนี้คือ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ต้องบริหารความเสี่ยงภัยแล้งและท่วมไปพร้อมๆกัน

      แต่ดูเหมือนว่าภัยแล้งจะกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คนในวงกว้างมากกว่าน้ำท่วม ดร.รอยลยอมรับว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ เพราะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีมากถึงร้อยละ 80 ของประเทศ จะประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรง โดยมีชุมชนที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอยู่ในขั้นวิกฤติกว่า 30,000 ชุมชน ในแถบภาคเหนือและอีสาน ดังนั้น การพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียวคงทำให้รอดพ้นภัยแล้งได้ยาก เกษตรกรจึงต้องร่วมมือกันซ่อมบำรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ หันมาเก็บกักน้ำและบริหารน้ำในพื้นที่ตัวเอง รวมถึงร่วมมือบริหารจัดการน้ำ เน้นการทำงานแนวราบ ไม่ใช่จากบนลงล่าง นอกจากนี้ ต้องเอาใจใส่กับการใช้น้ำซ้ำ หรือจากภาคเกษตร และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำเกษตรแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผสมผสาน เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้แล้ว นอกจากนี้ สสน.ร่วมกับเอสซีจี ขยายผลโมเดล "เลิกแล้ง เลิกจน” เพราะช่วยให้รอดภัยแล้งซ้ำซาก ปลดหนี้ได้

บ้านสาแพะเหนือ จ.ลำปาง ทำอ่าง สร้างฝาย แก้ภัยแล้ง มีน้ำใช้ทั้งปี

 

       นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ตลอด 14 ปีที่ผ่านมาเอสซีจีร่วมกับเครือข่ายแก้ปัญหาภัยแล้ง สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 เริ่มจากการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์กว่า 100,000 ฝาย ทำสระพวง แก้มลิง ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำชุมชน ต่อยอดสู่โครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่ให้กับ 250 ชุมชน 47,500 ครัวเรือน ใน 30 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า รวมถึงต่อยอดโครงการ “พลังชุมชน” อบรมให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม เรียนรู้การตลาด และการค้าขาย

      จากบทเรียนทำให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจน ได้นำมาสู่บทสรุป “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล ที่มี 6 ขั้นตอน คือ 1.สามัคคี พึ่งตนเอง เรียนรู้ ลงมือทำ แก้ปัญหาด้วยความรู้คู่คุณธรรม 2.เรียนรู้จัดการน้ำ ด้วยเทคโนโลยี เรียนรู้การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ เข้าใจสภาพพื้นที่ รู้ความต้องการใช้น้ำของตนเองและชุมชน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำแผนที่น้ำ ผังน้ำ วางแผนบริหารสมดุลน้ำ 3.หาน้ำได้ เก็บน้ำไว้ ใช้น้ำเป็น สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ สำรองน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเกษตร ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของชุมชน ใช้น้ำซ้ำให้คุ้มค่าด้วยระบบน้ำหมุนเวียน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้ชุ่มชื้นเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน

      4.ทำเกษตรผสมผสาน บริหารความเสี่ยง โดยปลูกพืชเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อขาย สร้างรายได้ตลอดทั้งปี ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำเกษตรอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยี วางแผนเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศ เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อยในพื้นที่แล้ง 5.เข้าใจตลาด ตรงใจลูกค้า ปลูกพืชที่เป็นความต้องการของตลาด แปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขายผ่านช่องทางตลาดที่เข้าถึงลูกค้า และ 6.เศรษฐกิจเพิ่มคุณค่า ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน การรวมกลุ่มชุมชนให้เข้มแข็ง จัดการผลผลิตเกษตร การตลาด การจัดการเงินและสวัสดิการ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

 

      ด้าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ชุมชนจะสามารถเลิกแล้ง เลิกจนได้ อย่าพร่ำเฉยๆ จะเดินตามรอยเท้าพ่อ หยุดพูดได้มั้ย "น้ำคือชีวิต" หยุดพูดได้มั้ย "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แล้วก็นั่งเฉยๆ ผลสำเร็จจะเกิดขึ้นต้องลงมือทำ ทุกวันนี้มีตัวอย่างชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน ลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มแข็ง เหมาะสมกับพื้นที่และวิถีชุมชน

      “ บ้านดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เคยขาดน้ำ มีหนี้สิน เมื่อลงมือทำ วันนี้มีเงินกองทุน 480 ล้านบาท จากเริ่มต้น 1,000 กว่าบาท ขณะที่บริษัทห้างร้านเจ๊งหมด เพราะโควิด สิ่งที่ชุมชนต้องสลัดให้ออกถ้าคิดจะพึ่งพาภาครัฐ หรือมุ่งใช้น้ำในเขื่อนอย่างเดียว จะรอดพ้นภัยแล้งได้ยาก วันนี้บ้านดงขี้เหล็กทุกแปลงมีสระน้ำของตนเอง มีน้ำปลูกพืชกินได้ ปลูกสมุนไพร ส่ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รายจ่ายลดลง ลูกหลานกลับมาบ้าน เพราะมีน้ำ มีกิน เมื่อเลิกแล้ง เลิกจน และตั้งเป้าปลายปีนี้จะรวยแล้ว" ดร.สุเมธยกตัวอย่างชุมชนที่แก้ปัญหาน้ำสำเร็จ

ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี สร้างพื้นที่เก็บกักน้ำเชื่อมโยงเส้นทางน้ำในพื้นที่

 

      ถึงปีนี้เจอวิกฤติภัยแล้งวนกลับมาอีกรอบ ดร.สุเมธ ทิ้งท้ายถึงทางออก และความหวังว่า ถึงจะแล้งหนัก ก็มีน้ำ แต่จะหาพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้หรือเปล่าเท่านั้น ชุมชนที่พบความสำเร็จเก็บน้ำทุกหยด รู้และเข้าใจคำว่า "น้ำคือชีวิต” เช่น ชุมชนบ้านทับคริสต์ อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีสระพวง ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ชุมชนบ้านปากซวด จ.สุราษฎ์ฯ เปลี่ยนเป็นป่ายาง เสริมเรื่องเกษตรผสมผสาน ขณะที่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ใช้ถนนเป็นทางระบายน้ำ รับน้ำหลากและน้ำฝน เก็บเข้าสระหนองทองลิ่ม นี่คือส่วนหนึ่งจาก 1,773 หมู่บ้านที่รอดภัยแล้ง เพราะจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ พัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ยิ่งพัฒนายิ่งทุกข์ ขาดน้ำ ขาดแม้กระทั่งอากาศหายใจ

      หน่วยงานหรือชุมชนที่สนใจฝ่าวิกฤติน้ำด้วย "เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล สามารถติดต่อได้ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โทร.08-6626-6233 หรืออีเมล [email protected].

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"