22 มี.ค. เวลา 09.30 น. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร นำขณะสื่อมวลชนตรวจเยี่ยม และ ชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติงานพิธีการศุลกากรทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ที่ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ (ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ) ถนนแจ้งวัฒนะ ภายหลังจากที่มีกระแสในโลกออนไลน์ระบุถึงพิธีการทางศุลกากร การเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง มีการปั่นแฮ็ชแท็กทวิตเตอร์ “ศุลกากรหรือซ่องโจร” ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดย อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่า ขณะนี้มีประเด็นที่เป็นกระแสเกี่ยวกับการทำงานของกรมศุลกากร เกี่ยวกับการส่งของทางไปรษณีย์ เป็นกระแสที่รุนแรง และเกิดความคลาดเคลื่อน จนกลายเป็นประเด็นที่ไปไกลกว่าการทำงานของกรมศุลกากร
ทั้งนี้ ทาง รมว.การคลัง และ รมช.การคลัง ได้ติดตามเรื่องนี้ และสั่งให้กรมศุลกากรเร่งชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยกรมศุลกากรไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเรื่องนี้กรมศุลกากรถูกปรักปรำ ไม่สบายใจ จึงต้องขอชี้แจงให้เข้าใจกระบวนการทุกขั้นตอน
โดยปัจจุบันการส่งของระหว่างประเทศ ดำเนินการโดย 2 ช่องทางใหญ่ คือ 1.บริษัทขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ดีเอชแอล ซึ่งช่องทางนี้ไม่มีปัญหา เพราะจะมีการแจ้งรายการส่งสินค้า วางเงินประกันชัดเจน โดยในปี 2563 มีการนำเข้ารวม 38 ล้านชิ้น และ 2.การส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ในปี 2563 มีการนำเข้ารวม 5 ล้านชิ้น กว่า 99% ของปัญหา มาจากการนำเข้าพัสดุประเภทที่ 2 มีมูลค่าระหว่าง 1,500-40,000 บาท ที่ 2.9 แสนชิ้น เป็นมูลค่าภาษี 300 ล้านบาท ส่วนพัสดุประเภทที่ 1 ราคาไม่เกิน 1,500 บาท จำนวน 4.44 ล้านชิ้น และ ประเภทที่ 3 ราคาเกิน 40,000 บาท จำนวน 8.1 หมื่นชิ้น ไม่พบปัญหา
สำหรับขั้นตอนการนำเข้าสิ่งของพัสดุ เมื่อมาจากประเทศต้นทาง จะไม่สามารถกำหนดได้ว่า ให้ใส่รายละเอียดสินค้าครบถ้วน แล้วแต่ผู้ส่งจะแจ้ง เป็นไปตามหลักสากลทุกประเทศทั่วโลก เมื่อจัดส่งมาที่ไทยเข้าทางสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะจัดส่งตรงมาที่ไปรษณีย์ ถนนแจ้งวัฒนะ วันละ 8 รอบ และ เข้าสู่จุดคัดแยก ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากร และ ไปรษณีย์ทำงานร่วมกัน โดยพัสดุประเภทที่ 1 จะเข้าเครื่องเอ็กซเรย์ทุกชิ้น ส่วนที่ก้ำกึ่งระหว่างเภทที่ 1 กับ 2 เจ้าหน้าที่ก็จะแกะหีบห่อดูร่วมกัน โดยมีกล้องควบคุมในทุกมุมห้องคัดแยก จากนั้นจะทำเอกสารการประเมินแปะหน้ากล่อง และลงทะเบียนเข้าระบบ ก่อนจัดส่งไปที่ไปรษณีย์ปลายทาง เพื่อและติดต่อให้มารับพร้อมชำระภาษี
“กรมศุลกากรเกี่ยวข้องกับกระทบวนการจัดส่งเพียงขั้นตอนคัดแยกเท่านั้น และเป็นการเปิดพัสดุร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ กรมศุลกากรไม่ได้เปิดคนเดียว โดยการจำแนกว่า พัสดุใดเข้าประเภท 1 2 หรือ 3 จะพิจารณาจากมีการแจ้งราคาต่ำเกินไปหรือไม่ ปริมาณของตรงกับที่แจ้งไว้หรือไม่ โดยพิจารณาจากขนาด รูปลักษณะ น้ำหนัก ขนาด ที่มาของพัสดุทั้งหมด ส่วนการแจ้งประเมินภาษี ก็ไม่ใช่เรื่องดุลพินิจเจ้าหน้าที่ เพราะใช้หลักเกณฑ์เทียบกับสินค้าประเภทเดียวกัน ที่เคยถูกเรียกเก็บมาก่อน โดยอัตราสุ่มตรวจจะอยู่ที่ 3-5% ไม่ได้แกะดูทุกชิ้น” นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวอีกว่า เพื่อความโปร่งใส่ในการทำงาน กรมศุลกากร จะเพิ่ม 5 ขั้นตอนเพื่อให้ผู้ส่งพัสดุ มีความสบายใจมากขึ้น คือ 1.เพิ่มขั้นตอนการรับมอบส่งมอบพัสดุของกรมศุลกากรกับไปรษณีย์ ในพื้นที่คัดแยกเป็นสัดส่วน ไม่ปะปนกัน 2.เมื่อพัสดุ ถูกใบประเมิน หรือ ที่เรียกว่าใบเขียว จากเดิมที่จะแจ้งเฉพาะจำนวนภาษีให้ชำระแปะบนกล่องพัสดุ หลังจากเปิดตรวจสินค้า ก็จะเพิ่มรายละเอียดว่า รายการที่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม ถูกเรียกประเมินจากหลักเกณฑ์อะไร 3.ติดอุปกรณ์กล้องวงจรปิดเพิ่มเติม ซึ่งถ่ายทอดสดแบบ 24 ชั่วโมงไปยังส่วนกลางกรมศุลกากร
4.เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน Hotline และ อีเมล ของกรมศุลกากร โดยอธิบดีกรมศุลกากรจะเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนเองโดยตรง แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ร้องเรียน จะต้องสามารถยืนยันตัวตน จะรับมาดำเนินการโดยเร็วที่สุด และ 5.จัดส่งหน่วยเฝ้าระวังเฉพาะกิจลงมาช่วยทำงานที่หน่วยคัดแยกเป็นระยะ ๆ เพื่อร่วมกันทำงาน สนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าพัสดุ มากที่สุด
“จากการนำเข้าพัสดุ ที่สำแดงมูลค่าไม่ถูกต้องมากที่สุดในขณะนี้ คือ สินค้า ของสะสมศิลปินที่ส่งจากประเทศเกาหลีใต้ เช่น โฟโต้บุค อัลบั้มศิลปิน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ กลุ่มแฟนคลับต้องสั่งและส่งนำเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่แจ้งราคาไม่ถูกต้อง เช่น โฟโต้บุค 1 ลัง จำนวน 10 เล่ม แจ้งมูลค่าสินค้านำเข้าทั้งลังที่ 45 เหรียญสหรัฐ แต่ข้อเท็จจริงคือมีมูลค่าราคาหน้าเล่มอยู่ที่ 49 เหรียญสหรัฐ หรือ สำแดงต่ำกว่า 10 เท่า ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 10% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% รวมทั้งเซิฟสเก็ต ที่มีการนำเข้ามาในขณะนี้จากประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ที่ไม่ได้สำแดงราคาไว้ โดยมีอัตราภาษีเท่าอุปกรณ์กีฬาที่ 10% เช่นกัน” นายพชร กล่าว
อย่างไรก็ตาม สินค้าเมื่อมีการแกะพิจารณาคำนวณภาษีแล้ว ก็จะแปะใบเขียวไปบนหน้ากล่อง และ จัดส่งไปยังไปรษณีย์ปลายทาง ให้มารับชำระภาษี ก่อนนำสินค้าออก ภายใน 7 วัน หากไม่มารับก็จะตีกลับมาที่ไปรษณีย์ส่วนกลาง ก่อนกรมศุลกากรรับไปจัดการ หากไม่มีการมาชำระภาษี ก็จะทำไปขายทอดตลาด ทำลาย หรือ ส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยในปี 2563 มีการอุทธรณ์กรณีเรียกเก็บภาษีไม่ถูกต้อง 3,000 ชิ้น คิดเป็นเพียง 1% ของพัสดุประเภท 2 โดยอุทธรณ์เป็นผล 70% ส่วนกลุ่มที่อ้างว่านำเข้ามาเพื่อเป็นของฝาก ของใช้ส่วนตัว และ เพื่อการซื้อขาย ต้องเสียภาษีทุกกรณี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |