22 มี.ค.64 - ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมคู่ความคดีชุมนุมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ สำนวนที่สอง หมายเลขดำ อ2799/2557 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216
กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง สำหรับสำนวนคดีที่สองนี้ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 ภายหลังจากนายจตุพร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พ้นสมัยประชุมสภา โดยก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำ อ3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช. และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา
และเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563 ในการนัดพร้อมคดี นายจตุพร จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลว่า คดีนี้ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้ตั้งสำนวนมีผู้ร่วมกระทำความผิดในส่วนของจำเลยพร้อมกับผู้ต้องหาอีกจำนวนหลายคน แต่เนื่องจากอัยการมีคำสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหาแต่ละคนแยกสำนวนคนละคดีในลักษณะเลือกตัวบุคคลซึ่งเป็นการมิชอบ จำเลยที่ 1 เห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันในคดีเดียวกัน จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าว ต่อมาวันที่ 9 พ.ย. 2563 อัยการโจทก์แถลงถึงผู้ต้องหาที่เหลือมีทั้งคดีขาดอายุความและเสียชีวิตแล้ว จำเลยจึงขอทราบเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของโจทก์ในการติดตามตัวที่เหลือมาฟ้องคดีที่ศาล
วันนี้อัยการโจทก์, จำเลยที่ 1-2 พร้อมทนายความเดินทางมาศาล โดยประเด็นพิจารณา มีอาทิ กรณีที่นายจตุพร จำเลยที่ 1 ได้ระบุเรื่องอัยการโจทก์ไม่ตามตัวนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีศาลอาญา ในฐานะอดีตแกนนำ นปช. มาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลเรียกนายมานิตย์มาทำการไต่สวน ไม่เห็นโจทก์ติดตามตัวผู้ต้องหาที่อยู่ต่างประเทศมาดำเนินคดี โจทก์ใช้วิธีการฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่โจทก์ระบุข้อเท็จจริงต่างๆ ครบถ้วนแล้ว มีการติดตามตัวผู้ต้องหา แจ้งพนักงานสอบสวนให้ไปดำเนินการขอหมายจับผู้ต้องหาแล้ว เมื่อจับกุมตัวไม่ได้ เข้าที่ประชุมจึงสั่งยุติคดี
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ การที่พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องบุคคลใดต่อศาลหรือไม่นั้น ย่อมเป็นดุลยพินิจของพนักงานอัยการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายมานิตย์, นายบรรธง สมคำ, มล.วีระยุทธ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, นายจักรภพ เพ็ญแข และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ทั้ง 5 คนดังกล่าวคดีขาดอายุความ พนักงานอัยการได้มีคำสั่งยุติคดีไปแล้ว
การที่ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องเข้ามาขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อให้โจทก์ดำเนินการให้นำตัวบุคคลดังกล่าวให้มาฟ้องคดีต่อศาลนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะให้ศาลต้องจำหน่ายคดีชั่วคราวตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ยกคำร้อง ไม่จำต้องเรียกพนักงานสอบสวนและนายมานิตย์ มาทำการไต่สวนอีก ซึ่งหากจำเลยทั้งสองเห็นว่าการดำเนินการของพนักงานอัยการเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหากอีกเรื่องหนึ่ง ในชั้นนี้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาตามกฎหมายแล้ว จึงให้ดำเนินคดีนี้ตามกฎหมายต่อไป เลื่อนคดีไปนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน เพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เวลา 9.30 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |