22 มี.ค. 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ รฟท.ไปทบทวนการจัดทำแผนในการจัดสรรพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น และให้ค่าใช้จ่ายสอดคล้องกับรายได้นั้น ล่าสุด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เข้ามาช่วยศึกษา พร้อมทั้งกำหนดรูปแบบ (โมเดล) คล้ายกับการพัฒนาพื้นที่สนามบินภายใต้การกำกับดูแล ทอท. โดยการศึกษาแนวทางของ ทอท. พบว่า รฟท. สามารถเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อเป็น 35-40% เพิ่มจากเดิมที่มีการออกแบบเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 5-10% เท่านั้น
ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น จะมีการปรับลดพื้นที่ในการจำหน่ายบัตรโดยสารลง เนื่องจากในขณะนี้สามารถจำหน่ายบัตรโดยสารแบบอัตโนมัติ และออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน รฟท. ยังได้พิจารณาค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในเรื่องไฟฟ้าที่อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยในเบื้องต้น มีแนวคิดที่จะนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) มาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานด้วย
สำหรับขั้นตอนต่อไปนั้น รฟท.จะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่ เพื่อหารายได้สูงสุดให้กับ รฟท. โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) และคาดว่า จะเปิดประมูลได้ภายใน มิ.ย.-ก.ค. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ใน พ.ย. 2564 ทั้งนี้ เอกชนที่ชนะการประมูล จะได้พัฒนาพื้นที่ทั้งหมดภายในสถานีกลางบางซื่อ รวมถึงพื้นที่โฆษณาด้วย โดยคาดว่า จะได้อายุสัมปทานไม่น้อยกว่า 15 ปี ในส่วนของสถานีอื่นๆ อีก 12 สถานีนั้น จะแยกเป็นอีกสัญญานอกจากสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะต้องพิจาณารูปแบบต่อไป
นายนิรุฒ กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท. ยังมีมติอนุมัติสั่งจ้างกิจการร่วมค้า NWR-AVP (บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอ็ดวานซ์ พรีแฟบ จำกัด) ก่อสร้างงานโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางเชื่อม (Skywalk) ระหว่างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์กับสถานีหลักสี่ ตามพระดำริ วงเงิน 238 ล้านบาท
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.รับทราบผลการศึกษากรณีที่รฟม.ศึกษาผลกระทบด้านรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEMจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองของบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโดยกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) เป็นผู้รับสัมปทาน
“หากการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รฟม.ไม่ได้รับผลกระทบถือเป็นเรื่องดี เพราะเอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ถ้ามีการก่อสร้างแล้วพบว่า รฟม.ได้รับผลกระทบกระทบเอง อาจกลายเป็นคู่ความกับคู่สัญญาก็คงต้องชั่งน้ำหนักก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่อยากเสียค่าโง่ในภายหลัง ทั้งนี้ถ้าเราไม่ก่อสร้างโครงการฯ ก็มองว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในไทยที่สมบูรณ์อยู่แล้ว"นายภคพงศ์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |