ล้อมรั้วสกัดม็อบ! ศรีวราห์บีบให้อยู่แค่ในมธ.ห้ามสื่อทำข่าวฝั่งผู้ชุมนุม


เพิ่มเพื่อน    

 

8 แกนนำเพื่อไทยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยันถูกปิดปากกลั่นแกล้ง “บิ๊กปู” ลั่นทำตามกบิลเมือง ประยุทธ์ผวากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เลื่อนด่วนบินไปเบลเยียม ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลตรึงกำลังเข้ม  “ศรีวราห์” ลั่นม็อบต้องอยู่แค่ในรั้วธรรมศาสตร์เท่านั้น พร้อมบีบสื่อห้ามทำข่าวในกลุ่มผู้ชุมนุม มิเช่นนั้นหากถูกคดีอย่าโอด “รังสิมันต์” ยันไม่พบพวกใช้ความรุนแรง โวเป็นตัวแทนประชาชนไปทำเนียบฯ แน่  แกนนำ นปช.แห่อัดข่าวปลุกผีแดงฮาร์ดคอร์ “กำนัน” ย้ำไม่มีนัดชุมนุม 27 พ.ค.

เมื่อวันจันทร์ ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) 8 คน ได้แก่  พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค,  นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง,  นายนพดล ปัทมะ, นายวัฒนา เมืองสุข และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แกนนำพรรคเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แจ้งความดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช., ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ หลังพรรคเพื่อไทยจัดแถลงข่าววิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและ คสช.ในหัวข้อ “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและ คสช.นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” เมื่อวันที่ 17 พ.ค. โดยมีบรรดาอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และผู้สนับสนุนพรรคมารอมอบกุหลาบให้กำลังใจจำนวนมาก 
นายชูศักดิ์กล่าวก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหายืนยันว่า การแถลงข่าวของพรรคไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมืองตามการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขอฝากพนักงานสอบสวนให้พิจารณาด้วยความยุติธรรม ไม่ใช่มีใครมาแจ้งความแล้วดำเนินคดีทันที ขณะเดียวกันเห็นว่าการใช้กฎหมาย มาตรา 116 เป็นเครื่องมือสกัดยับยั้งคนที่เห็นต่างออกมาแสดงความคิดเห็นถือเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม
      ส่วนนายภูมิธรรมกล่าวว่า ข้อกล่าวหาทั้ง 4 ข้อสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงใช้กฎหมายอย่างไม่ยุติธรรมไม่เสมอภาค สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คิดว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อกำจัดคนเห็นต่างอย่างไม่ยุติธรรม เป็นเครื่องมือทางการเมืองกับประชาชนที่เห็นต่าง ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบหากเกิดสิ่งใดขึ้นในอนาคต ส่วนข้อกล่าวหาที่แจ้งจับจะโยงไปถึงการยุบพรรคหรือไม่นั้น ดูทุกเรื่องที่แถลงยังไม่เห็นมีข้อไหนเข้าข่ายความผิดนำไปสู่การยุบพรรค และไม่คิดว่ารัฐบาลจะกล้าทำในสิ่งนี้”นายภูมิธรรมกล่าว
ต่อมาเวลา 10.30 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เดินทางมากำชับดูแลการสอบสวนแกนนำทั้ง 8 คน โดยระบุว่าการแถลงข่าวคือการแถลงข้อเท็จจริง ถ้ามีความเห็นด้วยก็ไม่ใช่ สื่อก็รู้ดี ทุกท่านก็จบปริญญามาทั้งนั้น คุณทำอะไรก็รู้ดีอยู่แล้ว ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ กรรมอยู่ที่เจตนา พนักงานสอบสวนทำตามขั้นตอนของกฎหมาย สอบสวนไปตามกบิลบ้านกบิลเมือง ถ้าไม่สอบสวนไปตามกบิลบ้านกบิลเมืองก็สมน้ำหน้าให้เขาฟ้องร้องเอา ยืนยันว่าไม่มีใครมาบังคับพนักงานสอบสวนได้ ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้า
ต่อมาเวลา 14.00 น. หลังสอบปากคำนานกว่า 3 ชั่วโมง พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และหลังจากนี้ทุกคนจะรวบรวมหลักฐานเป็นเอกสารมา จึงได้ปล่อยตัวกลับโดยไม่มีเงื่อนไข
'อภิสิทธิ์' ชี้อันตราย
ด้านนายจาตุรนต์ในฐานะตัวแทน 8 แกนนำพรรคกล่าวว่า ได้มารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นไปด้วยดี แต่หลังจากที่ได้ดูเอกสารพบว่าการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้นอย่างรวบรัด ไม่มีการหาพยานหลักฐาน หรือวิเคราะห์หลักฐานต่างๆ อย่างเพียงพอ และได้ตั้งข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินจริง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทราบดีว่าเป็นความจำเป็นของพนักงานสอบสวน และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ก็รู้ดี แต่ไม่เป็นธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ 
“เราได้พูดต่อหน้า พล.ต.อ.ศรีวราห์แล้ว และได้บอกไปว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยบ้านเมืองมีหลักนิติธรรมไม่ควรให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น เราได้ฝากความห่วงใยไว้กับตำรวจในวันนี้คือ เราหวังว่าการกระทำในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป เพราะหากเกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร” นายจาตุรนต์ระบุ 
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มองเรื่องนี้ว่า ต้องแยกเป็นเรื่องๆไป ในเรื่องของความมั่นคงต้องดูให้ชัดว่า ถ้าบอกว่าการออกมาพูดนั้นๆ เป็นการยุยง ปลุกระดม หรือส่งเสริมให้เกิดการก่อความวุ่นวายหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ลำพังแค่การวิจารณ์แสดงความคิดเห็นอย่างเดียวแล้วถูกมองว่ามาสร้างความวุ่นวาย มันไม่เพียงพอและอันตราย ถ้าวันข้างหน้าแม้ไม่มีกฎหมายพิเศษ และมีการตีความกันว่าเป็นเรื่องกระทบความมั่นคง ต่อให้มีคนคนเดียวนั่งวิจารณ์ก็สามารถถูกดำเนินคดีด้านความมั่นคงได้
วันเดียวกัน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ออกแถลงการณ์ นปช.ในวาระครบรอบ 4 ปีการยึดอำนาจรัฐประหารของ คสช. โดยเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว โดยจัดให้เลือกตั้งอย่างช้าที่สุดในเดือน ก.พ.62 2.ยกเลิกประกาศ คำสั่งของ คสช.ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ 3.ยกเลิกประกาศ คำสั่งที่ห้ามพรรคการเมือง นักการเมือง และทำงานการเมือง 4.ยุติการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระ และ 5.เร่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง  
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2561 ว่า พรุ่งนี้เป็นวันที่ 22 พ.ค. ครบรอบ 4 ปีการเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศของรัฐบาล คสช. รู้สึกว่าเป็นเวลาแป๊บเดียว บางคนอาจบอกว่า 4 ปีเป็นเวลาที่นาน แต่เห็นว่ายังมีอะไรที่ต้องแก้ไขและทำอีกเยอะ
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งอยู่ระหว่างเดินจากห้องรับรองไปยังห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าว แต่ระหว่างเดินไปยังตึกไทยคู่ฟ้าปรากฏว่ามีเสียงฟ้าผ่าดังสนั่น ซึ่งนายกฯ ตกใจเล็กน้อยพร้อมกล่าวว่า "เห็นไหมฟ้าผ่าแล้ว” ก่อนชี้ไปที่ตัวเองและกล่าวว่า "แต่นี่แรงกว่าเสียงของฟ้า" ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อ
'บิ๊กตู่' เลื่อนบินไปนอก
     มีรายงานข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่านายกฯ ได้เลื่อนการเดินทางไปเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมกะทันหัน จากเดิมกำหนดเดินทางในช่วงสัปดาห์นี้ เนื่องจากนายดอน  ปรมัตถ์วินัย รมว.กต.ได้เสนอให้เลื่อน เนื่องจากกังวลการชุมนุมที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในประเทศ และอาจถูกต่างประเทศตั้งคำถามถึงสถานการณ์ในประเทศได้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมยืนยันเรื่องนี้ว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง เจ้าหน้าที่ไม่ให้มาเพราะเรามีกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีปะทะ ก็ไม่ต้องเดินและไม่ต้องมา รวมทั้งไม่ต้องประเมินจำนวนผู้เข้าชุมนุมเพราะมีเท่าเดิม เท่าที่เห็นนั่นแหละคนอยากเลือกตั้ง 
เมื่อถามข่าวที่ระบุว่าจะมีกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์เข้ามาผสมโรงนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าอันนี้เรื่องของการข่าว หลังเราจับอาวุธได้ ได้แจ้งเตือนไปแล้ว ถามต่อว่าส่วนการข่าวเชื่อมโยงว่าจับอาวุธได้ พล.อ.ประวิตรตอบทันทีว่าใช่ๆ เพื่อจะแทรกแซงของพวกฮาร์ดคอร์กับพวกอยากเลือกตั้ง ถ้าพวกอยากเลือกตั้งอยู่เฉยๆ ก็ไม่เป็นอะไร ก็พูดไปอยู่กับที่ในธรรมศาสตร์ที่จัดให้ตามช่วงเวลา 
ถามย้ำว่าถ้าเกิดเหตุรุนแรงขึ้นแกนนำต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าเป็นการเดินก็ต้องรับผิดชอบเพราะผิดกฎหมาย มั่นใจไม่มาแน่ ส่วนกระแสข่าวเชิญชวนในเฟซบุ๊กระบุว่ากลุ่ม  กปปส.ไม่อยากเลือกตั้งนัดชุมนุม 27 พ.ค.ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พล.อ.ประวิตรยืนยันว่ายังไม่ถึง มาวันที่ 27 พ.ค.และชุมนุมไม่ได้ เขาส่งโซเชียลมีเดีย สื่อได้อ่านไหม และไม่ได้เดินทั้ง 2 กลุ่ม จะไปปะทะได้อย่างไร
เมื่อถามว่าทำไมมั่นใจว่าจะเอาอยู่ พล.อ.ประวิตรระบุว่าก็เอาอยู่มา 4 ปีแล้ว ไม่มีอะไรหรอก คุณอย่าไปเขียนอะไรกันให้มากนัก อยู่ที่คุณนั่นแหละเขียนไม่ค่อยตรง
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีปลุกปั่น แต่ก็ยังอยู่ระดับปกติ โดยต้องสร้างความเข้าใจและดูแล พร้อมขอความร่วมมือผู้ที่ไม่หวังดีอย่าสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การข่าวยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการก่อเหตุสอดแทรกของผู้ไม่หวังดี ซึ่งหากเคลื่อนไหวมาทำเนียบฯ จริง  ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช้มาตรการรุนแรง แต่พูดคุยขอร้องแบบละมุนละม่อม เฝ้าระวัง เพราะถ้าเกิดมีจุดอ่อนไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง ผู้ไม่หวังดีทำอะไรได้ทั้งนั้น ไม่อยากให้สถานการณ์บานปลาย 
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (ผบ.มทบ.11) และทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อ และมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 500-700 คนโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มเอ็นจีโอ และมวลชนจากภูมิภาคประมาณ 100-200 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะดูแลอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้ดีที่สุด โดยเฉพาะก่อนผู้ชุมนุมจะเดินทางเข้ามาใน ม.ธรรมศาสตร์ ต้องผ่านจุดคัดกรองของเจ้าหน้าที่ที่ห้ามนำอาวุธต่างๆ เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมอย่างเด็ดขาด
เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีกลุ่มฮาร์ดคอร์เข้ามาผสมโรงเพื่อสร้างความวุ่นวาย พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่ามีกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์มาร่วมกิจกรรมด้วย แต่เจ้าหน้าที่จะดูแลความปลอดภัยให้ดีที่สุด ไม่ปล่อยคนเข้ามาแบบมั่วๆ ฝ่ายความมั่นคงทุกระดับจะมีติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 
พล.ต.ปิยพงศ์ยังชี้แจงถึงกรณี กกล.รส.ในพื้นที่ จ.ปทุมธานีเชิญตัวนายอุทัย แถวโพธิ์ พนักงาน บ.ทีโอที จำกัด (มหาชน) มาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นผู้สนับสนุนการจัดการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ว่าเป็นการเชิญตัวมาสอบถามข้อมูล ซึ่งเจ้าตัวได้ยอมรับว่าให้การสนับสนุนระบบไฟฟ้า ระบบแสงและเครื่องเสียงจัดชุมนุม และได้รับค่าตอบแทนจากแกนนำการชุมนุมจริง  ซึ่งได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ และได้ทำความเข้าใจก่อนเจ้าหน้าที่นำตัวไปส่งบ้านพักแล้วโดยสวัสดิภาพ
คุมเข้มทำเนียบรัฐบาล
ส่วนความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบฯ ว่าที่ พ.ต.อ.กัมปนาท ณ วิชัย ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 (ผกก.4 บก.ส.3 ) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่า ตำรวจในทำเนียบฯ มีจำนวน 104 นาย รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลรวม 200 นาย และใช้ตำรวจควบคุมฝูงชน 4 กองร้อย แบ่งการดูแลโดยรอบนอกทำเนียบฯ 3 กองร้อย ขณะที่อีก 1 กองร้อยดูแลในทำเนียบฯ โดยมีตำรวจประจำทุกตึก และในวันที่ 22 พ.ค.เจ้าหน้าที่จะเข้าประจำจุดตั้งแต่ 06.00 น.เป็นต้นไป
ว่าที่ พ.ต.อ.กัมปนาทกล่าวอีกว่า ยังมีหน่วยข่าวกรองและทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) มาช่วยดูแลด้วย ขณะเดียวกัน กทม.ก็จะสนับสนุนรถดับเพลิงและไฟส่องสว่างเพื่อเตรียมรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งในวันที่ 22 พ.ค.ต้องขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล และสื่อมวลชนติดบัตรประจำตัวเพื่อง่ายต่อการตรวจตรา เนื่องจากจะตรวจเข้มบุคคลที่จะเข้ามาภายในทำเนียบฯ ส่วนการอำนวยความสะดวกประชาชนด้านการจราจรภายนอกทำเนียบฯ ได้ประสานตำรวจ สน.ดุสิต และ สน.นางเลิ้งมาช่วยดูแล 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กมาวางกั้นชิดขอบทางเท้าโดยรอบทำเนียบรัฐบาลไว้ทั้งหมดแล้ว
ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.กลับระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ประสานอะไรมา ไม่ว่าจะเป็นรถดับเพลิงหรือไฟส่องสว่าง และนายกฯ ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ เชื่อว่าแก้ไขได้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ทุกคนสามารถสนุกได้ตามสิทธิรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้อยู่ภายใต้ระเบียบ โดยคำนึงถึงความเรียบร้อยความปลอดภัยของผู้อื่นและตัวท่านเองด้วย ซึ่งได้ตำหนิ พ.ต.อ.ธนกฤต ไชยจารุวุฒิ ผกก.สน.พระราชวังไปแล้ว ไปอนุญาตให้ชุมนุมได้อย่างไร เพราะขัดคำสั่ง คสช.ที่ไม่สามารถอนุมัติได้ โดยได้สั่งให้ยกเลิกคำสั่งแล้ว ถ้าเขาจะยังชุมนุมหรือเคลื่อนออกมาจากนอก ม.ธรรมศาสตร์ก็ผิดกฎหมาย
“ที่ผ่านมาผมไม่เคยเข้าไปยุ่ง แต่ชุมนุมครั้งนี้ใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตรมาก ผมจำเป็นต้องลงไปดู รวมทั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ก็ได้กำชับมา ส่วนการดูแลใช้กำลัง 3-20 กองร้อยแล้วแต่สถานการณ์ ยืนยันว่าการข่าวมีกลุ่มฮาร์ดคอร์เสื้อแดงจ้องออกมาก่อความวุ่นวาย ถ้าอย่างนั้นคงไม่มีคำสั่งให้ระดมกวาดล้างอาวุธ และวันที่ 20 พ.ค. ในพื้นที่ สภ.นนทบุรีได้นำอาวุธปืนสงครามมาทิ้ง ฝากไปยังกลุ่มฮาร์ดคอร์เสื้อแดงอย่าออกมาสร้างความวุ่นวาย ประเทศชาติกำลังเดินไปข้างหน้า
“ถ้าอยากสู้ให้ถูกทาง คุณก็ไปฟ้องศาลให้ศาลมาสั่งผม ถ้างั้นคุณก็เคลื่อนผู้ชุมนุมไม่ได้ ตำรวจมีหน้าที่ในการรักษากฎหมายกติกาบ้านเมือง ถ้าคุณทำตามกติกาบ้านเมืองปัญหาก็ไม่เกิด” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว
บี้สื่อห้ามซุกม็อบ
รอง ผบ.ตร.ยังกล่าวชี้แจงถึงการทำงานของสื่อมวลชนว่า มีข้อแนะนำ 3 ข้อ ได้แก่ 1.สื่อมวลชนทุกสำนักต้องติดปลอกแขนที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบัตรประจำตัวของกรมประชาสัมพันธ์ 2.ไม่ให้สื่อมวลชนปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด และ 3.ห้ามนำเสนอข้อมูลยั่วยุที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรง ส่วนสื่อมวลชนที่ไม่มีปลอกแขนแล้วต้องการทำข่าว ขอให้มาดำเนินการลงทะเบียนรับปลอกแขนให้ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามีสื่อมวลชนไม่น้อยที่โดนเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี เพราะเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุม และหากเจ้าหน้าที่กองทัพร้องทุกข์ สื่อมวลชนเองก็ต้องรับผิดชอบเพราะถือว่าได้แจ้งไปแล้ว
นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวเรื่องนี้ว่า  การจัดทำปลอกแขนดังกล่าวเป็นการดำเนินการเองของตำรวจ โดยไม่ได้ประสานหรือแจ้งมายังสมาคมนักข่าวฯ หรือองค์กรสื่อแต่อย่างใด รวมทั้งมีสื่อมวลชนบางส่วนไม่สบายใจหากต้องนำบัตรสื่อมวลชนไปแลกปลอกแขนที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ เพราะเคยเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่แอบแฝงเป็นสื่อมวลชนนำปลอกแขนที่ออกโดยองค์กรสื่อไปใช้ จนเกิดปัญหาในการรายงานข่าวในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สมาคมนักข่าวฯ ขอแนะนำให้สื่อมวลชนแสดงตนในการทำข่าวตามหลักวิชาชีพ ด้วยการห้อยหรือติดบัตรประจำตัวที่แต่ละองค์กรออกให้ หรือบัตรที่ผ่านการลงทะเบียนกับกรมประชาสัมพันธ์แล้ว พร้อมกับรายงานข่าวตามกรอบจริยธรรมอย่างเคร่งครัด ส่วนการจัดทำเครื่องหมายของสื่อมวลชนในการทำข่าวการชุมนุมนั้น สมาคมฯ จะปรึกษาหารือกับองค์กรสื่อภาคี กองบรรณาธิการสื่อที่เป็นสมาชิกเครือข่ายสื่อมวลชนต่อไป
ขณะเดียวกันเฟซบุ๊กใต้เตียง มธ.โพสต์ภาพการปิดประกาศห้ามใช้สนามฟุตบอลชั่วคราว ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ค. โดยระบุว่าอยู่ระหว่างใส่ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช พร้อมบันทึกข้อความจากงานบริหารอาคารและสถานที่ กองบริหารศูนย์ท่าพระจันทร์ มธ. ซึ่งมีเนื้อความระบุถึงการจัดกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่จะกระทบต่อการจราจร และเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยจึงขอปิดประตูทางเข้า-ออก ด้านสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 21 พ.ค.จนกว่ากิจกรรมแล้วเสร็จ ส่วนบุคคลที่ต้องการเข้าพื้นที่มหาวิทยาลัยให้ใช้ประตูทางเข้าด้านถนนพระอาทิตย์ และทางออกประตูด้านท่าพระจันทร์
ส่วนความเคลื่อนไหวที่ มธ.นั้น กลุ่มคนอยากเลือกตั้งประมาณ 200 คน ทยอยเดินทางมาบริเวณหน้าหอประชุมศรีบูรพาตั้งแต่ช่วงบ่าย และได้ทำเรื่องของอนุญาตใช้สถานที่สำหรับเป็นที่พักแก่ผู้ร่วมชุมนุมที่มาจากต่างจังหวัด จากเดิมที่จะใช้พื้นที่สนามฟุตบอลมาใช้พื้นที่หอประชุมศรีบูรพาแทน
ปิดประตูธรรมศาสตร์
ต่อมาในเวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและตำรวจได้ปิดประตูเพื่อป้องกันผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ โดยเปิดเพียงแค่ประตูฝั่ง ถ.พระอาทิตย์ และประตูฝั่ง ถ.ท่าพระจันทร์ และจะอนุญาตให้ประชาชนที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมเข้าประตูฝั่ง ถ.พระอาทิตย์เท่านั้น พร้อมตรวจสอบสัมภาระที่เข้ามาอย่างเข้มงวด  ก่อนปิดประตูทางเข้าทั้งหมดในเวลา 17.00 น. ส่งผลให้มีประชาชนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้ามารวมตัวกันอยู่บริเวณป้ายรถประจำทางโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ ก่อนจะเปิดประตู 3 บริเวณด้านหน้าหอประชุมศรีบูรพาเพียงประตูเดียว ซึ่งการรักษาความปลอดภัย มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหน่วยต่างๆ 300 นายดูแลความสงบ
เวลา 18.00 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเริ่มกิจกรรม โดยปราศรัยโจมตี คสช. มีการแสดงดนตรีและร่วมกันทำป้ายสัญลักษณ์สำหรับการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบฯ ทั้งนี้ช่วงก่อนปราศรัย พล.ต.อ.ศรีวราห์ได้เดินทางมาดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณถนนฝั่งตรงข้ามหอประชุมศรีบูรพา แต่ไม่ได้เข้ามาในพื้นที่ โดยผู้ชุมนุมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ต่างตะโกนด่าและส่งเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจไปยัง พล.ต.อ.ศรีวราห์
นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่ายังไม่พบข้อมูลของกลุ่มหัวรุนแรงที่จะเข้ามาก่อเหตุตามที่กล่าวอ้าง และก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐพยายามค้นบ้านผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหลายครั้ง ก็ไม่พบหลักฐานแต่อย่างใด ซึ่งเชื่อว่าการชุมนุมในวันที่ 22 พ.ค.นั้นเป็นการประชุมที่สงบสันติ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ซึ่งหาก คสช.ฟังเสียงของประชาชนทุกอย่างก็จะง่าย เพราะเมื่อเราพูดถึงความร่วมมือจะพูดถึงประชาชนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องตั้งคำถามไปถึงฝ่ายรัฐด้วยเช่นกัน ที่ต้องให้ความร่วมมือกับประชาชนด้วย
“ที่ผ่านมาเราชุมนุมมาแล้ว 6 ครั้ง แต่ก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีท่าทีตอบสนองความต้องการของเราแต่อย่างใด และขอบอกไว้ตรงนี้ว่าที่จริงเราก็ไม่ได้อยากออกมาชุมนุม เพราะเราก็เหนื่อย แต่เราไม่มีทางเลือก เราจึงต้องเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำให้ผู้มีอำนาจได้ทราบว่า วันนี้ประชาชนต้องการอะไร แม้เราจะไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นเสียงส่วนหนึ่ง" นายรังสิมันต์กล่าว
ด้านนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่าในวันที่ 22 พ.ค. กลุ่มจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบฯ ภายหลังเวลา 08.30 น. เพื่อพยายามลดผลกระทบที่จะเกิดแก่พี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีใช้ความรุนแรงนั้น กลุ่มคนอยากเลือกตั้งทุกคนล้วนเป็นประชาชนธรรมดายึดหลักสันติวิธี หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นขอให้รู้ไว้เลยว่าไม่ได้มาจากฝ่ายเราอย่างแน่นอน
แดงปัดสวะข่าวฮาร์ดคอร์
ส่วนความคิดเห็นของคนเสื้อแดงจากกรณีข่าวกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์อาจมาสร้างสถานการณ์นั้น นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงกล่าวว่า การชุมนุมทุกครั้งมักมีข้อกล่าวหาใช้ความรุนแรงใส่ร้ายมาตลอด มวลชนโดยทั่วไปจะไปเอาอาวุธมาจากไหน ขออย่าสร้างภาพการใช้อาวุธทำให้ประเทศเสียหายอีกเลย ส่วนตัวคิดว่าไม่มีการใช้ความรุนแรงอย่างแน่นอน
      นพ.เชิดชัย ตันติสิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ภาคอีสาน กล่าวว่าเป็นข่าวที่ทั้งโกหกทั้งมั่ว ถ้ามีแดงฮาร์ดคอร์จริง ตั้งแต่ คสช.ทำรัฐประหารคงจะรบกันแล้ว เป็นการให้ข่าวที่ไร้ความรับผิดชอบ วิธีการนี้เป็นกลยุทธ์ที่คนอื่นเขารู้กันหมดแล้ว เลิกเสียทีได้หรือไม่
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เฟซบุ๊กไลฟ์ตอนหนึ่งว่า ตกใจกับข่าวราวกับประเทศไทยโดยเฉพาะ กทม.กำลังเข้าสู่ภาวะสงคราม เพราะจะเอาอาวุธที่ไหน ขบวนการนักศึกษา ปัญญาชน ประชาชนที่แสดงออกอย่างสันติ ถูกตามประกบติดตลอดในช่วงเวลาที่แสดงออกมา 4 ปี และภายใต้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ถึงขนาดนี้ ยังปล่อยให้มีพวกฮาร์ดคอร์เล็ดลอดไปเตรียมการมีอาวุธได้อย่างไร
      “ไม่ยอมรับขบวนการความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้นในการต่อสู้ทางการเมือง เชื่อมั่นในสันติวิธีเท่านั้น เป็นหลักในการต่อสู้ทางการเมืองของ นปช.มาตลอด อยากเห็นหน้าเหมือนกันว่าใครคือฮาร์ดคอร์ที่กำลังจะขนอาวุธมาก่อเหตุร้ายในการชุมนุมที่เขานัดกัน” นายณัฐวุฒิกล่าว  
       นายณัฐวุฒิยังตั้งข้อสังเกตว่า สงสัยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคงย้ายเข้ามาทำงานใน กทม.กันหมด เพราะรู้หมดว่ามีอาวุธอยู่ที่ไหน แต่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดระเบิดกันกว่า 20 จุด ท้าทายกฎหมายบ้านเมืองและผู้มีอำนาจที่ควบคุมฝ่ายความมั่นคงเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ไม่มีงานด้านการข่าวหรือให้ข้อมูลแก่ประชาชนเลย จึงขอให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำงานอย่างรัดกุมด้วย
นายอภิสิทธิ์ระบุว่า หลายคนมองว่าสถานการณ์น่าจะยังควบคุมได้ แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นจริง หลายครั้งเหตุการณ์แบบนี้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งก็ต้องระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดอย่างนั้น และเราก็ต้องเรียนรู้จากอดีตด้วย
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึงกระแสในโลกโซเซียลที่ว่า กปปส.นัดชุมนุมในวันที่ 27 พ.ค.ว่า ไม่มี บทบาท กปปส.ยุติตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เข้ายึดอำนาจ และ คสช.เข้าควบคุมสถานการณ์ บรรดามวลมหาประชาชนก็เอาใจช่วย พล.อ.ประยุทธ์ให้สามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้ และเดินหน้าปฏิรูประเทศตามเจตนารมณ์ส่วนใหญ่ของประเทศ
นายสุเทพยังกล่าวถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะมีการชุมนุมในวันที่ 22 พ.ค.ว่า ต้องขอโทษที่ต้องบอกว่าถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งจริงๆ ให้อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร มันก็จะมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว ไม่อยากให้เติมเชื้อไฟเข้าไปอีก และอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงภาพรวมประเทศ เพราะการออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจลุกลามเป็นความไม่สงบในบ้านเมือง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการนำไปสู่การเลือกตั้งแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"