“ดร.ธนกฤต” ชี้ผลสะเทือนคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการรับเวลาที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดในกรณีโฮปเวลล์ จะเป็นการพลิกค่าโง่ครั้งใหญ่ อาจทำให้รัฐไม่ต้องจ่าย 2.5 หมื่นล้าน จี้ศาลปกครองเร่งพิจารณาคดีใหม่
เมื่อวันอาทิตย์ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณีผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีโฮปเวลล์ ระบุว่า ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีโฮปเวลล์ ที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในปี 2551 ด้วยการจ่ายเงินให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมดอกเบี้ย เป็นเงินรวมกันประมาณ 25,000 ล้านบาทนั้น มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดขัดรัฐธรรมนูญ จึงนับเวลาที่โฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.2544 ไม่ได้ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองดังกล่าวเป็นระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงทำให้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การนับเวลาในการเสนอข้อพิพาทของโฮปเวลล์ต่ออนุญาโตตุลาการ จึงไม่สามารถเริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค. ตามที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ในคดีนี้ได้ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ดร.ธนกฤตระบุถึงการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการต้องทำภายใน 5 ปี นับจากวันรู้เหตุเสนอข้อพิพาทนั้น โฮปเวลล์เสนอข้อพิพาท 24 พ.ย.2547 เกิน 5 ปี หากนับจาก 30 ม.ค.2541 วันได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 51 กำหนดให้การฟ้องคดี รวมทั้งการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการต้องกระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อไม่สามารถนับเวลาในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือวันที่ 9 มี.ค.2544 ได้ การที่โฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 อาจเป็นการเสนอข้อพิพาทที่เกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย คือเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีได้
“ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่าโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 เป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี นับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 51 โดยถือเอาวันที่ 30 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่โฮปเวลล์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เป็นวันที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น และเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาท ระยะเวลา 5 ปี จึงต้องเริ่มนับจากวันที่ 30 ม.ค.2541 และครบกำหนดในวันที่ 30 ม.ค.2546 เมื่อโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงเกินระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 51 ดังกล่าว”
ดร.ธนกฤตยังโพสต์ถึงหนทางสู่การพิจารณาคดีใหม่ว่า เรื่องเวลาในการเสนอข้อพิพาทของโฮปเวลล์ต่ออนุญาโตตุลาการนั้น ได้เสนอข้อพิพาทภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่องปัญหาเกี่ยวกับเวลาการฟ้องคดีปกครองขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงเป็นประเด็นที่อาจนำไปสู่การพิจารณาคดีใหม่ของศาลปกครองสูงสุดได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) โดยการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ต้องทำภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด และหากศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ หากยุติว่าโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเกิน 5 ปี อนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาท ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนและปฏิเสธบังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รัฐไม่ต้องจ่ายเงิน
“ถ้าหากศาลปกครองอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทของโฮปเวลล์ต่ออนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่โฮปเวลล์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา และถือเป็นวันที่ข้อพิพาทเกิดขึ้น และเป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทดังที่กล่าวไป หรือตั้งแต่วันอื่นใด อันจะทำให้การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในวันที่ 24 พ.ย.2547 เกินกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 51” ดร.ธนกฤตโพสต์ย้ำ
ดร.ธนกฤตโพสต์ต่อว่า หากข้อเท็จจริงยุติเช่นนี้ ศาลปกครองมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทที่โฮปเวลล์ยื่นเสนอไว้เพื่อพิจารณาได้ และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และมีคำพิพากษาให้เพิกถอนและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรค 3 (2) (ข) และมาตรา 44 ซึ่งจะทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่โฮปเวลล์ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |