จีนรุกคืบฮ่องกง...ปรับแก้ กฎหมายเลือกตั้งครั้งสำคัญ


เพิ่มเพื่อน    

     วันก่อนผมตั้งวงวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศหลายประเด็น ที่เกี่ยวโยงกับภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

            ผมชวน ดร.ปิติ ศรีแสงนาม และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์เรื่อง

            -ผลการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนประจำปีที่เพิ่งจบลง

            -ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประชุมสุดยอดออนไลน์กับผู้นำอีก 3 ประเทศที่เป็นสมาชิก Quad (จตุภาคี) คือ อินเดีย, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

            -การมาเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ของรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ

            -วิกฤติเมียนมากับจุดยืนของจีนและสหรัฐฯ

            ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อนโยบายของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่คนไทยจะต้องสนใจ ติดตามและร่วมกันวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การวางจุดยืนของเราที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับความเป็นไปของสถานการณ์โลกที่กำลังมีความผันผวนปรวนแปรตลอดเวลา

            เริ่มด้วยเรื่องการแก้กฎการเลือกตั้งของฮ่องกง ทั้งการเลือกผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงและสมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาะแห่งนี้

            การเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

            แต่ผู้ที่จะลงสมัครได้ต้องผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ก่อน

            มีคุณสมบัติสำคัญคือต้องเป็น "ผู้รักชาติ"

            คำว่า "ผู้รักชาติ" น่าจะนิยามยาก แต่ในบริบทของจีนนั้นไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนอะไร

            "ผู้รักชาติ" ในความหมายของปักกิ่งก็คือ คนที่อยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน

            ส่วนผู้ที่เห็นต่างหรือมีพฤติกรรมที่ทางการจีนเห็นว่าท้าทาย หรือไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางที่ปักกิ่งและคนที่รัฐบาลส่งมากำกับดูแลกิจการของฮ่องกงก็เข้าข่าย "ผู้ไม่รักชาติ"

            พูดง่ายๆ คือคนที่จะเข้าข่ายได้รับการพิจารณาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ต้องเป็นคนที่มี "ทัศนคติสอดคล้องกับแนวทางของทางการ"

            ตั้งแต่ฮ่องกงคืนสู่มาตุภูมิจากอังกฤษเมื่อปี 1997 นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดสำหรับผู้คนบนเกาะนี้ ที่เคยเชื่อว่ารัฐบาลปักกิ่งจะยึดถือระบบ "หนึ่งประเทศสองระบบ" ตลอด 50 ปีเป็นอย่างน้อย

            แต่นี่ผ่านมาเพียง 24 ปี จีนก็เข้ามายึดครองกติกาการเลือกผู้บริหารและสภานิติบัญญัติแล้ว

            ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ใหญ่ถึงกับต้องแก้ไข "ธรรมนูญการปกครอง" ของฮ่องกง ที่ถือว่าเป็นเสาหลักแห่งการบริหารเกาะแห่งนี้มาตั้งแต่อังกฤษส่งคืนเกาะให้จีน

            ไม่ว่าฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกงจะรณรงค์ต่อสู้อย่างไร ปักกิ่งก็ยังยืนยันอำนาจของการกำหนดกฎกติกาของฮ่องกง

            เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยก็คงจะต้องเจอศึกหนัก

            ดร.อาร์มบอกว่า "ผมคิดว่าฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงคงต้องปรับแผน เก็บเสบียงไว้สำหรับการต่อสู้ระยะยาวแล้ว เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าสี จิ้นผิงตัดสินใจจะใช้วิธีการเด็ดขาดกับฮ่องกงแล้ว คือใช้ไม่แข็งแล้ว..."

            ก่อนหน้านี้ปักกิ่งก็ออกกฎหมายความมั่นคงสำหรับฮ่องกง หลังจากนั้นก็ไล่จับผู้ชุมนุมจนถึงวันนี้

            สี จิ้นผิงก็อ้างว่าทุกวันนี้จีนยังเคารพใน "หนึ่งประเทศสองระบบ" เพราะฮ่องกงก็ยังคงไว้ซึ่งระบบทุนนิยม มีกฎหมายของตน มีผู้บริหารและสภานิติบัญญัติของตนเช่นกัน

            ต่างกันตรงที่ว่า คนเหล่านี้ไม่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเสรีจากประชาชนชาวฮ่องกงเท่านั้น

            เพราะปักกิ่งยังยืนยันอำนาจที่จะ "สกรีน" ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานคือเป็น "ผู้รักชาติ" ซึ่งก็คือคนที่ทางการจีนเห็นว่าจะไม่เป็นปฏิปักษ์กับปักกิ่ง

            สมัยหู จิ่นเทาเป็นผู้นำ จีนเปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องฮ่องกงมากกว่าวันนี้

            เคยมีมติในสภาของจีนขณะนั้นว่าอีก 10 ปีจะให้คนฮ่องกงสามารถเลือกตั้งผู้บริหารของตนเองโดยตรง

            แต่พอสี จิ้นผิงขึ้นมาทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยน เพราะปักกิ่งต้องการจะเข้ามากำกับและควบคุมฮ่องกงอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่ผ่านมา.

            (พรุ่งนี้: สมัชชาประชาชนแห่งชาติจีนกับแผนเศรษฐกิจจีน)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"