"จุรินทร์" ทาบภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา แก้รัฐธรรมนูญต่อ คราวนี้เป็นรายมาตรา สั่งฝ่ายกฎหมายยกร่างแก้ ม.256 ซ้ำ จ่อริบอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เพื่อไทยขานรับ ล้างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะที่ ส.ว.เสียงแตก เพราะสถานการณ์เปลี่ยน "วิษณุ" เผยรัฐบาลพร้อมเปิดสภาสมัยวิสามัญ 7-8 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมนิรันดร์แกรนด์ กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญสาขาประจำจังหวัดประจำปี (พระโขนง-บางนา) ว่าการแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ แต่ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการเดินหน้างานของพรรคถัดจากนี้ไป จะเดินหน้าผลักดัน 2 เรื่องคู่ขนานกัน เรื่องแรกคือการผลักดันการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสองเรื่องคือหัวใจสำคัญที่จะเป็นทิศทางการเดินหน้าในการทำหน้าที่ถัดจากนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาปากท้องคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์โควิด และต้องพาประเทศเดินหน้าต่อไป ทำรายได้ให้กับประเทศ เพื่อจุนเจือรากหญ้าในมิติต่างๆ ให้อิ่มท้องขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เขาเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา อย่างน้อยที่สุดจะต้องแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขและเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ว่า ให้ผู้ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาในช่วง 5 ปีแรก คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นการตั้งคำถามว่า เราจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญย้อนกลับหรือเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตยปกติได้หรือไม่ โดยให้ประชาชนที่เลือกผู้แทนเข้ามาเป็นผู้มีสิทธิ์ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน โดยไม่รวม ส.ว. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทั้งนี้ ตนได้ให้ฝ่ายกฎหมายจัดทำร่างแก้ไขแยกเป็นแต่ละประเด็น ไม่นำมามัดรวมกัน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดความเห็นว่าในประเด็นนี้เห็นด้วย ประเด็นนั้นไม่เห็นด้วย ก็ จะทำให้ทั้งร่างตกไปทั้งหมด
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์ต้องเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ขีดเส้นใต้ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีเงื่อนไขอยู่ 2-3 เรื่อง ไม่ว่าจะแก้รูปแบบใด ต้องไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ในเรื่องรูปแบบของรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว และเห็นด้วยให้คงมาตรา 112 เนื่องจากมาตรา 112 เป็นมาตราที่ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศ ไม่มีประเทศใดไม่มีบทบัญญัติในการคุ้มครองประมุข เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่จะต้องมีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ นี่คือจุดยืนที่ชัดเจน"
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้ประสานไปยังพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาแล้ว เนื่องจากเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวไม่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และเบื้องต้นได้สั่งให้ทีมกฎหมายพรรคศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา คาดว่าจะสามารถยื่นได้ในสมัยประชุมหน้า
เพื่อไทยแก้รายมาตรา
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญใหม่ โดยอาจเปลี่ยนแนวทางมาใช้การแก้ไขเป็นรายมาตราที่มีปัญหา เช่น ประเด็นให้อำนาจ ส.ว.มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกฯ ประเด็นบัตรเลือกตั้งที่ควรให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือเลือก ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรมีการแก้ไข เพราะทุกวันนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปเร็ว จะคิดล่วงหน้านานไม่ได้ เช่น การระบาดโควิดที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติควรกำหนดในระยะเวลาเพียงสั้น ไม่ใช่ยาวนานถึง 20 ปี แต่ที่สำคัญตอนนี้เราต้องผลักดันกฎหมายประชามติให้ออกมาโดยเร็ว โดยเร่งรัดให้เสร็จสิ้นก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ เมื่อประธานสภาฯ จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เราก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีกลไกใน 2 ขยัก คือสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งมาก หากเป็นฝ่ายตัวเอง ทั้งกลไกการเลือกตั้ง กลไก ส.ว. และกลไกป้องกันการแก้รัฐธรรมนูญ ที่พิสูจน์แล้วว่าแทบจะทำไม่ได้ ทั้งหมดนี้นำไปสู่รัฐบาลทรงพลังที่สะดวกสบาย อยู่ได้แม้กระทั่งขาดประสิทธิภาพในการบริหาร นำไปสู่รัฐบาลเฉย ที่เมินประชาชน เมินคำวิจารณ์ ต่อให้แย่แค่ไหน ก็สามารถอยู่ในอำนาจได้ตราบเท่าที่ตนต้องการ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะร้างรัฐบาลที่เปราะบาง และล้มลุกคลุกคลานได้ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้าม
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ให้ตัดอำนาจ ส.ว. ว่าต้องดูว่าจะเสนอตัดอำนาจในประเด็นใด ถ้าจะตัดอำนาจ ส.ว.ในประเด็นที่อยู่ในบทเฉพาะกาล 5 ปี อาทิ เรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการปฏิรูปประเทศ หรือตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คิดว่าคงไม่ง่าย เพราะผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ในช่วง 5 ปี ที่ต้องการแก้ปัญหาบ้านเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน
"ผมมั่นใจว่า ถ้าจะไปตัดอำนาจ ส.ว.ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา คงไม่ง่ายที่ ส.ส.รัฐบาลกับ ส.ว.จะเห็นสอดคล้องกับฝ่ายค้านทุกประเด็น ดูแล้วเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความเห็นชอบ ยกเว้นแต่การเลือกตั้งสมัยหน้า ถ้าประชาชนไม่เอารัฐบาลแล้ว และฝ่ายค้านสามารถจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ว.ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงอยู่ที่การรวมเสียง ส.ส.ได้เป็นสำคัญกว่าการมาแก้รัฐธรรมนูญ"
ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้องหากจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะสถานการณ์ขณะนี้เปลี่ยนไปแล้ว จะไปยึดติดกับวัตถุประสงค์เดิมไม่ได้ สังคมอาจเกิดความไม่สงบ ดังนั้นพร้อมยกมือสนับสนุนเรื่องตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ แต่ไม่รู้ว่าเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่คิดอย่างไร ดังนั้นต้องรอดูเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่จะว่าอย่างไร
รัฐบาลพร้อมเปิดสภาวิสามัญ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ออกมาระบุเตรียมประสานรัฐบาลขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายนนี้ว่า รัฐบาลยินดีที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ ได้มีการประสานกันแล้วเบื้องต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม หลังการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา ซึ่งปัญหามีเพียงว่าจะให้เปิดจำนวนกี่วัน และวันใดบ้าง เพราะต้องขอเวลาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดำเนินการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ประชามติประมาณ 7 วัน แล้วคณะกรรมาธิการต้องประชุมเพื่อพิจารณาอีกประมาณ 7 วัน รวมเวลาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ และตนทราบจากข่าวของสื่อมวลชน โดยที่รัฐบาลยังไม่ทราบอย่างเป็นทางการว่าวันที่เหมาะสมเปิดประชุมสมัยวิสามัญน่าจะเป็นวันที่ 7-8 เมษายน ถ้าเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้ เพราะถ้าช้ากว่านั้นจะไปติดช่วงเทศกาลสงกรานต์ และวันที่ 6 เมษายน เป็นวันหยุดราชการ และวันที่ 7 เมษายน จะมีการประชุม ครม. ที่เลื่อนมาจากวันที่ 6 เมษายนอีก รัฐมนตรีหลายคนที่เป็น ส.ส.อาจต้องไปร่วมโหวตในที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้นวันอังคารที่ 23 มีนาคม จะหยิบยกประเด็นนี้มาหารือในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง และถ้าเปิดประชุมสมัยวิสามัญรอบนี้ เห็นว่าควรดำเนินการกฎหมายประชามติให้แล้วเสร็จ เพราะที่ผ่านมาได้พิจารณามาตรายากๆ ไปแล้ว เหลือมาตรายากๆ อีก 2-3 มาตรา เมื่อผ่านแล้วจะเป็นการดีที่จะได้พิจารณา พ.ร.บ.ยาเสพติด
เมื่อถามถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องที่แต่ละพรรคจะต้องไปพูดคุยกัน เพราะพรรคเหล่านี้ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็คุยกันในวิปพรรคร่วมรัฐบาลเอง
ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันเดียวกันนี้ มีกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันรวมตัวกันที่บริเวณหน้าห้องประดิษฐ์มนูญธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีการจัดงานบรรยายสาธารณะ “แก้รัฐธรรมนูญ สู่ประชาธิปไตยหรือเสริมแกร่งเผด็จการ”
โดยในช่วงของการจัดกิจกรรมนั้น ได้เกิดการปะทะคารมกันระหว่างกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันกับคณะผู้จัดงาน เนื่องจากกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันพยายามที่จะขอเข้าไปร่วมรับฟังการบรรยายดังกล่าว ซึ่งมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้บรรยาย ซึ่งก่อนจะขอเข้าร่วมรับฟังการบรรยาย ทางกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันได้นำป้ายที่มีข้อความว่า “ขบวนล้มเจ้า หนักแผ่นดิน” มายืนชูที่หน้าคณะนิติศาสตร์ พร้อมกล่าวโจมตีนายปิยบุตร ทำให้ทางผู้จัดงานเกรงว่าจะทำให้เวทีบรรยายที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาเข้าร่วมรับฟังเกิดความไม่สงบ จึงยังไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมนั้นเข้าไปภายในห้อง
เมื่อนายปิยบุตรเดินทางมาถึงห้องบรรยาย กลุ่มผู้ชุมนุมในนามกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันได้ตะโกนตำหนินายปิยบุตรว่าเป็นคนล้มสถาบัน ทำให้นายปิยบุตรต้องเดินกลับออกมาชี้แจงพร้อมเชิญฟังการอภิปรายทางกลุ่มผู้จัดจะอนุญาตให้ทางกลุ่ม เข้ารับฟังการบรรยายด้วย โดยขอความร่วมมือว่าจะไม่สร้างความวุ่นวาย
อย่างไรก็ตาม ในการบรรยายนั้น นายปิยบุตรได้ยกตัวอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการสถาปนารัฐธรรมนูญของต่างประเทศ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมรับฟังบรรยายถามคำถาม ซึ่งก็มีตัวแทนของทางกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันสับเปลี่ยนกันสอบถามข้อมูลในด้านต่างๆ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษาที่มาร่วมรับฟัง ท่ามกลางการดูรักษาความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |