ชัยชนะที่มืดมนของ "ม็อบ 3 นิ้ว" ส่อเค้า "รัฐบาล 3 ป." ครองอำนาจยาว


เพิ่มเพื่อน    

 

      ไม่ว่าจะเป็นม็อบมีเส้น หรือไม่มีเส้น แกนนำการชุมนุมที่นำมวลชนลงบนท้องถนน  ต่างก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน และส่วนใหญ่ก็จบด้วยการต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในคุก เพียงแต่จะอยู่ยาวหรือสั้น ก็แล้วแต่การกระทำความผิดในครั้งนั้นมีกี่กรรม กี่วาระ

                นั่นถือเป็น "จุดร่วม" เดียวที่ทุกม็อบต้องเจอเหมือนกัน ไม่ว่าจะสู้เพื่อเป้าหมายใดก็ตาม 

                แม้กระทั่งในปัจจุบันที่แกนนำม็อบ 3 นิ้วต่างถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกตั้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดฉกาจฉกรรจ์ ตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำสำนวนขึ้นไป ก็คงเป็นไปตามที่คาดหมายว่าสุดท้ายปลายทางต้องสูญสิ้นอิสรภาพ

                ไล่ตั้งแต่คดีที่แกนนำและแนวร่วมราษฎรชุดใหญ่ 22 คน ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นสถาบัน อยู่ในขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งคดีนี้มี 2 สำนวน

                สำนวนแรก อัยการยื่นฟ้อง พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นจำเลย คดีชุมนุมม็อบเฟสต์ เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2563 บริเวณสี่แยกคอกวัว มี 3 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น รวมทั้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

                สำนวนที่ 2 อัยการยื่นฟ้องคดีชุมนุมทวงอำนาจราษฎร วันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง สำนวนนี้ “เพนกวิน” ถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับแกนนำราษฎรอีก 3 คน คือ อานนท์ นำภา ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในความผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 และมาตรา 215 (ชุมนุมมั่วสุม) และอื่นๆ รวม 11 ข้อหา โดยทั้ง 4 แกนนำไม่ได้รับประกันตัวจนถึงปัจจุบัน

                ต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้องแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรเป็นจำเลยอีก 18 คน ในคดีชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นสำนวนเดียวกันกับ 4 แกนนำ (สำนวน 2) โดยมีแกนนำอีก 3 คนรวมอยู่ด้วย คือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ทั้ง 3 คนไม่ได้ประกัน

                ส่วนอีก 15 คน เป็นแกนนำลำดับรองลงมา เช่น อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ “ไบร์ท” กลุ่มนี้ได้ประกันทุกคน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาคนละ 11 ข้อหา ในจำนวน 15 คนนี้มี ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์” โดนคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ หน้าเรือนจำคลองเปรม ถูกตามจับและไม่ได้รับประกันตัว ซึ่งถือเป็นคดีที่แยกออกมาคนเดียวอีกคดีหนึ่ง

                อีกคดีหนึ่งที่เกิดแทรกขึ้นมา คือคดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำกลุ่ม WeVo กับพวกรวม 15 คน ที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 ที่เมเจอร์รัชโยธิน ข้อหาฝ่าผืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อจะกระทำความผิด และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน คดีนี้ศาลให้ประกันผู้ต้องหา 14 คน ไม่ให้ประกันคนเดียวคือ “โตโต้”

                ส่วนที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ 25 มีนาคมนี้ อัยการนัดฟังคำสั่งคดี 13 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ข้อหากระทำผิดตามมาตรา 112 มาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ แกนนำประกอบด้วย อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” ซึ่งได้ประกันในคดีม็อบ 19 กันยาฯ และ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย (ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)

                จำเลยและผู้ต้องหาที่ออกมาเคลื่อนไหวเปิดประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ต่างตกอยู่ในภาวะที่ "อกสั่นขวัญแขวน" ผวาต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้กระทั่งคนของกรมราชทัณฑ์ในการเข้าตรวจโควิด-19 กลางดึก แกนนำก็ทำการเขียนจดหมายรายวัน และขอให้สังคมอย่าหลุด "โฟกัส" จากพวกเขา ข้อสันนิษฐานน่าจะเกิดจากข้อมูลที่นำมาปราศรัยหลายครั้งจากเหตุการณ์ของกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ถูกบังคับสูญหายในต่างแดน หลังจากหนีคดีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน

                การชุมนุมเคลื่อนไหวของม็อบหลังจากแกนนำหลักต้องคดี การเปิดตัวของกลุ่ม "รีเด็ม" หรือก็คือกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่สื่อสารยึดโยงกับมวลชนด้วยการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย กดปุ่มการชุมนุมด้วย "คนเบื้องหลัง" แม้จะมีคนเข้าร่วมอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่มากเหมือนช่วงเริ่มต้น สะท้อนให้เห็นความอ่อนแรงของขบวนการต่อสู้ของม็อบสามนิ้ว

                ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ส่งผลให้พัฒนาการการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ไม่เป็นผล เมื่อข้อเรียกร้องที่ชูธง ไม่ได้เป็น "จุดร่วม" ที่จะผนวกมวลชนเข้ามาร่วมได้มากนัก ประกอบกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจริงจังในการจับกุมดำเนินคดี ทำให้แนวร่วมเริ่มแหยง

                หรือแม้กระทั่งแนวทางของการ์ด และกลุ่มอาชีวะที่เข้าร่วมความเคลื่อนไหว ส่อเค้าที่จะเกิดความรุนแรงหลายครั้ง เลยไปถึงทฤษฎีการต่อสู้แบบ "อนาธิปไตย" สร้างภาวะรัฐล้มเหลว เพิกเฉยที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ส่งผลให้คนที่อยากเข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย หวังตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล และการกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่อยากมาเข้าร่วม เพราะเกรงจะถูกเหมารวมไปด้วย

                ยังไม่นับปัญหาภายใน หรือการแทรกซึมเข้ามาของหน่วยงานความมั่นคง ที่เข้าไปแซะรอยร้าว และความขัดแย้งของคนในขบวนการ ลดความเป็นเอกภาพของแกนนำม็อบ  ก็ยิ่งเปิดแผลความขัดแย้งของคนในขบวนมากขึ้นไปอีก

                ภายใต้สถานการณ์ของ "ม็อบ" ที่นับวันจะมีคนเข้าร่วมน้อยลง นักการเมืองในระบบ และกลุ่มการเมืองหนุนหลัง ยังคงเล่นจังหวะ "ติ๊ดชึ่ง" หันเหไปทำงานการเมืองในการเลือกตั้งสนามเล็ก แม้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องบ้าง แต่ก็ไม่เท่าองค์กรต่างๆ ที่เดินหน้าไปพึ่งองค์กรระหว่างประเทศให้เข้ามาสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุมขังจากกรณีของคดี ม.112 ซึ่งน่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้บ้าง แต่ไม่มากนัก

                สถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่สามารถทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ 3 ป. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำมาแล้ว 7 ปี ระคายเคือง

                เพราะนอกจาก "ม็อบ" ไม่มีพลังมากพอแล้ว พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่หนุนก็มีแค่พรรคใหญ่พรรคเดียว คือ พรรคก้าวไกล นั้นก็ทำอะไรไม่ได้มาก แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการอภิปรายงบประมาณจะชี้ให้เห็นความผิดพลาดบกพร่อง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้

                เสียงปริ่มน้ำของพรรคร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ยิ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแม้แต่น้อย เนื่องจากอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอิทธิพล ของคนในรัฐบาล รวมไปถึงการแบ่งสรรผลประโยชน์ให้ผู้มีผู้ส่วนได้ส่วนเสีย สามารถนำพา "เรือเหล็ก" ล่องรัฐนาวามาแบบลอยลำ

                นั่นทำให้เห็นว่าเหตุการณ์หลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้น ค้านสายตาสังคม และเป็นไปตามอีหรอบเดิมที่เคยเกิดขึ้นกับ "ระบอบทักษิณ" ที่มีอำนาจล้นเกิน และเกิดอาการ "เหลิง" ควบคุม แทรกแซงทุกองคาพยพ ส่งคนของตัวเองและพวกพ้องเข้าไปอยู่ในทุกระบบและกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน จนกลายเป็นความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยากที่จะตรวจสอบถ่วงดุล  แต่สำหรับชะตากรรมแล้วคงไม่เป็นอย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" เพราะแผงหลังในการสนับสนุนแข็งแกร่ง

                สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระที่ 3 (พิจารณาให้ความเห็นชอบทั้งฉบับ) มีการเสนอญัตติซ้อนญัตติ จาก  "ไพบูลย์ นิติตะวัน" มือชงของรัฐบาล ให้มีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ จากที่ก่อนหน้ามีการเสนอญัตติให้รัฐสภาพิจารณา 3 ญัตติก่อนหน้า

                ถือเป็นญัตติ "ตัดหน้า" เพื่อหวังผลให้เป็นไปตามทิศทางที่ชี้ลงมา ท้ายที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูก "โหวตคว่ำ" กลางรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 208 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 94 และไม่ลงคะแนน 136 คะแนน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา พับเกม รธน.ไปชั่วพริบตา

                ยังไม่นับรวมปรากฏการณ์ของพรรคร่วมที่วิพากษ์วิจารณ์ วอล์กเอาต์ รักษาทรงของพรรคการเมืองตัวเองที่เคยหาเสียงเลือกตั้งไว้ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ที่ในที่สุดถูกมองว่า เป็น "ละคร-ลิเก" ที่หลอกคนดูไม่ได้

                อย่างไรก็ตาม ก็ยังนับได้ว่า "รัฐบาล" มีไพ่อยู่จนล้นหน้าตัก เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลฟึดฟัด แต่ไม่ไปไหน ม็อบอ่อนแรงถ่วงดุลรัฐบาลไม่ได้ ฝ่ายค้านอภิปรายข้อมูลดี แต่ก็เหมือนเตะหมูเข้าปากหมา ทำได้แค่ปักธงเรื่องสถาบันในสภาฯ เท่านั้น

                ยิ่งมีผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลเป็นมือประสานสิบทิศของ 3 ป. มีหลังพิงที่แข็งแรงเดินหน้าทำหน้าที่รักษาเก้าอี้ให้นายกฯ ทหาร-ตำรวจตบเท้าพรึ่บพรั่บโชว์ให้เห็นบารมีของ "บิ๊กตู่" ที่ถูกเลือกให้เป็นพ่อบ้านประเทศ จนดูเหมือนว่าแนวทางการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ การวางแนวทางแก้ไขปัญหาโควิด-19 จะเดินไปสู่ปลายทางตามโรดแมปอำนาจที่วางไว้ตามคาด

                ประเทศไทยในทศวรรษนี้จึงยังไม่มีการปรับโครงสร้าง เมื่อสิ่งที่แกนนำม็อบนำมาปราศรัยเป็นแค่เรื่องวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่ "ใบเสร็จ" จนทำให้ ม.112 กลายเป็นอาวุธสำคัญของฝ่ายรัฐในการเผด็จศึก จัดการกับข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐาน

             การปักธง "ทะลุฟ้า" จึงเป็นแค่เรื่องรู้ๆ กันอยู่ เป็นความฝันอันสูงสุด ที่ยังไม่เดินไปสู่ความเป็นจริง!!!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"