คำตัดสิน-ดุลยพินิจของศาล ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง
ช่วงที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาที่เกิดขึ้นมาตลอดหลายเดือน มีองค์กรหนึ่งที่มีบุคคลจากฝ่ายต่างๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบพาดพิงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ สถาบันตุลาการ-องค์กรศาลยุติธรรม โดยเฉพาะหลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแกนนำม็อบคณะราษฎร 63 ที่บางคนก็ยังมีสถานภาพเป็นนักศึกษา เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของบุคคลหลายกลุ่มตามมา เช่น แถลงการณ์คณาจารย์ 255 รายชื่อ 31 สถาบัน ที่เรียกร้องขอให้ศาลคืนสิทธิ์ในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อ 15 ก.พ.64 หรือกรณีองค์กรระหว่างประเทศอย่าง แอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องไทยปล่อยตัวผู้วิจารณ์อย่างสงบ โดยระบุว่าต้องมีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมและแกนนำที่ยังถูกควบคุมตัวทุกคนโดยสงบ เป็นต้น
ด้านความเห็นในทางข้อกฎหมายและหลักวิชาการจากฝ่ายศาลยุติธรรม สุริยัณห์ หงษ์วิไล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักประธานศาลฎีกา และโฆษกศาลยุติธรรม ได้พูดถึงหลักการทำงาน การตัดสินคดี การออกคำสั่งต่างๆ ของศาลยุติธรรม โดยย้ำว่าศาลยุติธรรมทำหน้าที่ภายใต้หลักความเป็นกลาง การยึดหลักข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง เพื่ออำนวยความยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้คำนึงเรื่องฝ่ายทางการเมือง เพราะศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายไหน
เพื่อให้เห็นทิศทางการทำงานของศาลยุติธรรม เราเริ่มบทสัมภาษณ์ด้วยการถามถึงแนวทางและนโยบายการทำงานของศาลยุติธรรม หลังก่อนหน้านี้ ประธานศาลฎีกา-นางเมทินี ชโลธร ได้เคยออกประกาศนโยบายที่ให้ยึดหลัก 5 ด้าน หรือ 5 ส. คือ เสมอภาค-สมดุล-สร้างสรรค์-ส่งเสริม-ส่วนร่วม นโยบายดังกล่าวมีแนวทางการทำงานอย่างไร เรื่องนี้ สุริยัณห์-โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวลงรายละเอียดว่า แนวทางดังกล่าวแบ่งเป็นข้อ 1 เสมอภาค ที่ก็คือ ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาค ศาลยุติธรรมมีภาระหน้าที่ในการให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย ความเชื่อมั่นศรัทธาของพี่น้องประชาชนคือสิ่งสำคัญ การที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นนั้น พวกเราต้องทำงานโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่สถานะใดในคดีก็จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน การทำงานต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นต้น
ข้อ 2 ความสมดุล คือการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาล และยกระดับการคุ้มครองสิทธิแก่ผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม และพยานในคดีอาญา ในเรื่องนี้ท่านประธานศาลฎีกาได้ออกคำแนะนำประธานศาลฎีกา ให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศปฏิบัติตามเพื่อคุ้มครองสิทธิทั้งจำเลย ผู้เสียหายหรือเหยื่อ และพยาน และมีการดำเนินงานตามแนวนโยบายข้อนี้ไปแล้ว อย่างเช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่านประธานศาลฎีกาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการยกระดับการคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งมีการจัดตั้ง ศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหายทั่วประเทศ ขึ้นแล้วในปัจจุบัน เพื่อให้ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งแรกของประชาชนเมื่อต้องใช้สิทธิ์ในทางอาญา
ข้อ 3 สร้างสรรค์ สร้างกลไกการดำเนินกระบวนพิจารณาและการพิพากษาคดีที่ทันสมัย โดยใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการพัฒนากลไกและระบบการดำเนินคดีที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของประชาชน และเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และสอดคล้องกับบริบทของสังคม จะพัฒนาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความสามารถ พร้อมให้บริการประชาชนและคู่ความอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีบทบาทสนับสนุนการพิจารณาคดีของศาลเพิ่มมากขึ้น ยกระดับการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มคุณภาพของคำสั่งและคำพิพากษาของทุกชั้นศาล โดยมีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยสนับสนุน เพื่อรองรับการก้าวสู่ความเป็นศาลอัจฉริยะ เช่น การพิจารณาคดีและการไต่สวนผ่านจอภาพ การเตรียมความพร้อมของห้องพิจารณาทางดิจิทัล ระบบการบันทึกคำพยานและการประชุมคดีผ่านอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อ 4 ส่งเสริม คือจะส่งเสริมความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตของบุคลากร ขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อยกระดับสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมให้เป็นสถาบันหลักทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาได้ทำงานด้านวิชาการโดยเฉพาะอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากงานด้านการพิจารณาพิพากษาคดี สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจะขยายเพื่อทำงานด้านวิชาการ ต่อไปสถาบันจะนำองค์ความรู้ที่มีเผยแพร่แก่บุคคลภายนอกด้วย เพื่อจะได้ใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ข้อ 5 ส่วนร่วม จะสนับสนุนให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วม ด้วยการสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งอย่างเป็นระบบสำหรับบุคลากรภายใน เพื่อประสานความร่วมมือและเสริมสร้างความรักสามัคคี เป็นต้น
-หลักเกณฑ์การให้ประกันตัวหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง และคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ศาลมีแนวปฏิบัติและหลักเกณฑ์อย่างไร?
ในเรื่องของการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้น ศาลยุติธรรมโดยผู้พิพากษาทุกท่านใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งใช้บังคับกับทุกศาลและทุกประเภทคดี
โดยศาลจะพิจารณาว่า หากให้ปล่อยชั่วคราวแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ จะมีการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่ออันตรายประการอื่นหรือไม่ เช่นกระทำผิดซ้ำหรือไม่ การอนุญาตหรือไม่อนุญาตเป็นดุลพินิจในทางตุลาการบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่นำเสนอ รวมถึงการคัดค้านของทางเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายด้วย โดยในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลที่สูงกว่าหรือยื่นขอปล่อยชั่วคราวใหม่ โดยแสดงเหตุผลหรือข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็ได้ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจตุลาการโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงตามหลักสากล และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งหมดคือหลักกว้างๆ ที่เราใช้กับทุกคดีความเหมือนกันหมด ซึ่งก็ยึดแนวตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 และมาตรา 108/1
-มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาก กรณีศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวจำเลยที่เป็นแกนนำม็อบปลดแอก โดยมีการมองกันว่าคดีเพิ่งยื่นฟ้อง อยู่ระหว่างการสู้คดี และบางคนเป็นนักศึกษา ศาลควรให้ประกันตัวเรื่องที่เกิดขึ้น ศาลอาญามีหลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร?
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า การพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจะเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง คดีแต่ละคดีหรือคนที่ถูกจับมาแต่ละคน ศาลไม่ได้มองว่าเป็นใคร แต่มองที่พฤติการณ์แห่งคดีในแต่ละคดี โดยข้อหาจะดูตามความหนักเบาของข้อหาอยู่แล้ว ซึ่งก็จะใช้เหมือนๆ กัน คือศาลไม่ได้มองว่าเป็นใคร แต่มองว่าแต่ละคดีเป็นอย่างไร พฤติการณ์ในคดีเป็นอย่างไรในแต่ละคดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยแต่ละคนเป็นอย่างไร จะเห็นว่ามีความหลากหลายของคำสั่งของศาล บางกรณีก็ให้ประกัน บางกรณีก็ไม่อนุญาต เหตุที่แตกต่างก็เนื่องด้วยเนื้อหาของคดีที่ต่างกัน พฤติการณ์ในคดีที่แตกต่างกัน และพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยในแต่ละรายไม่เหมือนกัน
ทุกคดีจะมีรายละเอียดตามคำร้องให้ศาลได้พิจารณาประกอบการใช้ดุลพินิจ เเต่เวลาที่ปรากฏในข่าวอาจจะมีรายละเอียดที่ไม่ครบถ้วน หรือบางครั้งอาจแตกต่างไปจากที่ปรากฏในสำนวน และบางครั้งอาจไม่มีรายละเอียดของพฤติการณ์แห่งข้อกล่าวหา ไม่มีรายละเอียดของข้อหาที่ถูกกล่าวหา ไม่มีรายละเอียดที่พนักงานสอบสวนได้เสนอมาต่อศาลให้ได้รับทราบ บางครั้งก็อยู่ที่ข้อมูลที่พนักงานสอบสวนเสนอมาเหมือนกัน
แน่นอนว่าถ้ามีการคัดค้านการประกัน ศาลก็ต้องรับฟังตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็จะพิจารณาถึงเหตุแห่งการคัดค้านว่าเพราะเหตุใด ถ้าปรากฏข้อมูลหรือหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือหากปล่อยชั่วคราวจะไปกระทำแบบเดิมตามที่ถูกกล่าวหา หรือจะก่อให้เกิดเหตุร้ายประการอื่น ตาม ป.วิ อาญา ศาลก็ย่อมใช้ดุจพินิจไม่ให้ประกันก็ได้ ศาลใช้ดุลยพินิจที่เป็นกลาง
-ศาลไม่ได้ดูว่าคดีไหนเป็นคดี 112 หรือคดีการชุมนุมทางการเมือง แล้วจะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาปล่อยชั่วคราวที่แตกต่างไปจากคดีอาญาทั่วไป?
ทุกคดีศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหมด คือศาลดูที่พฤติการณ์ของคดี ดูที่ข้อหาที่ถูกยื่นฟ้อง ศาลไม่ได้วางหลักว่า หากเป็นคดีประเภทใดแล้วศาลต้องสั่งแบบนี้ทั้งหมด ไม่ใช่ครับ เพราะจะมีเงื่อนไขอื่นๆ เป็นองค์ประกอบ เช่นพฤติการณ์ของจำเลยด้วย
-มองอย่างไรที่มีความพยายามสร้างกระแสเพื่อดึงศาลยุติธรรมเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เช่นมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าศาลให้ประกันตัวแบบ 2 มาตรฐาน ทำนองว่าที กปปส.ให้ประกันตัว แต่จำเลยที่เป็นแกนนำนักศึกษากลับไม่ให้ประกันตัว?
ภารกิจหลักของศาลคือการชี้ขาดระงับข้อพิพาทในสังคม ขอให้เชื่อมั่นว่าศาลอยู่ตรงกลาง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายใด การทำงานของผู้พิพากษาทุกคนมีความเป็นอิสระในกรอบแห่งกฎหมาย ปราศจากการแทรกแซง การใช้ดุลพินิจเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากข้อมูล ข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และกฎหมาย มีการปรึกษาหารือตามระบบองค์คณะในการพิจารณา มีการตรวจสอบและตรวจทานเพื่อความมั่นใจว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่เป็นธรรมตามข้อเท็จจริงของแต่ละคดี
ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เราต้องแยกการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกจากการกระทำที่เข้าข่ายว่าผิดกฎหมาย
การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ในกรอบแห่งกฎหมายและได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ หากไม่มีการกระทำใดที่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หรือเป็นการกระทำที่ผิดต่อบทกฎหมายย่อมสามารถกระทำได้ แต่หากในการเคลื่อนไหวนั้นมีการกระทำที่ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย ต้องแยกการกระทำที่ผิดกฎหมายออกจากเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และศาลยุติธรรมเองก็พิจารณาเฉพาะการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ไม่มีประเด็นทางการเมืองหรือบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง
การปรับใช้กฎหมายก็อยู่ภายใต้ดุลพินิจอิสระสำหรับทุกๆ คน ทุกๆ กลุ่ม ทุกๆ ฝ่าย อย่างเท่าเทียมกัน ความแตกต่างที่เกิดขึ้นมิได้เกี่ยวข้องกับว่าเป็นฝ่ายใด แม้ในคดีเดียวกันจำเลยต่างรายกัน มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่ต่างกัน ผลของคำสั่งโดยเฉพาะในเรื่องของการปล่อยตัวชั่วคราวก็อาจจะแตกต่างกันได้ ที่ผ่านมาศาลระมัดระวังไม่ให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายใด เพราะฉะนั้นในแง่ของการใช้ดุลยพินิจจึงไม่ได้เกี่ยวข้องว่าใครเป็นฝ่ายใด เราจะดูเฉพาะการกระทำและพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น
เราก็เข้าใจดีว่า ผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล อาจจะก่อให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งหากไม่พอใจก็อาจที่จะพยายามสร้างในเรื่องราวหรือกระแส เพื่อที่จะทำให้ถูกมองว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็มีความพยายามที่จะให้ศาลเข้าไปเป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้ง ที่ต้องขอบอกว่าศาลยุติธรรมเรา เวลาศาลใช้ดุลยพินิจในการตัดสินคดีหรือออกคำสั่งใดๆ เราจะยืนอยู่บนหลักที่เป็นจุดกลางจริงๆ ในฐานะของคนกลางจริงๆ เราไม่ได้คำนึงว่าเรื่องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเราก็ไม่ได้กังวลด้วยว่า หากศาลเราออกคำสั่งหรือคำตัดสินคดีออกมาแล้ว เขาจะรู้สึกอย่างไร แต่สิ่งที่เรากังวลก็คือ เราให้ความเป็นธรรมจริงๆ ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่ให้แก่สังคม เพราะสิ่งที่ศาลยุติธรรมต้องทำคือ เราต้องดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยส่วนรวม การปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
-ระยะหลังเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันศาล เช่นการจัดกิจกรรมวางพวงหรีดหน้าศาลอาญา หรือกิจกรรมเทขยะหน้าศาลอาญา รวมถึงที่มีแนวร่วมม็อบบางกลุ่มมาจัดกิจกรรมต่างๆ หน้าศาลอาญาหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากยังไม่มีการปล่อยตัวแกนนำม็อบคณะราษฎรอาจจะมีกิจกรรมลักษณะแบบนี้ต่อไป?
อันที่จริงแรงกดดันที่เกิดขึ้นก็มีด้วยกันทุกฝ่าย หากผลของคำสั่งไม่เป็นที่พอใจ แต่ศาลยุติธรรมเราต้องยึดหลักความถูกต้องเหนือความถูกใจ แม้ความถูกต้องอาจจะนำมาซึ่งแรงกดดัน เราจำเป็นต้องอดทนและยืนอยู่บนหลักการเพื่อค้ำยันความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยให้ได้อย่างแท้จริง
ส่วนการแสดงออกนั้น ถ้าทุกคนเข้าใจว่านอกจากสิทธิแล้วเรายังมีหน้าที่ด้วย ก็จะทราบดีว่าการใช้สิทธิของเรานั้น ไม่ว่าจะอ้างสิ่งใดก็แล้วแต่ย่อมไม่อาจใช้จนเกินส่วน หรือจนไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นได้ การกระทำกิจกรรมต่างๆ หากกระทำในขอบเขต ไม่ละเมิดกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นก็ย่อมกระทำได้ แต่หากเป็นความผิด หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ย่อมต้องดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่
ส่วนศาลยุติธรรมเราจะพยายามสื่อสารในทุกช่องทาง เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจในการทำงานของศาลยุติธรรมตามที่กฎหมายกำหนดให้ได้มากที่สุด เมื่อเข้าใจกันแล้วก็เชื่อมั่นว่าการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยจะไม่มีความรุนแรงอย่างแน่นอน
ขณะนี้มีการกระทำที่เกินเลยไปบ้าง หรือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้พิพากษาอย่างมาก แต่ท่านเหล่านั้นก็อดทน ท่านก็ไม่ดำเนินการตามสิทธิของท่าน เพราะทราบดีว่าจะทำให้ท่านกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายต่างๆ โดยทันที ซึ่งสิ่งเหล่านี้ศาลยุติธรรมเราพยายามจะหลีกเลี่ยงที่สุด เราพยายามใช้ความอดทนความอดกลั้นให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่เราก็หวังว่าทุกฝ่ายจะอดทนและอดกลั้นไปกับเราด้วย โดยศาลเราต้องพยายามยืนหยัดในจุดนี้จริงๆ เรารู้ครับว่ามีความพยายามจะให้เราออกมาเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนั้น ซึ่งเราก็เข้าใจกับบุคคลทุกคน แต่ขอให้ทุกคนเข้าใจการทำงานของศาลด้วยว่าเราไม่มีการเข้าข้างฝ่ายใดจริงๆ
-เรื่องการตัดสินคดีหรือการออกคำสั่งต่างๆ ของศาลยุติธรรม ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือเห็นแย้งได้หรือไม่ และการวิพากษ์วิจารณ์มีขอบเขตแค่ไหนที่จะไม่เป็นการละเมิดศาล?
แม้ว่าศาลจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดเลย แต่ว่าคำสั่งหรือว่าคำพิพากษาของศาล ที่ก็อาจทำให้มีทั้งฝ่ายที่พอใจและฝ่ายที่ผิดหวัง ดังนั้นข้อวิพากษ์วิจารณ์จึงถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และศาลยอมรับข้อวิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ ด้วยความอดทนอดกลั้นตลอดมา
ส่วนเรื่องละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะดำเนินการหากเห็นว่ามีการกระทำที่ขัดขวางการพิจารณาคดี หรือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล หากผู้เข้าร่วมกิจกรรมกระทำการในขอบเขตของกฎหมายแล้ว ย่อมไม่มีข้อกังวลว่าจะถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล
ซึ่งการกระทำและการวิพากษ์วิจารณ์ใดที่สามารถกระทำได้นั้น ย่อมเป็นไปตามมาตรฐานวิญญูชนทั่วไป เช่น ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่มีการทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สิน เป็นต้น และขอให้เข้าใจว่าเรื่องละเมิดอำนาจศาลหรือหมิ่นศาลเป็นบทบัญญัติที่มีไว้เพื่อคุ้มครองกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของศาลหรือผู้พิพากษาหรือว่าของศาล ก็คือวิพากษ์วิจารณ์ได้ภายในกรอบของกฎหมาย ก็สามารถที่จะกระทำได้ ด้วยถ้อยคำที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันตามหลักของวิญญูชน
-การที่บางฝ่ายนำเสนอความเห็นจนเป็นกระแสวิจารณ์การทำงานของศาลแบบที่เกิดขึ้น ถ้าทำไปเรื่อยๆ กังวลไหมว่าอาจจะเกิดกระแสหรือความรู้สึกใดๆ จากคนในสังคมที่มีต่อศาลตามมา?
เมื่อมีคดีมาแล้ว ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมาย และตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกกฎหมายนั้นๆ ก็ยังบังคับใช้ได้ทั้งหมดให้เป็นไปตามกฎหมาย
ส่วนผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาอาจจะเป็นบวก เป็นลบ เป็นคุณเป็นโทษกับใครขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละคดี เเต่ยืนยันได้ว่าไม่มีการแทรกแซงใดๆ ศาลยุติธรรมดำรงอยู่มา ๑๓๙ ปี เรายืนหยัดอย่างมั่นคงมาตลอดถึงความเป็นกลาง และการทำงานที่อิสระ ปราศจากการแทรกแซง ถึงจะมีแรงกดดัน แต่จุดยืนนี้จะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าใครจะเคยวิพากษ์วิจารณ์เราอย่างไร แต่เมื่อต้องใช้สิทธิทางศาล ขอยืนยันว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ปราศจากอคติอย่างแน่นอน คือว่าเมื่อคดีต่างๆ มาถึงศาลยุติธรรมแล้ว ศาลก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย โดยตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกกฎหมายนั้นๆ
...เพราะฉะนั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ถามว่าศาลมีความกังวลหรือไม่ในการทำงาน ก็ต้องบอกว่าเราพยายามทำงานอย่างเต็มที่ เรารู้ว่ามีแรงกดดันที่เกิดขึ้นอยู่ แต่เราไม่ได้กังวลอะไร เพราะถ้าเรามั่นใจและมั่นคงในสิ่งที่เราทำ ว่าเราทำทุกอย่างถูกต้องตามกรอบของกฎหมายและกติกาของประเทศ ซึ่งก็อาจจะมีทั้งคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ภายในกรอบของกฎหมาย อย่างที่พอจะพึงยอมรับกันได้เพื่อให้สังคมนี้เดินหน้าไปด้วยกัน เพราะศาลยุติธรรมเราตัดสินตามข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมาย คำตัดสินของเราไม่เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย เพราะฉะนั้นความเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรม หากว่าทำภายใต้กรอบของกฎหมายและที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง ไม่มีการละเมิดสิทธิของคนอื่นก็ดำเนินการไป แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของการดำเนินการอย่างนั้น แต่ศาลยุติธรรมเราดูเฉพาะว่ามีการกระทำการใดที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ตามที่ถูกฟ้อง ตามขั้นตอน ตามที่ถูกกล่าวหามา
"เพราะฉะนั้นขอให้แยกว่า คำตัดสินของศาลไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองเลย และขอได้โปรดอย่าใช้ดุลยพินิจของศาลไปเชื่อมโยงกับเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง"
-ที่ผ่านมามีบางฝ่ายพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการปฏิรูปศาลยุติธรรมด้วย หากวันข้างหน้าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ ศาลยุติธรรม พร้อมสำหรับการปฏิรูปหรือไม่?
ศาลยุติธรรมปฏิรูปตัวเองอยู่ตลอดเวลา เรามีการปรับตัวและปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามเราก็ต้องยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง และต้องเป็นหลักค้ำยันความถูกต้องให้กับสังคมจริงๆ ถ้าจะถามว่าเรากังวลไหม หากจะมีการแก้กฎหมายใดๆ ที่จะปฏิรูปศาลยุติธรรม ศาลไม่ได้กังวลในจุดนั้น เพราะเรามั่นใจว่าที่เราทำอยู่ตอนนี้ ศาลทำสอดคล้องกับกติกาของประเทศที่วางอยู่ ณ ขณะนี้ โดยหากต่อไปจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ศาลก็พร้อมที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคม หรือตามที่ฝ่ายบ้านเมืองมองเห็นว่าศาลยุติธรรมควรต้องทำหน้าที่อย่างไร
ศาลจึงไม่ได้กังวลในจุดนั้นที่ได้ถามมา หากว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุงดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์กับประชาชน และทำให้เกิดความเป็นธรรมกับสังคมจริงๆ ทางศาลยุติธรรมก็พร้อม อย่างเรื่องแนวทางความโปร่งใส เป็นเรื่องที่ท่านประธานศาลฎีกาก็ให้แนวทางชัดเจนว่า การทำงานของศาลยุติธรรมต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน อย่างเมื่อมีคดีเข้ามาสู่ศาล ท่านประธานศาลฎีกาก็ให้ข้อแนะนำกับผู้พิพากษาอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกคำสั่งของศาลต้องให้เหตุผล ส่วนเหตุผลที่ให้นั้นจะมีคนเห็นด้วยหรือโต้แย้งอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขอให้เข้าใจก่อนว่าศาลเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราพยายามให้เหตุผล โดยทุกขั้นตอนตรวจสอบได้หมด ประชาชนสามารถรู้ได้หมดว่าคดีต่างๆ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดีในขั้นตอนใด สิ่งเหล่านี้คือความพยายามที่ต้องการทำให้การทำงานของศาลยุติธรรมโปร่งใสที่สุด.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
............................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |