รายงานความสุขโลกประจำปี 2564 เผยดัชนีความสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลกท่ามกลางภาวะโควิด-19 แพร่ระบาดในปีที่ผ่านมา พบฟินแลนด์รั้งอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนของไทยอันดับเท่าเดิม
แฟ้มภาพ ชาวฟินแลนด์ออกมาพบปะสังสรรค์กันท่ามกลางแสงแดดสดใสในสวนสาธารณะซอร์ซาปุยส์โตในเมืองตัมเปเร แม้จะเกิดโควิดระบาดและรัฐบาลห้ามการรวมตัวกันเกิน 10 คน
รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า รายงานความสุขโลก ที่ได้รับการสนับสนุนการจัดทำโดยองค์การสหประชาชาติเป็นปีที่ 9 อ้างอิงข้อมูลจากแกลลัพที่สอบถามประชาชนจาก 149 ประเทศ นำมาจัดอันดับความสุขของผู้คนในประเทศนั้นๆ พร้อมกันยังใช้มาตรวัดอื่นๆ ประกอบ เช่น จีดีพี, การสนับสนุนทางสังคม, เสรีภาพส่วนบุคคล และระดับของการคอร์รัปชัน เพื่อนำมาให้เป็นคะแนนเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2561-2563
และในปีนี้ ประเทศในยุโรปยังคงครองท็อปเท็นไว้อย่างเหนียวแน่นเช่นเดิม โดยฟินแลนด์ครองแชมป์เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ตามด้วย 2. เดนมาร์ก, 3. สวิตเซอร์แลนด์, 4. ไอซ์แลนด์, 5. เนเธอร์แลนด์, 6. นอร์เวย์, 7. สวีเดน, 8. ลักเซมเบิร์ก, 9. นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศนอกยุโรปชาติเดียวใน 10 อันดับแรก และ 10. ออสเตรีย
รายงานกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลเปลี่ยนแปลงอันดับความสุขโลกไม่มากนัก ประเทศที่อันดับขยับขึ้นมีอาทิ เยอรมนี ขึ้นจาก 17 เป็น 13 และฝรั่งเศส ขยับ 2 อันดับมาอยู่ที่ 21 ส่วนประเทศที่อันดับตกลงก็มีเช่น สหราชอาณาจักร ตกจาก 13 เป็นอันดับ 17 และสหรัฐ ตก 1 อันดับ มาอยู่อันดับ 19
จากท้ายตาราง อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ผู้คนมีความสุขน้อยที่สุดในโลก อยู่ในอันดับ 149 โดยประเทศที่มีอันดับเหนือกว่าจากล่างขึ้นบน ได้แก่ ซิมบับเว อันดับ 148, รวันดา อันดับ 147, บอตสวานา อันดับ 146 และเลโซโท อันดับ 145
อันดับของไทยในปีนี้อยู่ที่ 54 เท่ากับอันดับของปี 2563 ในกลุ่มชาติอาเซียน สิงคโปร์อันดับสูงสุดที่ 32 ส่วนฟิลิปปินส์อันดับ 61, เวียดนาม 79, มาเลเซีย 81, อินโดนีเซีย 82, ลาวอันดับ 100, กัมพูชา อันดับ 114 และเมียนมา อันดับ 126
คณะผู้จัดทำรายงานได้เปรียบเทียบข้อมูลของปีนี้กับค่าเฉลี่ยของปีก่อนๆ ด้วย เพื่อวัดผลกระทบของโรคระบาด และพบ "ความถี่ของอารมณ์เชิงลบสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ" กับประเทศกว่า 1 ใน 3 ของที่สำรวจ
ขณะเดียวกันก็พบว่า มีอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกใน 22 ประเทศ จอห์น เฮลลิเวลล หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าวว่า จากการให้ผู้คนประเมินชีวิตของตนเองก็น่าประหลาดใจว่า โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาไม่คิดว่าสวัสดิภาพในชีวิตของพวกเขาลดน้อยลง คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ ผู้คนมองโควิด-19 เป็นภัยคุกคามภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนเหมือนกันหมด และสิ่งนี้สร้างความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและเป็นเพื่อนกันมากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |