นี่เป็นแผนที่แสดงเส้นทางของท่อส่งน้ำมันและแก๊สของจีน ที่วิ่งมาจากยูนนานทางใต้ของจีนไปออกอ่าวเบงกอลผ่านเมียนมา
และนี่เป็นหนึ่งใน "ความกังวล" ของจีนเมื่อเกิดความวุ่นวายในเมียนมาหลังการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เป็นหนึ่งใน "ผลประโยชน์จีนในเมียนมา" ที่เป็นปัจจัยหลักในการวางท่าทีของปักกิ่งต่อสถานการณ์ความสับสนในเมียนมาวันนี้
การจะประเมินท่าทีของจีนต่อเมียนมาวันนี้อย่างไร ต้องไม่ลืมพิจารณาประเด็นเรื่อง "เดิมพัน" ของจีนในประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ที่เป็นรอยเชื่อมต่อที่สำคัญยิ่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, ความมั่นคง และการขยายอิทธิพลของตนลงมาทางใต้สู่มหาสมุทรอินเดีย
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt One Road
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ China-Myanmar Economic Corridor หรือระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา
เพียงสองสัปดาห์ก่อนรัฐประหารครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ไปเยือนเมียนมา จับมือกับอองซาน ซูจีเพื่อลงนามในการก่อตั้ง "ระเบียงเศรษฐกิจ" นี้
และเซ็นสัญญาย่อยของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานถึง 38 โครงการ
จีนคบกับอองซาน ซูจีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และไปมาหาสู่กับพลเอกมิน อ่อง หล่ายของกองทัพอย่างสม่ำเสมอ
เป็นยุทธศาสตร์ "รักษาระยะห่างอันเหมาะควร" กับเมียนมาอย่างชาญฉลาด
แต่เมื่อเกิดรัฐประหารและความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างสองค่ายในเมียนมา ปักกิ่งก็ตกอยู่ในสภาพที่ต้องประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวัง
จึงเป็นที่มาของคำกล่าวของทูตจีนประจำเมียนมาว่า
"สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาวันนี้ มิใช่สิ่งที่จีนอยากจะเห็น"
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์จากผู้ประท้วงบางฝ่ายว่า จีนอยู่เบื้องหลังทหารเมียนมาในการยึดอำนาจครั้งนี้ และอาจจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาช่วยกองทัพวางแผนสกัดกั้นการใช้อินเทอร์เน็ตของฝ่ายประชาชนด้วยซ้ำ
จีนปฏิเสธ "ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด" เหล่านี้ทั้งหมดว่าเป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีเหตุผล
ขณะเดียวกัน Voice of America (VOA) อ้างว่าได้รับเอกสารภายใน ที่มีข้อมูลว่าทางการจีนขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่มการรักษาความปลอดภัยบริเวณท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เชื่อมต่อกับจีนเมื่อเดือนที่แล้ว
เป็นจังหวะที่การประท้วงต่อต้านรัฐประหารยังดำเนินไปอย่างรุนแรง
นั่นแสดงถึงความตึงเครียดของทั้งสองรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกองทัพเมียนมา
จากเดิมที่เคยมีความสนิทสนมกันพอสมควร
เอกสารที่วีโอเออ้างถึงนี้บอกด้วยว่า รัฐบาลปักกิ่งขอให้ทางการเมียนมาออกข่าวเชิงบวก จากการพบปะหารือระหว่างเจ้าหน้าที่จีนกับเจ้าหน้าที่เมียนมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นก็มีข่าวว่า กองทัพได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้วางแผนสร้างภาพลักษณ์ว่าฝ่ายกองทัพเมียนมารักษาระยะห่างจากรัฐบาลปักกิ่ง
นักวิเคราะห์ที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ประเมินว่า การที่จีนเรียกร้องทั้งสองเรื่องจากระบอบทหารของเมียนมา สะท้อนถึงความไม่ลงรอยที่อาจจะเพิ่มระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของงานที่จีนมีส่วนร่วมกับเมียนมาภายใต้โครงการ One Belt One Road
นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ปักกิ่งประกาศตอนที่เกิดรัฐประหารใหม่ๆ ในเมียนมาว่าเป็น "กิจการภายใน" ของประเทศนั้นที่จีนจะไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซง
แต่แล้วต่อมาจีนก็ร่วมกับสมาชิกอื่นๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เห็นชอบร่างแถลงการณ์ประณามความรุนเเรงที่เกิดขึ้นและเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้งในเมียนมา
รวมถึงการเร่งเร้าให้กองทัพปล่อยตัวนางอองซาน ซูจีโดยทันที
เป็นภาษาการทูตเข้มข้นที่จีนในอดีตจะไม่ยอมให้ผ่านไปง่ายๆ
วันนี้การเมืองและเศรษฐกิจของจีนเปลี่ยนไป เพราะปัจจัยผลประโยชน์ด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และดุลแห่งอำนาจใหม่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
ท่าทีลีลาของจีนต่อเหตตุการณ์ในเมียนมาวันนี้จึงน่าติดตามและประเมินองศาแห่งความพลิกผันอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยใหม่ นั่นคือการที่โรงงานจีนหลายแห่งถูกเผาที่ชานเมืองย่างกุ้ง
ทำให้รัฐบาลจีนแสดงท่าทีกร้าว ยืนยันว่ากองทัพเมียนมาต้องจับคนทำผิดมาลงโทษให้ได้
ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจีนในหมู่ผู้ประท้วงรอบใหม่...และความอึดอัดของกองทัพเมียนมาต่อปักกิ่งอีกมิติหนึ่ง
ทำให้ปมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอองซาน ซูจีและกองทัพมีอันต้องเพิ่มความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกหลายระดับทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |