สสส.เปิดประตูเยาวชนสู่เส้นทาง "นวัตกรรุ่นใหม่" ส่งเสริมชีวิตวิถีใหม่ จับมือผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ จัดค่าย 3 วัน 2 คืน บ่มเพาะ Design Thinking สร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ผลิตผลงานเพื่อสุขภาพ ครูคือโค้ช ประกาศรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพปี 3 “ThaiHealth Inno Awards” คัดจาก 319 ทีม กลั่นเหลือ 20 ทีม เฟ้นดรีมทีมนวัตกรรมเพิ่มกิจกรรมทางกาย จากทีม 16 ยังแจ๋ว รร.ชลกันยานุกูล ชลบุรี นวัตกรรมในซอยแคบลดอุบัติเหตุ ทีม R-lu-mi-right วิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา ทีม SRPC Save the World สุราษฎร์ฯ เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสำหรับครัวเรือนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หนุนต่อยอดนวัตกรรุ่นใหม่ ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งเสริมคนไทยมีสุขภาพดีหลากมิติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิวายไอวาย และภาคีเครือข่าย จัดพิธีประกาศผลรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ : “ThaiHealth Inno Awards” ครั้งที่ 3 ที่ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 319 ทีม ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 20 ทีม และได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาผลงาน เยาวชนทั้ง 20 กลุ่มได้รับใบประกาศเกียรติบัตร มีข้อความ ThaiHealth Inno Awards ครั้งที่ 3 ขอมอบเกียรติบัตรเพื่อแสดงว่า....ทีม....มีผลงานได้ผ่านการเข้ารอบ พร้อมลายเซ็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กก.บอร์ด สสส.
ทั้ง 20 ทีมที่ผ่านคัดเลือกเข้ารอบมาแล้ว ได้แก่ ทีม 16 ยังแจ๋ว ทีมน้องจุก ทีมวุยก๊กจะเฟื่องฟู ศัตรูจะแพ้พ่าย ทีมก็จ๊าบอะค้าบ ทีม Eye Smart ทีม SRPC Save the World ทีม Non-Alcoholic Heart ทีม Change of the World ทีม iF ทีม Mito Team ทีม Go Go SMA KB ทีมเครื่องกลลูกพระธาตุ 1 ทีม R-lu-mi-right FiFo light ทีมลูกแก้ว ทีม Can’t stop.but can fix หยุดไม่ได้แต่แก้ไขได้ SOT เพื่อนใจในเรื่องรัก ทีม Amico I you know go tell ทีม BizcomPN SEX EDUBOT ทีม Platea ทีม SBA ทีม RCC
ด้วยข้อคิดของเยาวชนที่เข้าค่ายบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่ปี 3 “จะล้มกี่ครั้ง เราก็ต้องลุกขึ้นมาได้เอง” “ทำไม่สำเร็จครั้งนี้ ครั้งหน้าทดลองใหม่ให้สำเร็จ” “ล้มทุกครั้งก็ต้องคิดพัฒนาตัวเอง” “เราต้องใช้ประสบการณ์ประสานกันเป็นทีม เรียนรู้ไปด้วยกัน” “เราต้องสร้าง story ในการทำงานซึ่งไม่มีการสอนในโรงเรียน เราได้เรียนรู้จากการเข้าค่ายครั้งนี้ ได้มีมิตรภาพจากเพื่อนที่หลากหลาย” “ประสบการณ์ที่ไม่ได้เกิดจากห้องเรียน เป็นการทำงานเพื่อสังคม”
คีย์แมนสำคัญในงาน รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คนแรก กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สสส. ค่ายอบรมครั้งนี้ยึดหลักตามกฎบัตร OTTAWA Charter เป็นกฎบัตรสร้างเสริมสุขภาพของโลกที่ใช้ร่วมกัน ผู้เชี่ยวชาญของโลกประชุมร่วมกันที่ประเทศแคนาดากำหนดมาตรการ 5 มิติคือ 1.คนต้องเก่งขึ้น ใช้ขีดความสามารถส่วนบุคคล 2.มีนโยบายสาธารณะ 3.ชุมชนมีสุขภาพดี 4.มีนโยบายสาธารณะที่ดี 5.ปรับเปลี่ยนบริการสุขภาพทั้งแพทย์ พยาบาล ด้วยการสร้างนวัตกรรมที่ดี ทั้งนี้ยังได้นำเสนอปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ทำให้มีสุขภาพที่ดี
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำหน้าที่ประธานมอบรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพปี 3 “ThaiHealth Inno Awards” กล่าวว่า นักเรียนระดับมัธยมและนักเรียนอาชีวะมาร่วมงาน สสส. ทำงานเรื่องใหญ่ของประเทศ “ผมเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วย การ Creative เป็นเรื่องสำคัญ ในการใช้ทรัพยากรจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่าการรักษา หมอจะได้ทำงานน้อยลง Health Promotion หรือการป้องกันการเจ็บป่วย สิ่งประดิษฐ์ที่ได้มาจึงเป็นเชิงทางการแพทย์และการรักษา โลกปัจจุบันเผชิญกับปัญหาโควิดเป็นวิกฤติของประเทศ ปัญหา PM2.5 ปัญหา Climate Change โรค NCDs ได้รับการแก้ไขด้วยไอเดียใหม่ๆ คำคมที่ Plato นักปรัชญาของโลก กล่าวไว้ว่า ความขาดแคลนเป็นบ่อเกิดให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ดังนั้น invention ใกล้เคียงกับ Innovation การจัดงานครั้งนี้ รางวัลเป็นจุดสุดยอด แต่ผมเชื่อว่าเราอยากเห็นในระหว่างทางมีไอเดียสิ่งปฏิบัติมีความสำคัญมากกว่ารางวัล เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังเยาวชนทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นด้วย ผลงานของเยาวชน สสส.จะจดทะเบียนลิขสิทธิ์และส่งเสริมให้เด็กคิดต่อยอดต่อไป”
นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยฝีมือเยาวชนทั้ง 20 ทีม เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาทุกขภาวะของพื้นที่ใกล้ตัว โดยในปีนี้ สสส.ได้กำหนดแนวคิดการประกวด “ชีวิตดีเริ่มที่เรา” ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน หรือช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในหัวข้อ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่, ลดอุบัติเหตุทางถนน, เพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ และอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ, เพิ่มกิจกรรมทางกายหรือลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง, การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เช่น การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. ซึ่งในปีนี้พบว่าเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดีที่ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพเข้ามาอยู่ในความสนใจของเยาวชนมากขึ้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทิศทางการทำงานของ สสส.ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมามุ่งสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” มิใช่การซ่อมหรือรักษา เป็นแนวทางการทำงานให้มีสุขภาพที่ดี เราได้คิดค้นนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อจัดสรร ออกแบบสิ่งแวดล้อมรอบตัวประชาชนให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะ 4มิติ คือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา โครงการ ThaiHealth Inno Awards จึงเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนวิธีการทำงานของ สสส. โดยเยาวชนจะต้องรู้จักสำรวจปัญหาหรือความต้องการของสังคม เพื่อนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคม อีกทั้งโครงการนี้ยังเกิดการสานพลังจากหลายภาคส่วนในการร่วมกันออกแบบกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้กับเยาวชน ภายหลังสิ้นสุดการประกวดแล้ว สสส.ยังมีกระบวนการติดตาม ให้คำปรึกษาแก่เยาวชน เพื่อดึงความร่วมมือจากภาคีภาครัฐและเอกชนมาร่วมสนับสนุนต่อยอดและขยายผลงานนวัตกรรมต่อไป
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ “รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา” ได้แก่ Real Time Exercise Game by Instagram Filter จากทีม 16 ยังแจ๋ว โรงเรียนชลกันยานุกูล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ อุปกรณ์เตือนภัยขาตั้งสำหรับรถจักรยานยนต์ 1 ได้ถึง 3 (ขาตั้งสติแตก) จากทีม IF โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ตุ๊กตาช่วยเตือนจุดเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในการขับรถ ทีม Mito Team โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา
นอกจากนี้ “รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา” ได้แก่ FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบ ทีม R-lu-mi-right วิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง “น้องจุกผจญภัย” ทีมน้องจุกจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสําหรับครัวเรือนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากทีม SRPC Save the world วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี และมีรางวัลพิเศษ Rising star ที่มีความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีโอกาสพัฒนาต่อในอนาคตได้ 2 รางวัล ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา Water scrubber system face mask หน้ากากจากระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (D-mask ดีม้ากกก) ทีมวุยก๊กจะเฟื่องฟู ศัตรูจะแพ้พ่าย โรงเรียนชลราษฎรอำรุง ได้แก่ ระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ BizcomPN (SEX EDUBOT) ทีม BizcomPN วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี
ดร.สุปรีดากล่าวว่า สสส.ภาคภูมิใจมากกับผลงานนวัตกรเยาวชน ขณะนี้เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด ทีม “ต้นยางสารภี” “รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา” ผลงานของวิทยาลัยเทคนิคสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นำมาผลิตเป็นนวัตกรรมแล้ว ด้วยพฤติกรรมนิยมอาหารทอดของคนไทย จึงออกแบบเครื่องสลัดน้ำมันโดยใช้หลักการปั่นผ้าแห้งของเครื่องซักผ้า ใช้แรงเหวี่ยงหมุนสะบัดเพื่อให้เหลือน้ำมันตกค้างในอาหารน้อยที่สุด มีขนาดเล็ก ราคาถูก สามารถใช้ได้ในครัวเรือน หรือพัฒนาให้เหมาะสมกับเชิงพาณิชย์ได้ สิ่งที่สำคัญก็คือสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพจากการได้มองเห็นถึงความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมันปริมาณจำนวนมากที่ต้องรับประทานเข้าไปในแต่ละเมนู.
ค่าย WORKSHOP เสมือนเพื่อนร่วมทางบนโลกใบเล็กสู่โลกใบใหญ่
ทีม 16 ยังแจ๋ว “เพื่อนสนิทสั่งลุย” นร.ชั้น ม.5 สายวิทย์ รร.ชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี
นวัตกรรมเพิ่มกิจกรรมทางกายด้วยไอเดียเด็กๆ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในสังคมก้มหน้าผ่าน Real Time Exercise Game ทีม 16 ยังแจ๋ว นักเรียนชั้น ม.5 สายวิทย์ รร.ชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี ณัฐณิชา (ไอซ์) เลิศกิจเจริญผล, ภัทรสิรี ศิริเธียรวานิชกุล, เมติยา เชื้อจั่น, ศิวพร ศรีจรัญ (ที่ปรึกษา) “เพื่อนสนิทสั่งลุย”
ไอซ์-ณัฐณิชา นร.รร.ชลกันยานุกูล เป็น รร.ประจำจังหวัดชลบุรี เคยเป็นทูตเยาวชนได้รับการคัดเลือกจาก สวทช.เข้าร่วมโครงการ JENESYS ประจำปี 2562 ไปโตเกียว จ.นิกาตะ ประเทศญี่ปุ่น สังเกตสังคมรอบตัวมีพฤติกรรมเนือยนิ่งกับสังคมก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์มือถือ นั่งนิ่งๆ ไม่ยอมขยับทำอะไร ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนั่งๆ นอนๆ ดูโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ นั่งทำงานหน้าจอนานเกินไป ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เกิดไอเดียชวนเพื่อนๆ ลุกขึ้นมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกัน ลดการเนือยนิ่ง ใช้ Filter ท่าที่จะต้องอุ้มเพื่อนหรือท่าที่ต้องกางแขนขาทำให้มีการขยับร่างกายมากยิ่งขึ้น สนุกสนานในการคิดท่าเต้นเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ เล่นเป็นทีมจะสนุกสนานมากกว่าการเล่นเพียงคนเดียว
ณัฐณิชา(ไอซ์) เลิศกิจเจริญผล, ภัทรสิรี ศิริเธียรวานิชกุล, เมติยา เชื้อจั่น เพื่อนสนิททั้ง 3 คนเชิญครูศิวพร ศรีจรัญ เป็นที่ปรึกษา ด้วยข้อคิดที่ว่า ถึงจะติดโทรศัพท์มือถือก็ออกกำลังกายได้ด้วยฟิลเตอร์ IG ชวนมาขยับร่างกายวันละนิด มีฟิลเตอร์ให้เลือกถึง 4 แบบตามใจชอบ เล่นคนเดียวไม่สนุกเท่ากับชวนเพื่อนข้างๆ ขึ้นมาลุกขยับไปพร้อมๆ กันได้ จะขยับไปทั้งตัวก็ต้องให้ฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์เหมือนเป็นเทคโนโลยีที่ครอบคลุมไปทั่วโลก มีชาวต่างชาติเข้ามาดูเป็นจำนวนมาก ฟิลเตอร์เป็นเหมือนสื่อกลางเข้ามาสนุกสนาน ขยับตัวเป็นการออกกำลังกาย ฟิลเตอร์ Monster rush แรงบันดาลใจมาจากเกมกระโดดเชือก ฟิลเตอร์ Stretching แรงบันดาลใจจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมาย (ยืดเหยียด) ฟิลเตอร์ Bento cooking จากผู้ติดตาม IG (เกมทำอาหาร) ฟิลเตอร์ Buddy stretches เล่นกับเพื่อนได้ 2 คนขึ้นไป มีการเผยแพร่ Content ชื่อ 16 yoingjaew ด้วยข้อความที่เกี่ยวกับพฤติกรรมเนือยนิ่งที่สั้น กระชับ
ใครๆ ก็เล่น Instagram คนนั่งทำงานนานขึ้นและยังติดสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น ไม่ได้ขยับตัวลุกขึ้น จึงต้องคิดท่าออกกำลังกายผ่านแอป ในช่วงที่เราคิดทำงานร่วมกัน น้ำหนักลดกันไปคนละ 3-4 กก.
นวัตกรรมลดอุบัติเหตุในซอยแคบ FIFO light ทีม R-Lu-mi-right
วิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา จ.สงขลา
ธนดล ศรีเพชร, ภูมิพัฒน์ คงหนู, เอกศักดิ์ เทพยา (ที่ปรึกษา)
ด้วยนวัตกรรมในซอยแคบและยังมีหลายแยก ไม่รู้ว่าจะมีรถสวนเข้ามาหรือไม่ ขับออกไปจะเจอรถคันอื่นตัดหน้าหรือไม่ อู๋ ในฐานะตัวแทนของทีมได้รับโจทย์จากอาจารย์ คิดว่า FIFO Light ด้วย AR และเซ็นเซอร์เกิดขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุ แถมยังช่วยลดการโต้เถียงการขัดแย้งระหว่างผู้ใช้รถใช้ถนนอีกด้วย อู๋มีความถนัดทำ coding ได้ประสานพลังกับรุ่นพี่ช่วยต่อวงจรไฟฟ้าและนำไปทดลองในช่วงเช้าเย็นที่การจราจรติดขัด สร้างผลการเรียนรู้ให้นำไปพัฒนาต่อ
การจัดลำดับสัญญาณไฟจราจรในถนนเลนเดียวในซอยแคบ ด้วยระบบตรวจจับวัตถุด้วยภาพ AR และเซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุด้วยคลื่นเสียง (IR) เชื่อมโยงกับการออกแบบแหล่งจ่ายไฟฟ้าที่ติดตั้งได้สะดวก ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ
เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสำหรับครัวเรือนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทีม SRPC Save the world
นวัตกรรมส่งเสริมชีวิตวิถีใหม่ เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสำหรับครัวเรือนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทีม SRPC Save the world ยุทธศักดิ์ รักษ์แดง, ก้องเกียรติ ชุนปักษี, สุทธิพล แจ่มเหมือน นศ.ปีที่ 3 วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ชัยยะ แซ่เฮง (ที่ปรึกษา) “Happy เสมอขอแค่มีเพื่อน อยากให้เครื่องผลิตปุ๋ยถูกนำไปใช้ได้จริง หมักได้ ปั่นได้ อยากให้คนในชุมชนข้างโรงเรียนและคนที่ขายของในโรงอาหารได้ใช้”
“ทีมนี้ทำงานเป็นทีม ทำไรทำกันไม่เคยท้อ ขยัน อดทน ทุกคนในทีมสนิทสนมกันอยู่แล้ว สิ่งต้องปรับคืองานระบบควบคุมที่ยังต้องช่วยกันคิดต่อ ทุกคนในทีมพูดไปยิ้มไป สัมผัสได้ถึงความเป็นทีมที่เหนียวแน่น” ปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านขยะมูลฝอยเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ครึ่งหนึ่งของขยะที่เกิดจากชุมชนเป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ แต่ต้องใช้กระบวนการผลิตที่ให้อุณหภูมิสูงเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในวัสดุหมัก เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์แก่พืช ด้วยแนวคิดปัญหาเศษขยะอาหารกองล้น การทำเครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร นำเศษอาหารหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพนำไปใช้ประโยชน์ให้พืชพันธุ์งามตาได้ อีกทั้งเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันไลน์รายงานการทำงานอยู่เสมอ
เงินลงทุน 1.7 หมื่นบาท เมื่อเพื่อนทั้ง 4 คนเรียนด้านช่างไฟฟ้า เพชร เจมส์ เบียร์ คิมช่วยกันคิดประดิษฐ์เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสำหรับครัวเรือนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเสียบปลั๊กใช้กับไฟฟ้าในครัวเรือนยามค่ำคืนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ได้ ใส่เศษอาหาร กระดูก น้ำแกง ผลิตเป็นปุ๋ยใช้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง แจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ นำไปปลูกต้นไม้ได้อย่างดี เครื่องสามารถปั่นได้อย่างละเอียด ทุกอย่างต้องสร้างขึ้นมาเอง ในช่วงแรกก็ต้องใช้เงินเราเองก่อน แล้ว สสส.ให้เงินกลับคืนมา
ตุ๊กตาช่วยเตือนจุดเสี่ยงเพื่อความปลอดภัยในการขับรถ ทีม Mito Team โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา
ทีม Mito Team นักเรียนชั้น ม.5 รร.ศรีตระกูลวิทยา จ.ศรีสะเกษ พิชญาภา สุดสังข์, อุบลวรรณ มะยม, พิชชาภา สายจันทร์, สกฤตา บุตรอ่อน (ที่ปรึกษา) ชื่อทีม Mito Team แต่เดิมเรียกกันว่าทีมมีดอีโต้ ต่อมาเป็นทีม Mito ก็จำได้ง่ายขึ้น จากการสังเกตเมื่อเรานั่งรถต้องเจอจุดเสี่ยง ยิ่งเป็นเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย โอกาสเกิดมีอุบัติเหตุสูงขึ้น เพราะหยุดรถไม่ทัน อันตรายทั้งคนนั่งและคนขับ เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ถ้ามีตุ๊กตาช่วยเตือนจุดเสี่ยงล่วงหน้าถึง 200 เมตร สิ่งสำคัญคือต้องเก็บข้อมูลจุดเสี่ยงจากสถานีตำรวจ อ.ขุขันธ์ เจ้าหน้าที่พยาบาลแผนกฉุกเฉิน รพ.ขุขันธ์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ ออกแบบอุปกรณ์ติดตั้งแบบกล่องสี่เหลี่ยมด้วยเครื่องพิมพ์ 3D เชื่อมต่อเซ็นเซอร์และบอร์ด ESP8266 และโมดูล GPS
แล้วนำมาบันทึกเป็นข้อมูลเฉพาะ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ รร. แล้วทำเป็นเสียงเตือนของคนในครอบครัว อีก 200 เมตรทางโค้งอันตราย (บนทางโค้ง) อีก 200 เมตรจุดเสี่ยงอันตราย (บนทางตรง) อีก 200 เมตรสามแยกอันตราย (บนทางสามแยก) อีก 200 เมตรสี่แยกอันตราย (บนทางสี่แยก) จริงๆ แล้วสามารถเก็บข้อมูลของ จ.ศรีสะเกษได้ทั้งหมด หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่ต้องใช้เวลา ก่อนหน้าที่จะมีการใช้งานจริงได้ทดสอบกับรถของครู จำนวน 15 ท่าน ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |