‘วันอ้วนโลก’ คนไทย 20.8 ล้านคน น้ำหนักเกินมาตรฐาน


เพิ่มเพื่อน    

คนไทยเป็นโรคอ้วนลงพุงสูงถึง 20.8 ล้านคน หญิงอ้วนกว่าชาย 14 ล้านคน : ชาย 6.8 ล้านคน สสส.-เครือข่ายคนไทยไร้พุง แจงตัวเลขเนื่องใน “วันอ้วนโลก” เสี่ยงป่วยโรค NCDs ชี้โรคอ้วนเป็นภัยคุกคามชีวิต จุดเริ่มต้นของสุขภาพแย่ ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดโควิด-19 อาการรุนแรงและเสียชีวิต เกิดปมด้อย เร่งสร้างสังคม “ลดหวาน มัน เค็ม” ตระหนักภัยร้าย “น้ำหนักเกิน”

           คนไทยทั้งหญิงและชายเป็นโรคอ้วนลงพุงสูงถึง 20.8 ล้านคน...เป็นผู้ชาย 6.8 ล้านคน เป็นผู้หญิง 14 ล้านคน ลักษณะที่เรียกว่าอ้วนลงพุง เส้นรอบเอวตั้งแต่ 80 ซม.ขึ้นไป (เพศหญิง) เส้นรอบเอวตั้งแต่ 90 ซม.ขึ้นไป (เพศชาย) ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (เพศหญิง) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (เพศชาย) ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ระดับความดันโลหิต 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ระดับน้ำตาลในเลือด 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป

            “อ้วนลงพุง” มหันตภัยเงียบที่คุณคาดไม่ถึง อ้วนลงพุงเกิดจากการมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ไขมันนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดเป็น “โรคอ้วนลงพุง” ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ นับตั้งแต่ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เมตาบอลิกซินโดรม โรคหลอดเลือดดำอุดตัน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคไขมันเกาะตับ โรคซึมเศร้า โรคหลอดลมอุดกลั้น โรคหอบหืด คุณภาพไตลดลง เพิ่มอัตราการเสียชีวิต โรคเกาต์ โรคข้อเข่าเสื่อม

           อ้วนลงพุงเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไขมันสะสมที่หน้าท้องและมีรอบเอวขนาดใหญ่ ทั้งยังมีระดับความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ได้มากขึ้น บุคคลที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนลงพุง ผู้สูงอายุ ชาวเอเชียหรือผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกา-คาริบเบียน ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวอ้วนลงพุงหรือเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2

            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนาถอดบทเรียนสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ (รางน้ำ) กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคม ทุกคนร่วมมือลดภัยโรคอ้วนเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงภัยเงียบที่แฝงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมจนน้ำหนักเกิน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ (NCDs : non-communicable diseases)

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์

 

             ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบ “คนอ้วน” มากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ

           โดยในปี 2557 ถึงปัจจุบัน พบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs

            “สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) กำหนดให้มีวันอ้วนโลก มีเป้าหมายให้ทุกคนเห็นว่า “น้ำหนักเกิน” เป็นภัยคุกคามชีวิต เพราะ "ความอ้วน” คือจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง เกิดปมด้อย อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า หากทุกคนรู้วิธีป้องกันและดูแลเรื่องอาหารและมีกิจกรรมทางกาย จะช่วยลดความเสี่ยงได้”  ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณีกล่าว

             การป้องกันอ้วนลงพุง คือ ควบคุมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เพื่อควบคุมน้ำหนักและลดการสะสมของไขมันหน้าท้อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 150-300 นาที ทำกิจกรรมหรือทำงานอดิเรกเพื่อการผ่อนคลายความเครียด และเลิกสูบบุหรี่ ฯลฯ

 

ดร.สง่า ดามาพงษ์

 

            ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และนักโภชนาการอิสระ กล่าวว่า การใช้ชีวิตประจำวันทำให้เกิด “โรคอ้วน” ได้ เพราะการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคหวาน มัน เค็มมากเกินไป ใช้ชีวิตไม่สมดุล ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวเกินและส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งสิ้น ส่วนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม ในทางการแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย สิ่งที่ดีที่สุดคือ กินผัก-ผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม มีกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้ร่างกาย เพราะความอ้วนเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไตวาย เกาต์ ตับแข็ง ฯลฯ หากสังคมสานพลังรักสุขภาพจะช่วยหยุดปัญหาเหล่านี้ได้

 

           รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ กรรมการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์พบว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าติดโควิด-19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรกๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรกๆ ที่เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs

 

          พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราสามารถป้องกันไม่ให้อ้วนได้ โดยกินอาหารที่พอเหมาะ ให้ได้พลังงานเพียงพอกับงานและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน คนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนัก สามารถเน้นการลดปริมาณอาหารที่กินให้น้อยลงได้ด้วยการเลือกรูปแบบการกินอาหารแบบใดก็ได้ เช่น แบบอาหารคีโต (Keto diet) กินแบบจำกัดเวลา หรืองดอาหารช่วงยาวในแต่ละวัน (Intermittent Fasting, IF) หรืออาหาร 2:1:1 แต่ต้องกินให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้เกิดโทษกับร่างกาย

 

            อรณา จันทรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกาย หมายถึง กิจกรรมที่มีการใช้พลังงานในทุกรูปแบบ “ทุกขยับนับหมด” จึงสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะเมื่อมีเวลาออกกำลังกาย การมีกิจกรรมทางกายประจำ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดไขมัน ควบคุมน้ำหนัก และป้องกันโรคเรื้อรังได้ เมื่อทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพแข็งแรงและจิตแจ่มใส แนะนำให้คนอ้วนที่เริ่มลดน้ำหนักเริ่มต้นด้วยวิธีง่ายๆ เช่น อาจเริ่มเดินให้ครบ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่จะพิชิตเป้าหมายแต่ละวันให้สำเร็จ เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้วไปออกกำลังกายด้วยกัน หาสถานที่และปรับวิถีชีวิตให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย

 

เด็กจ้ำม่ำเป็นต้นตอเกิดโรคมากมาย

1.โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

2.โรคระบบทางเดินหายใจ เพราะไขมันสะสมรอบทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

3.โรคกระดูกและข้อต่อ น้ำหนักตัวกดกระดูกและข้อต่อต่างๆ ทำให้ปวดหลัง ขาโก่งหรือปวดข้อ

4.โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ นิ่วในถุงน้ำดี

5.โรคผิวหนังผิดปกติ ผิวหนาดำคล้ำที่รักแร้ คอและขาหนีบ เพราะเกิดจากผิวหนังเสียดสีกัน

6.โรคมะเร็ง มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน

7.กลุ่มอาหารเมตาบอลิก ภาวะอ้วนลงพุง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง

8.โรคซึมเศร้าหรือเครียด ไม่กล้าแสดงออก เพราะไม่มั่นใจรูปลักษณ์ของตัวเองหรือถูกเพื่อนล้อ

9.โรคอ้วน ความเสี่ยงต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

ปฏิบัติการลดน้ำหนักเด็กอ้วน

1.สำรวจสิ่งที่เด็กกินในชีวิตประจำวันว่าเด็กรับประทานแป้งมากเกินไป หรือกินอาหารทอดมากไปหรือไม่

2.เด็กวัยเรียนสอนให้เข้าใจเรื่องการกินอาหาร และเด็กต้องรับรู้ว่าตัวเองอ้วน

3.ปรับปรุงวิธีการปรุงอาหาร เน้นต้ม นึ่ง เพื่อช่วยลดปริมาณไขมัน

4.สร้างวินัยทางบวกด้วยวิธีละมุนละม่อม ไม่เป็นการทำร้ายจิตใจเด็ก ให้เขารู้สึกว่าเป็นการบังคับหรือแย่งชิงขนมมาจากเขา ใช้วิธีการขอหรือแบ่งปัน โดยใช้เหตุผลที่ง่ายสอดคล้องกับวัยที่เขาจะเข้าใจได้ เน้นการกระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากทำมากกว่า และเพิ่มแรงจูงใจโดยการให้ความชื่นชมกับเขาด้วย

5.ลดความอ้วนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำให้เด็กรู้สึกฝืนใจหรือลำบาก โดยวิธีการควบคุมปริมาณพลังงานจากอาหารให้ลงไปราว 300-500 กิโลแคลอรี่/วัน น้ำหนักลดลงได้ครึ่ง-1 กก./สัปดาห์

6.อาหารเช้าคือมื้อสำคัญ เมนูคุณภาพง่ายๆ ข้าวต้ม โจ๊ก หรือข้าวสวยกับแกงจืด เนื้อสัตว์เลาะไขมันออก หรือเนื้อปลา หรือถ้าบางวันไม่มีเวลาปรุง เป็นแซนด์วิชกับนม 1 แก้วก็ได้

7.ช่วงเวลาอาหารเย็นเหมาะกับการฝึกเด็กกินผัก ผลไม้ พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างพฤติกรรมใหม่ในการกินอาหาร

8.ชวนเด็กออกกำลังกายหรือเล่น อย่าปล่อยให้เอาแต่นั่งๆ นอนๆ

              

SOOK PUBLISHING เรียบเรียงข้อมูลจากครอบครัวอ่อนหวาน สนับสนุนโดยกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน http://resource.thaihealth.or.th/library/10363 สารพัดโรครุมเร้าเด็กอ้วน โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. Htttp://resource.thaihealth.or.th/media/thaihealth/14584#0

 

 

แพทย์หวั่นคนไทยกินหวาน ดื่มเหล้าจัด รัฐจ่ายให้ผู้ป่วย NCDs 5 แสนล้านบาท/ปี

แพทย์หวั่นวิตกคนไทยกินหวาน ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ยั้ง สารพัดโรครุมเร้า แจงตัวเลขรัฐจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยโรค NCDs 4-5 แสนล้านบาท/ปี เตือนคนไทยบริโภคน้ำตาลเกิน ระวังไขมันพอกตับ เสี่ยงมะเร็งตับ WHO หนุนไทยปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลตามกรอบเวลาเดิม กระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับสูตรลดน้ำตาล สสส.ชวนคนไทยบริโภคหวานให้น้อยลง สร้างสุขภาพ ป้องกัน NCDs

 

            ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าร่างกายสามารถขับน้ำตาลทั้งหมดออกมาได้ แต่ในทางการแพทย์พบว่า ถ้าบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากเสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับสูง เพราะน้ำตาลที่ค้างในร่างกายจะแปรสภาพเป็นไขมันเกาะตามกล้ามเนื้อและตับ ทำให้อ้วนลงพุง หากปล่อยไว้นานจะทำให้อวัยวะต่างๆ อักเสบเรื้อรัง สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดโรคคือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอันดับ 2 คือ บริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็น

           “น้ำตาลมีส่วนทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) เช่น มะเร็งตับ ไขมันเกาะตับ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ไขมันอุดตันในหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน และโรคอ้วน ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย รัฐบาลต้องใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาทต่อปี จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้ปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกๆ 2 ปี และอีกไม่กี่เดือนจะถึงเวลาต้องปรับภาษีเพิ่มอีก เสนอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ควรชะลอ เพราะหากควบคุมปริมาณน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มได้ จะช่วยลดปัญหาคนป่วยได้ส่วนหนึ่ง และที่ผ่านมาได้ให้เวลาผู้ประกอบการเครื่องดื่มปรับสูตรลดน้ำตาลในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์มา 4 ปีแล้ว การเดินหน้าเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มปรับตัว เพราะถ้าลดปริมาณน้ำตาลที่ผสมในเครื่องดื่มลงได้ก็จะไม่ต้องเสียภาษีมาก คนไทยก็จะได้บริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยลง” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว

 

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม

 

             ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ผู้ทรงคุณวุฒิและรักษาการผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3 in 1) และเครื่องดื่มเข้มข้นตามปริมาณน้ำตาล โดยจัดเก็บเป็นระบบขั้นบันได และปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 2 ปี ให้ได้ตามเกณฑ์แนะนำที่ 6% ในปี 2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มในภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

          “จากการศึกษาปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ดื่มเฉลี่ยต่อวันในกลุ่มประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบกลุ่มตัวอย่างมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงจาก 283.6 มิลลิลิตร ในปี 2561 เป็น 275.8 มิลลิลิตร ในปี 2562 หรือลดลงร้อยละ 2.8 โดยกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีการบริโภคลดลงสูงสุดร้อยละ 7.2 ขณะที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม พบปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปี 2555-2562 ว่า ระหว่างปี พ.ศ.2551-2560 คนไทยบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น แต่หลังการบังคับใช้เรื่องภาษี พบคนไทยบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 15.3 ในปี 2561 และร้อยละ 14 ในปี 2562

 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม

 

            ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โรคที่เกิดขึ้นกับคนไทย 2 ใน 3 ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินหวานที่ล้นเกิน โดยบริโภคน้ำตาลมากกว่า 6 ช้อนชา/วัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) ซึ่งผลสำรวจพบว่า ร้ายแรงกว่าโควิด-19 กว่า 5 เท่า เพราะพบคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs เฉลี่ยวันละ 1,000 คนต่อวัน ขณะที่ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการกินของคนไทย โดย Thai Health Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563 พบคนไทยนิยมกินอาหารรสหวานจัด หรือมีปริมาณน้ำตาลมาก เช่น เครื่องดื่มชา/กาแฟ น้ำหวาน เมื่อร่างกายรับเข้าไปในปริมาณมากจะมีผลกระทบกับหลอดเลือด หัวใจ และไต

 

 

 

ดร.แดเนียล เคอร์เทซ

 

            ดร.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ฟันผุ เป็นที่ทราบกันดีว่ามาตรการทางภาษีนั้นช่วยลดการบริโภคสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลได้ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดปรับอัตราภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพิ่มแบบขั้นบันได จึงขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีตามที่กำหนดไว้ เพราะการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษียังสะท้อนชัดไปถึงประชาชนว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ

ihpp world-obesity-federation ดร.นพ.ไพโรจน์-เสาน่วม ดร.สง่า-ดามาพงษ์ ดร.แดเนียล-เคอร์เทซ ทพญ.ปิยะดา-ประเสริฐสม น้ำตาล พ.ท.หญิง-พญ.สิรกานต์-เตชะวณิช รศ.พญ.พิมพ์ใจ-อันทานนท์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ศ.เกียรติคุณ-พญ.วรรณี-นิธิยานันท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สสส. สหพันธ์โรคอ้วนโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ-(สสส.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ-(ihpp) สำนักทันตสาธารณสุข-กรมอนามัย สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ-สสส. องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย อรณา-จันทรศิริ เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน

เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"