เร่งปิดเกมแก้รัฐธรรมนูญ กระชากหน้ากากพรรคการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

       จนถึงวันนี้เป็นเวลาสองปีเห็นจะได้ ที่มีการริเริ่มแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อนำรัฐธรรมนูญมาปฏิบัติแล้วพบปัญหาหลายจุด กระทั่งวันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินมาถึงจุดโหวตวาระที่สาม ที่ประชุมรัฐสภาจะต้องลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผลก็ปรากฏต่อสาธารณชนเรียบร้อยแล้ว

            อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะโหวตวาระที่สาม ทั้ง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.อีกหลายคน ต่างออกมาปราม ขู่ เตือน ว่าห้ามโหวตวาระที่สาม เพราะขัดกับคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ใครก็ตามที่โหวตจะฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะถือว่าเป็นผู้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

            ทำสมาชิกรัฐสภารู้สึกอกสั่นขวัญแขวน เกิดความไม่แน่ใจ เพราะคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน ถ้าตัดสินใจออกเสียงไปจะโดนฟ้องเอาผิดหรือไม่???

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ และตั้งเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลด้วยแล้ว กลุ้มใจอย่างหนัก และต้องคิดอ่านแก้เกม เพราะเดิมพันด้วยคุกตะราง และโดนประชาชนก่นด่า มีผลต่ออนาคตการเมือง

            สุดท้าย ในวันประชุมรัฐสภานั้น พรรคประชาธิปัตย์เสนอเป็นญัตติด้วยวาจา ขอมติที่ประชุมรัฐสภาให้ส่งเรื่องที่ยังคงไม่ชัดเจนใน 3 ประเด็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยอีกครั้ง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็เห็นด้วย

            เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้น ฝ่ายต่างๆ ก็เสนอญัตติบ้างเพื่อไม่ให้น้อยหน้า สุดท้าย สรุปจัดแบ่งญัตติออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

            ขอให้ที่ประชุมมีมติว่าไม่ให้มีการพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม เพราะขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เสนอ

            ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอ

            ขอให้รัฐสภาพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม คือ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอ

            โดยที่ประชุมถกเถียงกันมากว่าจะหยิบยกญัตติใดขึ้นมาโหวตเป็นลำดับแรกกันแน่ เพราะหากที่ประชุมเห็นชอบกับญัตติใดญัตติหนึ่ง จะทำให้สถานการณ์ของแต่ละพรรค และสถานการณ์บ้านเมืองไม่เหมือนกัน

            ระหว่างที่ทุกคนกำลังเหนื่อยล้า เพราะอภิปรายตั้งแต่ช่วงสายลากยาวจนถึงสามทุ่ม “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติขึ้นมาใหม่ ว่า “เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ขออนุญาตเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 32 เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุม พิจารณาเรื่องด่วนโหวตวาระที่สาม”

            ถ้าพิจารณาดูก็จะพบว่าญัตติของ “ไพบูลย์” อยู่ในญัตติกลุ่มที่ 3 มีความหมายเดียวกับญัตติของฝ่ายค้าน ซึ่ง “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นเช่นนั้น แต่ที่ประชุมก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นญัตติกลุ่มเดียวกับฝ่ายค้าน หรือเป็นญัตติใหม่ ญัตติลำดับที่ 4

            ด้าน “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น บอกว่าต้องโหวต 3 ญัตติเสียก่อน แล้วค่อยโหวตญัตติของนายไพบูลย์ แต่ผู้เสนอไม่ยอมและยืนยันให้โหวตก่อนญัตติอื่นๆ

            “ชวน” ย้ำว่า “ไม่ห่วง 3 ญัตติว่าจะตกไปก่อนเลยหรือ ถ้าไม่ห่วง ก็ยินดี ที่ประชุมมีความเห็นอย่างไร เช่นนั้นขอมติที่ประชุมเห็นชอบกับญัตติของไพบูลย์หรือไม่”

            สุดท้าย การโหวตครั้งนั้นนำสู่การลงมติในวาระที่สาม เพราะเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุม ด้วยคะแนน 473 ต่อ 127 งดออกเสียง 39 และไม่ประสงค์ลงคะแนน 5 เสียง

            จากนั้น ที่ประชุมเข้าสู่กระบวนการลงมติวาระที่สาม หลายคนชี้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะได้เห็นธาตุแท้ของพรรคการเมืองที่ตนเองไว้วางใจ เคยหาเสียงว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายลงมติแก้รัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

            ผลก็อย่างที่เห็นๆ กัน พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาวอล์กเอาต์ไม่ร่วมตัดสินใจโหวต โดยคะแนนเห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญวาระที่สาม 208 เสียง ส่วนใหญ่มาจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ มี ส.ว. 2 เสียง ขณะที่คะแนนไม่เห็นชอบ 4 เสียง เป็นของ ส.ว.ทั้งหมด งดออกเสียง 94 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 10 เสียง และ ส.ว. 84 เสียง ส่วนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 9 เสียง และ ส.ว. 127 เสียง

                การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้เป็นอันว่าเอวัง

                เหนือสิ่งอื่นใดการลงมตินี้ได้เห็นว่าใครเป็นใคร หางโผล่กันเป็นแถบๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"