R2P : ผู้ประท้วงพม่าเรียกร้อง การคุ้มกันจากกองกำลังนานาชาติ!


เพิ่มเพื่อน    

      เราเห็นป้ายประท้วงที่เมียนมาบางป้ายเรียกร้องให้ R2P มาช่วยแก้วิกฤติอันเกิดจากรัฐประหาร

                อะไรคือ R2P?

                คำนี้ย่อมาจาก Responsibility to Protect (R2P หรือ RtoP) ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติที่ประกาศร่วมกันครั้งแต่ในงานประชุมสุดยอดโลก World Summit เมื่อปี 2005

                เป็นข้อผูกพันของประเทศทั่วโลกในอันที่จะร่วมกันหาทางแก้ปัญหาที่คุกคามสังคมโลก 4 เรื่องใหญ่ คือ

                การสังหารหมู่ (Genocide)

                อาชญากรรมสงคราม (War Crime)

                การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing)

                และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity)

                มาตรการสำหรับการปกป้องสังคมใดที่โดนกระทำด้วยอาชญากรรมร้ายแรงทั้ง 4 เรื่องนี้ มีตั้งแต่การไกล่เกลี่ย, กลไกการเตือน, คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

                และหากไม่มีมาตรการใดๆ จะจัดการกับความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ได้ ก็อาจจะต้องใช้กำลังผ่านกองกำลังนานาชาติ

                แต่อำนาจของการใช้ “กองกำลังนานาชาติ” ที่ว่านี้จะต้องเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเท่านั้น

                และต้องถือว่าเป็น “มาตรการสุดท้าย” (Measure of last resort) จริงๆ เท่านั้น

                เลขาธิการสหประชาชาติได้ตีพิมพ์รายงานประจำปีว่าด้วยกิจกรรมของสหประชาชาติว่าด้วย R2P นี้ตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของรัฐบาล, องค์กรระหว่างประเทศ, ประชาสังคม และเอกชนในการช่วยระงับยับยั้งอาชญากรรมที่เข้าข่ายนี้

                มาตรการ R2P นี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง เช่น ในกรณีความวุ่นวายและเหตุรุนแรงที่ลิเบีย, ซีเรีย, ซูดานและเคนยาเป็นตัวอย่าง

                ข้อโต้แย้งสำคัญที่สุดก็คือ การใช้มาตรการเหล่านี้จะเข้าข่าย “ละเมิดอธิปไตย” ของประเทศนั้นๆ หรือไม่อย่างไร

                กรณีของลิเบียเมื่อปี 2011 เป็นตัวอย่างที่ดีของความเห็นต่างในการใช้กองกำลังต่างชาติเข้าแก้ไขปัญหาภายในของประเทศนั้น

                คณะมนตรีความมั่นคงมีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2011 ที่ระบุให้เจ้าหน้าที่ของลิเบียมีความรับผิดชอบที่จะปกป้องประชาชนของประเทศท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธร้ายแรงต่อกัน โดยที่ประชาชนเป็นเหยื่อของการสู้รบอย่างโหดเหี้ยม

                มติหลังจากนั้นประกาศเขตห้ามบิน และประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลของกัดดาฟี

                ต่อมาองค์การ NATO เข้าแทรกแซงเพื่อระงับการต่อสู้ของฝ่ายต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

                เป็นผลให้มีการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางว่าการส่งกองกำลังภายนอกเข้าไปเช่นนั้นถูกต้องและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาจริงหรือไม่

                หรือทำให้ปัญหาเพิ่มความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น?

                ในกรณีเมียนมานั้น ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งเริ่มเห็นว่าหากปล่อยให้ทหารพม่าใช้อาวุธทำร้ายและสังหารประชาชน (ทหาร snipers บางคนใช้ปืนยิงใส่ประชาชน มุ่งเป้าตรงศีรษะโดยที่ไม่มีการเตือนก่อนแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการทุบตี, ทรมานและคุกคามประชาชนยามวิกาล)

                สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสหประชาชาติกล่าวหาคณะผู้ทำรัฐประหารของเมียนมาว่ามีพฤติกรรมที่ “น่าจะเข้าข่ายว่าได้กระทำอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” แล้ว

                นายโธมัส เเอนดรูว์ส ในฐานะ special reporteur ของสหประชาชาติ แจ้งว่า ตั้งเเต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 70 ราย และจับกุมตัวประชาชนโดยพละการไปเเล้วกว่า 2,000 ราย

                เขาอ้างหลักฐานที่เป็นคลิปวิดีโอ ซึ่งเเสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนเเรง ซึ่งรวมถึงการใช้ปืนยิงกราดไปที่บ้านของประชาชน โดยไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร ได้กระทำความผิดอย่างไรหรือไม่

                โธมัส เเอนดรูว์ส กล่าวหาด้วยว่าคณะผู้ก่อรัฐประหารทำลายกรอบการคุ้มครองทางกฎหมายของประชาชน

                และเข้าข่ายละเมิดเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น และการชุมนุมของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด

                เขาอ้างว่านายพลพม่าผู้ก่อรัฐประหารอาจถูกตั้งข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในการดำเนินคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Court of Justice ด้วยก็ได้

                นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ชาวเมียนมาที่เป็นเหยื่อของการปราบปรามอย่างหนักของฝ่ายถืออาวุธเริ่มจะเห็นว่าการประท้วงและต่อต้านด้วยวิธีอารยะขัดขืนอาจจะไม่มีผลในทางยับยั้งการกระทำของฝ่ายทหารได้

                จึงได้ยกป้ายขอความช่วยเหลือจาก R2P

                ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถึงขั้นให้สหประชาชาติส่งกองกำลังนานาชาติเข้าระงับเหตุในเมียนมา

                แต่ก็สะท้อนถึงความสิ้นหวังและหวาดหวั่นของคนเมียนมาได้อย่างดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"