18 มี.ค. 64 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาวาระสอง เรียงตามลำดับมาตรา มีทั้งหมด 67 มาตรา
ไฮไลท์อยู่ที่มาตรา 9 ที่กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจจัดและควบคุมดูแลการออกเสียง ให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เสรี เสมอภาค และชอบด้วยกฎหมาย
โดยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายเห็นด้วยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ว่า แม้ที่ผ่านมาฝ่ายนิติบัญญัติ จะทำความเห็นไปยัง ครม. แต่อำนาจการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำก็อยู่ที่ครม. แต่หากใช้ร่างของนายชูศักดิ์ จะทำให้ครม.ต้องดำเนินการตามความเห็นที่รัฐสภาส่งไป จะทำให้ความเห็นของรัฐสภาที่ต้องการให้รัฐบาลทำประชามตินั้นรัฐบาลปฏิเสธไม่ได้
ด้านนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายเห็นแย้งกับ กมธ. ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะมอบหมายให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทำประชามติ เพราะแค่ให้กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง กกต.ก็ทำให้เกิดการซื้อเสียงกันอย่างกว้างขวาง การเลือกตั้งในแต่ละครั้งมีกฎหยุมหยิม ป้ายติดอะไร ตรงไหน ขนาดเท่าไหร่กำหนดหมด แต่ใครซื้อเสียงตรงไหนไม่เคยรู้เลย เพราะไม่เคยออกไปดู ตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา กกต.ที่นครสวรรค์รับแต่เงินเดือน ไม่มีการพัฒนาอะไรเลย ถ้าเรายังไปมอบหมายภารกิจสำคัญให้เขาจัดทำอีก ตนมองไม่ออกเลยว่า กกต.จะจัดให้มีการทำประชามติที่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร แถมยังมีการเพิ่มถ้อยคำ ว่าต้องเสรีและเสมอภาคอีก กกต.จะดำเนินการอย่างไร เพราะแค่ที่ทำกันอยู่ กกต.ยังไม่เคยออกมาดูเลย มีทั้งคะแนนเขย่งและบัตรเขย่งเต็มไปหมด
“ผมมองว่าถ้าเราไปมอบภาระหน้าที่ให้กกต.มากจนเกินไป ผมเกรงว่าจะเละกันไปหมด ขนาดภาคใต้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการซื้อเสียง ท่านยังทำจนเละไปหมดเลย ผมขอถามว่ากกต.จะทำให้การทำประชามติเสมอภาคได้อย่างไร จะเอาวิธีไหนมาทำให้เสมอภาค เพราะแค่การเลือกตั้งที่สุจิรตเที่ยงธรรมท่านยังทำไม่ได้เลย” นายวีระกร กล่าว
ภายหลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 9 ตามที่นายชูศักดิ์เสนอ ด้วยมติ 273 ต่อ 267 งดออกเสียง 1 เสียง
ทั้งนี้ เนื้อหาที่นายชูศักดิ์เสนอ คือกำหนด 5 เงื่อนไข ในการทำประชามติ ได้แก่ 1.การออกเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นว่ามีเหตุอันสมควร 3.การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง 4.การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้ชี้แจงเรื่องให้ครม.ดำเนินการ และ 5.การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อครม. เพื่อให้ความเห็นชอบการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด นอกจากนั้นได้กำหนดรายละเอียยด้วยว่าห้ามออกเสียงประชามติเรื่องที่ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้
ทำให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกมธ.ฯ. ขอพักการประชุม 10นาที เพื่อไปดูว่ามาตรา 10 และมาตรา 11 จะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับมาตรา 9
ต่อมา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. ลุกขึ้นอภิปรายขอใช้สิทธินับคะแนนใหม่ ด้วยการขานคะแนน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 58 เพราะคะแนนมีผลต่างน้อยกว่า 30 คะแนน ทำให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านประท้วงและโต้ตอบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการพิจารณามาตรา 10 แล้ว ทำให้มีส.ว.โห่ประท้วงไม่พอใจ แต่ก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลาย นายพรเพชร วินิจฉัยว่าที่ประชุมเข้าสู่มาตรา 10 ไม่สามารถใช้สิทธินับคะแนนใหม่ได้
นายพรเพชรได้พักการประชุม 10 นาที เพื่อให้กมธ.หารือปรับแก้เนื้อหามาตรา 10 และมาตรา 11 ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ได้แก้ไข
จากนั้น เวลา 19.35 น. ที่ประชุมรัฐสภาได้เปิดอีกครั้งภายหลังที่พักประชุมเพื่อหารือเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานกมธ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการลงมติของที่ประชุมในมาตรา 9 โดยเพิ่มเติมรายละเอียดตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ เมื่อกมธ.ตรวจสอบรายละเอียดพบว่ามีผลกระทบอย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 และมาตรา 15 ซึ่งระหว่างการพักประชุม ก็ได้สอบถามกฤษฎีกา ได้ความว่ากฤษฎีกาขออนุญาตกลับไปทบทวนยกร่างตามรกระบวนการของกฤษฎีกา ซึ่งไม่อาจแล้วเสร็จในวันนี้ได้ อีกทั้งต้องตรวจสอบหมวดอื่น ๆอีกด้วย ด้วยเหตุผลความจำเป็นนี้ ขออนุญาตให้ประธานพิจารณาเลื่อนการประชุมเป็นคราวหน้าได้หรือไม่
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมแล้ว ทำให้เราไม่สามารถประชุมได้อีก จึงมีทางคือ รอพิจารณาต่อในสมัยประชุมหน้าในเดือนพ.ค. หรือจะขอเปิดให้มีพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเฉพาะเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งส.ส.และส.ว.ต่างไม่ติดใจที่จะให้เลื่อนการพิจารณาออกไป แต่ขอให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพราะถ้าหากรอให้เปิดสมัยประชุมทั่วไปในเดือนพ.ค. จะนานเกินไป และขอให้ประธานรัฐสภายืนยันว่าเมื่อเปิดประชุมในครั้งหน้าจะเป็นการพิจารณาในมาตรา 10 ต่อจากวันนี้ ไม่ใช่เป็นการเริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติใหม่ ซึ่งนายชวนก็รับปากว่าจะเป็นการพิจารณาต่อจากวันนี้ จากนั้น ได้อ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมวิสามัญ และสั่งปิดการประชุมในเวลา 20.00 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |