อัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย “ร้อยละ 7.5 ต่อปี” เป็นตัวเลขที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน และเป็นที่คุ้นเคยของนิสิตนักศึกษาและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายทุกคน จนหลายคนอาจไม่ได้ฉุกใจคิดว่าอัตราที่กำหนดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2468 หรือเมื่อกว่า 95 ปีที่แล้วนั้น ยังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่
โดยที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐไว้ว่า รัฐพึงยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้สำรวจตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่มีการใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และพบว่าอัตราดอกเบี้ยสำคัญในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 อัตรา คือ อัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้งและอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งกำหนดไว้เท่ากันที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากในขณะที่มีการกำหนดอัตราร้อยละ 7.5 นั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้กันโดยทั่วไปมีอัตราสูงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี ส่งผลให้ลูกหนี้ได้รับภาระจากดอกเบี้ยตามกฎหมายเกินสมควร และส่งผลให้มีเจ้าหนี้หัวใสบางรายประวิงเวลาการฟ้องคดีเพื่อให้ได้กำไรจากจำนวนดอกเบี้ยที่ศาลสั่งให้ ซึ่งสูงกว่าการรีบฟ้องคดีแล้วนำเงินที่ได้จากการชนะคดีไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์มาก นอกจากนี้ เมื่อสำรวจกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ก็พบว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจากอัตราคงที่ให้เป็นอัตราลอยตัวโดยผูกกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่กำหนด หรือกำหนดกลไกการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจแล้วทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปุรงอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้
1. ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง (มาตรา 7) จากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้เหลือร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันตามข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำหนดให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทุก 3 ปี โดยปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะมีผลให้ลูกหนี้ในสัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจนมีภาระลดลง รวมถึงการดำเนินการในกรณีอื่น ๆ ที่ต้องมีดอกเบี้ยตามกฎหมาย เช่น การเสียดอกเบี้ยในเงินที่คู่สัญญาต้องคืนให้แก่กันเพื่อกลับสู่สถานะเดิมหลังจากการเลิกสัญญา มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น
2. ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยผิดนัด (มาตรา 224) จากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราตามมาตรา 7 ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 3 ต่อปี (ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้เพิ่มขึ้นหรือลงต่อไป) บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้ตรงเวลาและลงโทษลูกหนี้ที่ผิดนัด รวมเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งจะมีผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดในสัญญาต่าง ๆ ที่คู่สัญญามิได้กำหนดอัตราไว้โดยเฉพาะมีจำนวนที่ลดลง และดอกเบี้ยผิดนัดในค่าสินไหมทดแทนที่ลูกหนี้ละเมิดต้องเสียให้แก่เจ้าหนี้ละเมิดตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิด มีจำนวนที่ลดลงและเป็นธรรมยิ่งขึ้นเช่นกัน
นอกจากการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยให้ทันสมัยแล้ว คณะกรรมการพัฒนากฎหมายยังพบว่า ปัจจุบันมีข้อตกลงในสัญญาบางประเภทที่เจ้าหนี้มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าลูกหนี้มากกำหนดให้ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด หากผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดในงวดนั้นโดยคำนวณจากต้นเงินที่ยังค้างชำระทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่จากต้นเงินของงวดที่ผิดนัดแล้วเท่านั้น สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้อย่างมาก และบ่อยครั้งทำให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เกิดเป็น NPL ซึ่งส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำหนดวิธีคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น (เพิ่มเป็นมาตรา 224/1) โดยกำหนดให้เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น ไม่อาจเรียกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดได้อีกต่อไป รวมทั้งกำหนดให้ในสัญญาใดที่มีข้อตกลงดังกล่าว ให้ข้อตกลงส่วนนั้นเป็นโมฆะทันทีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว โดยคาดว่าจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากที่ประสบปัญหาทางการเงินจากสถานการณ์โรคติดต่อโควิด-19 และนอกจากร่างพระราชบัญญัตินี้แล้ว คณะกรรมการพัฒนากฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับที่จะช่วยลดภาระของประชาชนและผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากมีความคืบหน้าหรือมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเผยแพร่ข่าวสารให้ท่านทราบกันต่อไป
"หั่นดอกเบี้ยผิดนัด ขจัดความไม่เป็นธรรม"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |