ถกเดือด10ชม.ก่อนไคลแมกซ์ โหวตวาระสามแก้รัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    

            ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ใช้เวลาตลอดทั้งวันของการประชุมเมื่อ 17 มีนาคม ซึ่งเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม โดยมีสมาชิกรัฐสภาทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย บางช่วงจังหวะก็มีความเข้มข้นดุเดือด เพื่ออภิปรายแสดงเหตุผลของตัวเองต่อการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

                ท่ามกลางข้อถกเถียงกันอย่างหลากหลายว่า หลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 มีนาคม และมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางออกมาเมื่อ 15 มีนาคม แต่สมาชิกรัฐสภาก็ยังมีมุมมอง ความคิดเห็นที่หลากหลาย ว่าสุดท้ายแล้วที่ประชุมร่วมรัฐสภาสามารถลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามได้หรือไม่ โดยพบว่าเนื้อหาในการอภิปรายตลอดทั้งวัน สมาชิกรัฐสภายังเห็นแตกต่างกันอย่างมาก มีการลงประชามติเพื่อถามความเห็นประชาชนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกต้องทำช่วงเวลาใด ต้องทำก่อนที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระแรก หรือให้ทำประชามติหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามไปแล้ว จากนั้นไปทำประชามติ โดยหากผลประชามติเห็นชอบด้วยถึงค่อยนำขึ้นทูลกล้าฯ

            ซึ่งผลจากการประชุมเมื่อ 17 มี.ค. ที่มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย พบว่าข้อเสนอที่เป็นแนวทางหลักๆ ที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็นกัน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก

                แนวทางแรก-เสนอว่ารัฐสภาไม่สามารถลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามได้ เพราะเสี่ยงอาจจะเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายได้

            โดยแนวทางดังกล่าวมีข้อเสนอเป็นญัตติให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติไม่โหวตวาระสาม อันเป็นข้อเสนอที่เสนอโดยสมชาย แสวงการ และเสรี สุวรรณภานนท์ สองสมาชิกวุฒิสภา ที่พบว่าแนวคิดดังกล่าวมี ส.ว.หลายคนอภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุนกันจำนวนมาก

                แนวทางที่สอง ข้อเสนอให้เลื่อนการลงมติออกไปก่อน เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มีความชัดเจนมากขึ้น

                ที่พบว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีการเสนอเป็นญัตติ ที่เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็มีสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวจำนวนหลายคน โดยส่วนใหญ่คือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เช่น สาทิตย์ วงศ์หนองเตย และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เช่น ภราดร ปริศนานันทกุล ที่มีการอภิปรายให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ตอนนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้ถามให้ชัดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาดำเนินการมาแล้วผ่านวาระแรกและวาระสอง ทางรัฐสภาจะสามารถโหวตเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามดังกล่าวได้หรือไม่ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ชัดเจนไปเลย จะได้สิ้นความสงสัย

            แนวทางที่สามคือ ข้อเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามไปเลย

            ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีข้อเสนออภิปรายสนับสนุนที่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้าน ต่างอภิปรายว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการเขียนระบุว่ารัฐสภาโหวตวาระสามไม่ได้ อีกทั้งรัฐสภามีอำนาจในการดำเนินการอยู่แล้ว เพราะเมื่อรัฐสภาลงมติ แล้วรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ก็ต้องมีการส่งร่างไปทำประชามติถามประชาชนอยู่แล้ว อันสอดคล้องกับคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี ที่ให้ทำประชามติถามประชาชนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแนวทางดังกล่าวมีการเสนอเป็นญัตติเช่นกัน ที่เสนอโดยรังสิมันต์ โรม และมี ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนมากอภิปรายแสดงความเห็นสนับสนุน เช่น ชลน่าน ศรีแก้ว, สุทิน คลังแสง, ขจิต ชัยนิคม จากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น

                ที่ก็พบว่าแต่ละข้อเสนอก็มีผู้อภิปรายสนับสนุนและคัดค้านกันจำนวนมาก อาทิ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ประชาธิปัตย์ ที่อภิปรายว่า หากรัฐสภาเดินหน้าโหวตวาระสาม จากสถานการณ์ตอนนี้มีความเป็นไปได้ที่รัฐสภาจะโหวตไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม ซึ่งหากร่างตกไปก็อาจเป็นประเด็นการเมืองให้บางฝ่ายนำไปขยายผลทางการเมืองบางอย่างได้ บางคนบอกว่าต้องเดินหน้าโหวตวาระสามให้ได้ ให้ไปตายดาบหน้าแบบฮาร์ดคอร์ไปเลย แต่เห็นว่าควรใช้แนวทางยังไม่ต้องลงมติวันนี้ แต่ให้มีการส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาให้ชัดเจนก่อนที่จะลงมติ

                ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้มีการเดินหน้าลงมติโหวตวาระสามอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เพื่อไทย ได้อภิปรายสนับสนุนให้มีการโหวตวาระสามไปเลย เพราะหากไม่โหวตแล้วรอส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นข้อสงสัยอีกรอบ ก็มองว่าถึงส่งไปศาลรัฐธรรมนูญก็อาจไม่รับคำร้อง หรือรับก็คงไม่วินิจฉัยอะไรออกมาในคำร้องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับที่ออกมาเมื่อ 11 มี.ค. จึงควรที่รัฐสภาจะลงมติโหวตวาระสาม

            ขณะที่ฝ่ายซึ่งอภิปรายที่เห็นว่ารัฐสภาไม่สามารถโหวตลงมติวาระสามได้ มีการให้เหตุผลโดยสรุป เช่น คำอภิปรายของ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ที่อภิปรายว่า คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ หากจะทำต้องทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนตั้งแต่แรก โดยประเด็นเรื่องปัญหาข้อกฎหมาย ทางฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาได้มีความเห็นออกมาแล้วว่ารัฐสภาไม่สามารถโหวตวาระสามได้ เพราะเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติเสียก่อน แต่เมื่อยังไม่ได้ทำประชามติ รัฐสภาจึงไม่อาจลงมติวาระที่สาม ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าไม่อาจลงมติวาระที่สามได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาก็เห็นเช่นเดียวกัน จึงเสนอญัตติขอให้รัฐสภาลงมติไม่สามารถดำเนินการลงมติในวาระที่สามได้ เพราะต้องทำไปตามคำวินิจฉัย

                ส่วน นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อีกคนหนึ่งอภิปรายว่า ร่างแก้ไข รธน.ที่รัฐสภาจะโหวตวาระสามมีการเขียนเพิ่มเติมหมวดแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นใหม่ อันเป็นการไปยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่าทำไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการแก้ไขมาตรา 256 มาตราเดียว เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ จึงทำไม่ได้ ดังนั้นหากที่ประชุมรัฐสภาลงมติวาระสามจะเกิดปัญหา ถ้าจะส่งไปทำประชามติหากร่างผ่าน เพราะเท่ากับส่งของเสียที่ขัดรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนลงประชามติ อีกทั้งหากจะใช้แนวทางไม่ลงมติวันนี้ แล้วจะส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อสงสัยในคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คาดว่าส่งไปศาลก็คงไม่รับ เพราะศาลไม่ใช่กรรมการกฤษฎีกา ไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐสภา จึงเป็นไปไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมาวินิจฉัยคำวินิจฉัยของศาลเองอีกรอบ แต่หากจะเดินหน้าลงมติวาระสาม แล้วเกิดมี ส.ว.ลงมติไม่ถึง 84 เสียงจนทำให้ร่างตกไป ก็จะมาโจมตี ส.ว.ว่าทำให้ร่างแก้ไข รธน.ตก ทั้งที่ ส.ว.ก็อยากร่วมมือกับการแก้ไข รธน. แต่ไม่สามารถลงมติเห็นชอบได้ เพราะร่างที่จะลงเป็นของเสีย จึงลงมติไม่ได้

                หลังที่ประชุมมีสมาชิกรัฐสภาทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ส.ว. อภิปรายกันอย่างเข้มข้นดุดันตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเวลาประมาณ 18.30 น.

            จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการอภิปรายหลายชั่วโมงที่ผ่านมา และมีการเสนอญัตติกลางที่ประชุม สามารถสรุปได้เป็น 3 ญัตติ ดังนี้

                ญัตติที่หนึ่ง เสนอโดยสมชาย แสวงการ และเสรี สุวรรณภานนท์ ที่เสนอญัตติให้ที่ประชุมมีมติไม่ให้รัฐสภาลงมติวาระสาม เพราะหากจะลงมติจะเป็นการขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564

            ญัตติที่สอง เสนอโดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ขอให้รัฐสภามีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเลื่อนการลงมติไปก่อน แล้วมีการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นที่มีการร้อง

            ญัตติที่สาม ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติโหวตให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม

                จากนั้น ชวน-ประธานรัฐสภา ได้พยายามจะขอให้ที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนว่าจะเห็นด้วยกับญัตติใด แต่ก็มีสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิ์อภิปรายกันจำนวนมาก โดยมีการแสดงความคิดเห็น งัดข้อกฎหมายมาหักล้างกันอย่างเข้มข้น ถึงพริกถึงขิง จนเมื่อเกิดเสียงสัญญาณเตือนเหมือนกับเกิดอัคคีภัยดังมาถึงห้องประชุม ทำให้ที่ประชุมแปลกใจกันมาก จนชวนต้องพูดทีเล่นทีจริงว่า อภิปรายกันน้ำไหลไฟดับ จนการอภิปรายกินเวลาร่วม 1 ชั่วโมง จนถึงเวลา 19.35 น. ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ประธานรัฐสภาจึงสั่งพักการประชุม 15 นาที ซึ่งประธานรัฐสภาระบุไว้ก่อนหน้านั้นว่าจะให้มีการประชุมจนถึงเกิน 24.00 น. เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้

                ภาพรวมการประชุมรัฐสภาตลอดทั้งวันเมื่อ 17 มี.ค. จึงพบว่าดำเนินไปอย่างเข้มข้น ซึ่งถึงช่วง 20.00 น. ที่ใช้เวลาประชุมไปเกือบ 10 ชั่วโมง ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติและหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"