17 มี.ค.64 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง คำกล่าวหาที่ว่า อาจารย์ธรรมศาสตร์ล้างสมองลูกศิษย์ เป็นความจริงหรือไม่ มีเนื้อหาดังนี้
ขอตอบในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ และผู้บริหารคนหนึ่งว่า หากการล้างสมองหมายถึงการที่อาจารย์ครอบความคิดส่วนตัวของตัวเองลงไปในสมองของลูกศิษย์ ต้องขอบอกว่า มีปรากฏการณ์เช่นนี้ มากบ้าง น้อยบ้างเกือบทุกมหาวิทยาลัย
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ
เสรีภาพทางวิชาการ หมายถึง อาจารย์ผู้สอนมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะออกแบบกระบวนการเรียนการสอนได้เอง กำหนดวิธีการวัดผลได้เอง ตราบเท่าที่สามารถสอนได้ครบถ้วนตามเนื้อหาวิชาตามที่กำหนดไว้ ในระหว่างการบรรยาย อาจารย์ก็มีความเป็นอิสระที่จะพูดอะไรได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีใครควบคุม
อาจารย์แต่ละคนก็จะมีทัศนคติทางสังคมและมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่อาจารย์ที่มีจิตสำนึกที่ดี ก็จะสอนตามเนื้อหา ไม่พยายามที่จะโน้มน้าวนักศึกษาให้มีความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนตัวเอง
ในทางตรงข้าม อาจารย์ที่ไม่มีจิตสำนึกที่ดีก็จะชอบที่จะชักจูง โน้มน้าวนักศึกษาให้มีทัศนติ และอุดมการณ์เหมือนตัวเอง ที่หนักกว่านั้น บางคนอาจมีวาระแอบแฝง ทำเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพื่อให้กลุ่มการเมืองที่ตัวเองนิยม หรือกระทั่งมีความเกี่ยวโยงกับตัวเองได้ประโยชน์
เกือบทุกมหาวิทยาลัยก็จะมีอาจารย์แบบหลังนี้จำนวนหนึ่ง ฝ่ายบริหารจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ร้องเรียน แต่การร้องเรียนมักไม่เกิดขึ้น เพราะมีน้อยคนที่จะยอมเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ และถึงแม้มีการร้องเรียน ผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่น อธิการบดี หรือ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ก็มักจะไม่ทำอะไรมาก เว้นแต่การกระทำของอาจารย์จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเท่านั้น
คณะวิชาที่เอื้อต่อการให้อาจารย์ครอบงำนักศึกษาด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองและทัศนคติทางสังคมของตัวเอง ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมวิทยา เป็นต้น ส่วนคณะอื่นๆ เช่น คณะแพทย์ศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จะมีช่องให้อาจารย์ทำเช่นนั้นได้น้อย
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มวิชาอีกประเภทหนึ่งในหลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้นำ และปัจจุบันดูเหมือนเกือบทุกมหาวิทยาลัย ก็จะใช้หลักสูตรแบบนี้เช่นกัน กลุ่มวิชาดังว่าก็คือกลุ่มวิชาพื้นฐานทั่วไป เป็นกลุ่มวิชาที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อบูรณาการเนื้อหาวิชาเฉพาะมากกว่า 1 วิชาเข้าด้วยกัน มีชื่อวิชาเช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะมีวิชาชื่อแปลกๆ เช่นมนุษย์กับสังคม พลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น
นักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะเลือกเรียนคณะใด ในขณะเรียนในชั้นปี 1 จะต้องเรียนกลุ่มวิชานี้ เหมือนกันทั้งหมด
วิชากลุ่มนี้ออกแบบมาเพื่อหล่อหลอมให้นักศึกษามีความรู้ที่รอบด้าน ซึ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในสังคม
กลุ่มวิชาพื้นฐาน จึงเป็นช่องโอกาสของอาจารย์บางจำพวก ที่ต้องการครอบงำลูกศิษย์ตั้งแต่เริ่มเข้ามาเ รียนตั้งแต่ปีแรก สามารถทำได้โดยสะดวก เนื่องจาก นักศึกษาทุกคนต้องเรียนเหมือนกันหมด ยิ่งถ้าหากสามารถควบคุมเนื้อหาการสอนของอาจารย์ที่สอนทุกห้องให้เหมือนกันในวิชาใดวิชาหนึ่งได้ ยิ่งจะสามารถครอบงำนักศึกษาชั้นปี 1 ได้มากยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็อาจมีอาจารย์ลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่จะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครทราบได้ แม้แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอง เนื่องมาจากคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ นั่นเอง
อยากให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่งพึงตระหนักในความจริงข้อนี้ ส่วนจะมีการดำเนินการอย่างใดหรือไม่ ย่อมแล้วแต่ผู้บริหารแต่ละมหาวิทยาลัย
จะอย่างไรเสรีภาพทางวิชาการก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องรักษาไว้ เพียงแต่อาจต้องอยู่ภายในขอบเขตที่เหมาะสม และอาจต้องสร้างกลไกการร้องเรียนให้เป็นที่รับรู้ และทำได้อย่างไม่ยุ่งยากเกินไป
เช่นนี้ ปัญหาแบบที่กล่าวหากันก็จะมีน้อยลง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |