จุดเปลี่ยนเดือนมีนาคม


เพิ่มเพื่อน    

 

เพียง 2 เดือนเศษหลังปรากฏตัว ไวรัสโควิด-19  ได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว   ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563  มีรายงานว่า 58 ประเทศ กับ 2 เขตบริหารพิเศษ พบผู้ป่วยยืนยัน 85,473 ราย  มีอาการรุนแรง 7,814 รายและเสียชีวิต 2,924 ราย  องค์การอนามัยโลก ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) หรือการระบาดของโรคชนิดใหม่ที่กระจายไปทั่วโลก  เวลานั้นหลายประเทศเริ่มมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวจาก เมืองอู่ฮั่นเข้าประเทศ  ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์เริ่มมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากจีน หรือ มาเก๊า

              

ส่วนประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เริ่มปรับทิศทางการรับมือการระบาดด้วยการใช้นโยบาย “ให้บุคลากรทางการแพทย์นำเรื่องมาตรการและรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน”  ด้านกระทรวงสาธารณสุขยกระดับมาตรการรับมือการระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นระดับ 3  หรือทุกจังหวัดต้องมีโรงพยาบาลที่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างน้อย 1 แห่ง      สถานการณ์ระบาดในไทยเวลานั้นจำนวนผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นแต่ยังเพิ่มในอัตราต่ำ            

             

หากทว่าสถานการณ์ในเดือนมีนาคมกลับพลิกผันไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิด”ซูเปอร์สเปรดเดอร์” หรือแหล่งระบาดที่กระจายไปอย่างรวดเร็ว  จากรายการมวย ศึกลุมพินี แชมเปี้ยนเกริกไกร  กลุ่มเสี่ยงจากผับย่านทองหล่อ  และการร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย   จากช่วงก่อนหน้ามีผู้ติดเชื้อระดับ 30-40 คนต่อวัน เสียชีวิต 1 คน แต่  3 กรณีระบาดดังกล่าว  ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนดังกล่าว

              

วันที่ 22 มีนาคม 2563 ยอดผู้ป่วยใหม่ทำสถิติสูงสุด 188 ราย  (ผู้ป่วยสะสม 599 ราย รักษาในโรงพยาบาล 553 ราย รักษาหาย 45 ราย และเสียชีวิต 1   ราย)  และเดือนเมษายน ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด   จำนวนผู้ป่วยสะสมทะลุขึ้นไปยืนอยู่ที่ 1,045 ราย (26 มี.ค.63) แตะหลักสองพันขึ้นไปอยู่ที่ 2,067 รายในวันที่ 4 เมษายน

           

สถานการณ์ระบาดในเดือนมีนาคมได้เปลี่ยนทิศทางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยไปอย่างสิ้นเชิงจากเดิม อาจารย์ยง” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ  ราชบัณฑิต และหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ หากไม่เกิดกรณี สนามมวย กับผับย่านทองหล่อ เราไม่เกิดการระบาดระลอกแรกก่อนหน้าเราคุมได้หมด”   

              

มาตรการเชิงรุกถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่  กรุงเทพมหานครสั่งปิดสถานประกอบการ 26 ประเภทตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563 ยกเว้นบางประเภท อาทิ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ตลาดสดเฉพาะอาหารสดและแห้ง   ต่อมารัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน   ในวันที่ 26 มี.ค. 2563   ยกระดับ ศูนย์สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากกระทรวงต่างๆ  มารวมศูนย์ไว้ที่นายกรัฐมนตรี  โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนราชการ และสั่งการทุกส่วนราชการอย่างมีเอกภาพ

               

ในห้วงเวลานั้นเริ่มมีการรณรงค์ ให้ทำงานที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย  เว้นระยะห่างทางสังคมเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือ และใช้ช้อนกลาง  นำมาตรการ”ล็อกดาวน์”หรือปิดเมืองมาใช้    มาตรการที่ ประกอบด้วยการขอความร่วมมือ และกึ่งบังคับ สามารถชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อ ให้ลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม  ความสำเร็จ ณ จุดนั้นทำให้ประเทศไทยไม่เคยเข้าสู่ภาวะวิกฤติของการระบาดคือไม่เกิดภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาล  แต่การจำกัดการเคลื่อนไหวของประชากรเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้หลักคิด”สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ” มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล

                  

เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อย่างจำกัด ภาคส่งออก ภาคการผลิตชะงัก จากการปิดพรมแดน  ปิดน่านฟ้าของประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งภาคท่องเที่ยวที่ตัวเลขเป็น ”ศูนย์” ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน (2563) หรือหายไปกว่า 80 %  จากปีก่อนหน้า (2562) ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเกือบ 40 ล้านคน  

                  

ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไปอย่างฉับพลันฉุดให้ จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส2 ติดลบถึง 12.2 % ใกล้เคียงกับปี 2541 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่จีดีพีติดลบ 12.5 % ซึ่งเปรียบเหมือนจุดเริ่มต้นวิกฤติโควิดของไทย.

                                      

สนับสนุนโดย :  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำหนังสือ”ถอดบทเรียนไทยสู้โควิด”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"