โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โควิด -19 หรือ ไวรัสโควิด-19 ถูกพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑล หูเป่ย เมืองเศรษฐกิจอันดับ 8 ของจีน ในช่วงปลายปี 2562 เริ่มต้นจากจีนพบผู้ป่วยปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ต่อมา จีนได้รายงานไปยัง องค์การอนามัยโลกว่า พบผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มเป็นก้อนโดยกลุ่มผู้ป่วยเหล่านั้นเกี่ยวพันกับตลาดอาหารทะเลหัวหนันซึ่งขายอาหารป่าด้วย คาดกันว่าตัวนิ่มหรือค้างคาวคือพาหนะแพร่เชื้อแต่ไม่ยืนยันว่าสัตว์ประเภทใดที่นำไวรัสดังกล่าวมาสู่คน
ทั้งนี้การศึกษาของทางการจีนยังพบด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งต่อมาได้ชื่อเป็นทางการว่า SARS-COV-2 และองค์การอนามัยโลกเรียกอาการป่วยที่เกิดขึ้นว่า Coronavirus disease 2019 หรือเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า โรคโควิด-19
โรคโควิด 19 อยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินทางหายใจ ที่ติดเชื้อผ่านละอองน้ำมูกที่กระจายจากผู้ป่วยผ่านการจาม พูด หรือผ่านการสัมผัสเชื้อที่ติดอยู่ตามผิววัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จากการศึกษาพบว่าไวรัสโควิด-19 สามารถมีชีวิตบนไม้ โลหะ แก้ว ที่อุณหภูมิห้องได้นาน 4-5 วัน ชอบความเย็นและความชื้นที่อุณหภูมิ 20 องศามีชีวิตอยู่ได้นานถึง 28 วัน ไวรัสโควิด-19 ที่ตกค้างตามผิวสัมผัสต่างๆสามารถติดมือผ่านเข้าสู่ร่างกายทางปาก ผ่านการขยี้ตา หรือ แคะจมูก โดยที่คนๆนั้นไม่รู้ตัว
เมื่อเข้าสู่ร่างกายไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัว 2-14 วัน ส่วนใหญ่ผู้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการ รายที่เริ่มป่วยมักมีไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส ไอ อ่อนเพลีย และผู้ป่วยบางรายมีอาการ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น หายใจเหนื่อยหอบร่วมด้วย หากรับเชื้อแล้วผู้รับเชื้อไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ไวรัสโควิด-19 จะแทรกลงไปในเซลส์เยื่อบุทางเดินหายใจและทำให้ปอดติดเชื้อก่อนลามไปทำลายอวัยวะอื่น
เมื่อข่าวการอุบัติใหม่ของไวรัสโควิด-19จากเมืองอู่ฮั่นสะพัดไปทั่วโลก ทุกประเทศตื่นตัวยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง ตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ เพราะทุกประเทศล้วนมีประสบการณ์จากโรคระบาดทางเดินหายใจที่อุบัติขึ้นเป็นระยะๆตลอดระยะเวลา 64 ปี ที่ผ่านมาทั้งสิ้น นับจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 2499 ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงปี 2511 ซาร์ส (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง) ในปี 2546 โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปี 2552 หรือ เมอร์ส (โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง)ในปี 2555 เพียงแต่ลักษณะอาการระดับความรุนแรงของอาการที่สัมพันธ์กับโรคบางชนิดแตกต่างกัน และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยแตกต่างกันเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ตั้งแต่มีข่าวจากเมืองอู่ฮั่น ก่อนตั้งด่านคัดกรองหากลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ทุกสนามบินหลัก และยกระดับความเข้มข้นไปตามสถานการณ์ เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน
วันที่ 13 มกราคม 2563 ไวรัสโควิด-19 ได้ปรากฏตัวทักทายคนไทยเป็นครั้งแรกเมื่อด่านคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนวัย 61 ปีจากเมืองอู่ฮั่นเข้าเกณฑ์ตรวจสอบก่อนตรวจสอบพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกในประเทศไทย และเป็นคนจีนรายแรกที่ตรวจพบนอกประเทศจีน
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเสียชีวิต จากเมืองอู่ฮั่นเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งจีนประกาศล็อกดาวน์ ปิดเมืองอู่ฮั่น (23ม.ค.63) 2 วันก่อนวันตรุษจีนมาถึง และปิดเพิ่มเป็น 13 เมืองข้างเคียงในเวลาต่อมา เพื่อยับยั้งการระบาด แต่สถานการณ์ระบาดลุกลามไปไกลแล้วปลายเดือนมกราคมปีเดียวกันนั้น มีรายงานพบชาวจีนติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ไม่น้อยกว่า 78 รายกระจายไป 17 ประเทศ ก่อนที่องค์การอนามัยโลกประกาศ ว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
สาเหตุที่ทำให้โรคโควิด-19ลุกลามไปอย่างรวดเร็วเพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก คุณสมบัติโดดเด่นของสายพันธุ์นี้ คือผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ อีกทั้งไวรัสโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่างๆได้นานตามที่กล่าวข้างต้น อัตราการเสียชีวิตสูง ผนวกกับโลกาภิวัตน์ที่ผู้คนสามารถเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว ล้วนไปเป็นช่องทางให้ไวรัสโควิด-19 ขยายตัวในอัตราก้าวหน้า
วันที่ 31 มกราคม 2563 มีการยืนยันว่าชายไทยวัย 50 ปี อาชีพขับแท็กซี่เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายแรกของไทย.
สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำหนังสือ”ถอดบทเรียนไทยสู้โควิด”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |