“จนเพิ่ม-หนี้พุ่ง”พิษร้ายศก.ไทย


เพิ่มเพื่อน    

          โควิด-19 ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งวิกฤติเศรษฐกิจโลก เพราะการแพร่ระบาดที่ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับมาตรการป้องกัน ควบคุมและดูแลการระบาดของแต่ละประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเมื่อช่วงต้นปี 2564 “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ได้ออกมาประเมินถึงทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า จะขยายตัวที่ 4% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และโดยรวมเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวยืดเยื้อ จากผลกระทบของการกลับมาระบาดใหม่ของโควิด-19 นั่นเอง

                ในส่วนของ “ประเทศไทย” เวิลด์แบงก์ มองว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องความล่าช้าในการจัดการวัคซีน และการแจกจ่ายวัคซีน ไปจนถึง “สถานการณ์หนี้ครัวเรือน” ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการสูญเสียรายได้ต่อหัวที่มากขึ้น หรือระดับความยากจนมีมากขึ้น ตลอดจนความท้าทายของตลาดแรงงานในไทย

                นั่นเป็นผลจากประเทศไทยพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 13-15% ของจีดีพี ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความอ่อนไหวจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ดังนั้นการลงทุนยังมีความสำคัญ เพื่อที่จะใช้ตอบโต้กับวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ ซึ่งการลงทุนจะเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

                เวิลด์แบงก์ประเมินว่า ประเทศไทยจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปใกล้เคียงปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินต่อไป จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ก็จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้เพียง 2.4% เนื่องจากจะมีการสูญเสียรายได้สูงถึง 20% ของจีดีพี

                ประเด็นเรื่อง “คนจนเพิ่มขึ้น” เป็นเรื่องน่าสนใจ โดยเวิลด์แบงก์ฉายภาพเรื่องนี้ว่า ความรุนแรงของผลกระทบจากโควิด-19 อาจทำให้คนไทยยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน ขณะที่ผลกระทบในด้านแรงงาน พบว่า ในช่วงไตรมาส 2/2563 โควิด-19 ทำให้งานหายไป 3.4 แสนตำแหน่ง และชั่วโมงการทำงานลดลง 2-3 ชั่วโมง การว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น 9%  ขณะที่ค่าจ้างลดลง 1.6% ส่วนในไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส  4/2563 สถานการณ์แรงงานเริ่มดีขึ้น และทำให้จำนวนงานเพิ่มขึ้น 8.5 แสนตำแหน่ง แต่ยังมีจุดอ่อนคือ ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างในภาคการเกษตรยังต่ำกว่าในปี 2562

                ส่วนสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” จากข้อมูลของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  หรือสภาพัฒน์ พบว่า ในไตรมาส 3/2563 หนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% หรือคิดเป็น 86.6% ต่อจีดีพี เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 2.91% ของสินเชื่อรวม สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน อยู่ที่ 6.7% คิดเป็น 2 เท่าของเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม

                โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2563 จะยังคงเพิ่มขึ้น โดย “สภาพัฒน์” ระบุว่า เป็นการเพิ่มขึ้นแต่จะไม่มาก  เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนี้เริ่มขยับเขยื้อนแล้ว โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 ต้องพิจารณา 2 ปัจจัย คือ 1.รายได้ประชาชน ถ้ากลับมาเป็นปกติ ความจำเป็นในการสร้างหนี้ก็ลดลง 2.การให้ความรู้ด้านการเงินแก่ภาคครัวเรือน

                “ความยากจน-หนี้ครัวเรือน” อาจถือเป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจและเร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะแม้ว่าในระยะต่อไปจะมีการประเมินว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ไม่มาก แต่หากย้อนไปดูพฤติกรรมการก่อหนี้ของคนในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนยุค 4.0 ความสะดวก รวดเร็ว และง่ายของเทคโนโลยี เข้ามาสนับสนุนการก่อหนี้ของคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงรสนิยม ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในระยะต่อไปปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนและความยากจนจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้.

ครองขวัญ รอดหมวน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"