สายตรงกรุงเทพฯ-เนปยีดอ


เพิ่มเพื่อน    

       หากรัฐบาลไทยจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดอันเกิดจากการรัฐประหารในเมียนมาได้ ผู้นำไทยทั้งด้านทหารและการเมืองระหว่างประเทศจะต้องแสดงความเป็น  "เพื่อนสนิทที่เข้าใจทุกฝ่าย" อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

            ผมจินตนาการว่านายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่คุ้นเคยกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่เป็นผู้ก่อรัฐประหารครั้งนี้จะยกหูพูดคุยกัน

            เพื่อเสนอแนะให้หยุดการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงและพลเมืองเมียนมาทั่วไปทันที

            เพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่สันติ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวเมียนมา

            นายกฯ ไทยสามารถต่อสายตรงถึงนายพลเมียนมาได้ทั้งในฐานะ

            เพื่อนส่วนตัว

            เพื่อนบ้านที่สนิทสนมเป็นพิเศษ

            สมาชิกครอบครัวอาเซียน

            และสหายร่วมรบกับโควิด-19

            ผมเชื่อว่านายกฯ ไทยมีเบอร์ตรงของมิน อ่อง หล่ายที่จะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา

            เพราะความเดือดร้อนของเมียนมาก็คือความเดือดร้อนของไทย และความเดือดร้อนของไทยก็จะเป็นความเดือดร้อนของเมียนมาเช่นกัน

            ไฟไหม้ข้างบ้านเราก็เท่ากับไฟไหม้บ้านเรา เพราะหากไม่ดับไฟให้ทันท่วงทีก็จะลามเข้าบ้านเรา

            กรณีควันพิษอันเกิดจากการเผาป่าของเพื่อนบ้านที่แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค จนเกิดอันตรายจาก PM2.5  เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงสัจธรรมข้อนี้

            ขณะเดียวกันรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย กับ วูนนะ หม่อง ลวิน คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารเมียนมาเป็น "รัฐมนตรีต่างประเทศ" ก็น่าจะยกหูพูดคุยกันได้ไม่ยากเย็นนัก

            เพราะทั้งสองท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูตที่บรัสเซลส์และยุโรปอีกบางประเทศมาก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน

            อีกทั้ง วูนนะ หม่อง ลวินก็เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในยุคที่นายพลเต็ง เส่งเป็นประธานาธิบดี จึงน่าจะสามารถต่อสายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากวิกฤติครั้งนี้ได้อยู่แล้ว

            ผมเข้าใจว่าคุณดอนก็ได้พยายามจะสนทนากับคุณวูนนะ และสื่อสารของรัฐบาลไทยที่อยากจะให้ฝ่ายทหารเมียนมาหยุดการใช้อาวุธกับผู้ประท้วงโดยด่วน

            แต่สารนั้นจะไปถึงมิน อ่อง หล่ายหรือไม่ หรือหากถึงแล้วผู้นำทหารจะให้ความสำคัญเพียงใดเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์และประเมินตลอดเวลา

            โดยที่ฝ่ายไทยเราควรจะต้องเปิดช่องทางของการติดต่อกับเมียนมาตลอดเวลาเพื่อเป็น "สะพานเชื่อมต่อ" ให้ทหารเมียนมากับโลกภายนอก

            เพราะหากเป็นการติดต่อตรงระหว่างตัวแทนสหประชาชาติกับตัวแทนกองทัพเมียนมาในช่วงเวลานี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนเป็นทางการที่หนีไม่พ้นว่าจะเกิดความตึงเครียดขึ้นได้

            เช่นกรณีที่ทูตพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยกิจกรรมเมียนมา Christine Schraner Burgener ประชุมออนไลน์กับพลโทโซ วิน (Soe Win) รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา

            ฝ่ายทูตยูเอ็นบอกกล่าวกับนายพลเมียนมาว่า สหประชาชาติขอประณามการกระทำของทหารเมียนมาต่อประชาชนอย่างโหดเหี้ยม

            นายพลหมายเลขสองของเมียนมาไม่พอใจกับน้ำเสียงดุดันของทูตพิเศษสหประชาชาติ ถึงกับตอบอย่างไม่แยแส ทำนองว่า

            "กองทัพเมียนมาเคยถูกสหประชาชาติคว่ำบาตรมาแล้ว เราไม่กลัวถูกโดดเดี่ยว เราเคยชินกับการที่ต้องอยู่กับเพื่อนไม่กี่คน..."

            ข่าวบอกว่า นายพลโซ วินคนนี้โกรธถึงกับวางหูใส่ทูตยูเอ็นทีเดียว

            บรรยากาศอย่างนี้ย่อมไม่อาจจะนำไปสู่การเจรจาหาทางออกที่จะคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาได้

            ผมเข้าใจคำอธิบายของกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า การที่ต้องประคองสถานการณ์ไว้ด้วยการไม่มีท่าทีเป็นศัตรูกับฝ่ายใดในเมียนมาขณะนี้ ก็เพื่อจะได้ไม่ปิดประตูของการติดต่อกับกองทัพเมียนมาเสียเลยทีเดียว

            แต่จุดยืนของไทยในฐานะผู้ประสานงานหรืออำนวยความสะดวก ก็จะต้องมีหลักการที่ยึดอยู่กับหลักมนุษยธรรมและการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคนเมียนมา

            ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยเองก็จะต้องยืนยันสิทธิของการเข้าถึงอองซาน ซูจี และตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาด้วยมติมหาชนท่วมท้น

            เพื่อนำไปสู่การให้ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย" หันหน้ามาพูดจาหาทางออกร่วมกัน

            ส่วนทางออกที่ดีที่สุดนั้นก็ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของคนเมียนมานั่นเอง.

            (พรุ่งนี้: โอกาส "สงครามกลางเมืองยืดเยื้อในเมียนมา")


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"