หาชมยากยิ่ง กว่า 100 ปี "วิวัฒนาการการ์ตูนไทย" จากกระดาษสู่ดิจิทัล


เพิ่มเพื่อน    

การ์ตูนล้อการเมือง ”ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” ของชัย ราชวัตร 

 

 


           ช่วง 5 ปีมานี้หนังสือการ์ตูนไทยหลายค่ายต้องปรับตัวไปสู่แพลตฟอร์มโลกออนไลน์กันถ้วนหน้า ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มยุคใหม่ที่ผูกติดกับเทคโนโลยี การปรับตัวนี้นอกจากเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจการ์ตูนแล้ว ยังทำให้นักเขียนการ์ตูนไทยได้มีโอกาสทำงานสร้างสรรค์ต่อไป แม้ไม่ใช่รูปแบบเป็นหนังสือเล่มแบบเดิม
         แต่ถ้าถามถึงต้นกำเนิดการ์ตูนไทยที่วางบนแผงหนังสือในบ้านเรา กว่าจะถึงวันนี้ที่สามารถคลิกอ่านได้ด้วยปลายนิ้ว มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง ด้วยวิธีการวาดภาพ ลายเส้น เนื้อหาที่พูดถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ความสนุกสนาน การล้อเลียนการเมือง จนถึงการให้ข้อมูลความรู้ โดยมีเป้าหมายคือ การให้ผู้อ่านมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านเนื้อหาของการ์ตูน  
          เหตุนี้ กรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ มีโปรเจ็กต์พิศษในการจัดนิทรรศการเรื่อง “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” หวังจะเผยแพร่และสร้างการรับรู้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือการ์ตูนไทยที่เป็นทรัพยากรสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม

 

มาหอสมุดเรียนรู้ความเป็นมาของการ์ตูนไทย 

 

    นิทรรศการครั้งนี้มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการของหนังสือการ์ตูนไทยย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงยุคปัจจุบัน รวมถึงจัดแสดงต้นฉบับหนังสือการ์ตูนไทยที่จัดเก็บและให้บริการที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ตั้งแต่เอกสารโบราณประเภทสมุดไทยขาว หนังสือหายาก หนังสือพิมพ์เก่า หนังสือการ์ตูนไทย จนถึงยุคดิจิทัล ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบความบันเทิง ชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นแฟนการ์ตูนไทย
    หากมาเดินชมในนิทรรศการเรื่อง “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” เราจะได้เห็นการนำเสนอวิวัฒนาการของหนังสือการ์ตูนไทย แบ่งออกเป็น 3 ยุคสมัย ดังนี้
    ยุคแรก (พ.ศ.2387-พ.ศ.2474) สะท้อนจิตรกรรมไทยเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก โดยขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่นำแนวคิดการวาดภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกมาใช้เป็นต้นแบบในการวาดภาพ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรล้ำสมัย

แสดงวาดภาพจิตรกรรมแบบตะวันตก โดยขรัวอินโข่ง


    กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีความนิยมวาดภาพล้อเลียนการเมืองในหนังสือพิมพ์ตามแบบตะวันตกกันอย่างกว้างขวาง ผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ เช่น ลายเส้นบนสมุดไทยขาว ภาพฝีพระหัตถ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต ภาพผลงานของนักเขียนผู้บุกเบิกการเขียนการ์ตูนการเมืองคนแรกของไทย เปล่ง ไตรปิ่น
    ส่วนยุคบุกเบิก (พ.ศ.2475-พ.ศ.2499) เสนอเรื่องราววงการการ์ตูนไทยเริ่มผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมไทยผ่านตัวการ์ตูน 2 ประเภท คือ การ์ตูนเรื่องจากวรรณคดีและนิทานพื้นบ้าน และการ์ตูนสะท้อนสภาพสังคมการเมือง นักเขียนการ์ตูนในยุคนี้ เช่น สวัสดิ์ จุฑะรพ, ฟื้น รอดอริห์, ฉันท์ สุวรรณบุณย์, ประยูร จรรยาวงศ์, เหม เวชกร, พิมล กาฬสีห์ ล้วนเป็นนักเขียนการ์ตูนในตำนานของบ้านเรา การได้เห็นลายเส้นจากนักเขียนชั้นครูหลายคน ไม่ได้หาชมได้ง่ายๆ
    ถัดมายุคปัจจุบัน (พ.ศ.2500-ปัจจุบัน) วงการการ์ตูนได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน หนังสือการ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัย เช่น นิตยสารการ์ตูน ขายหัวเราะ ปัจจุบันมีอายุ 48 ปี ซึ่งมีพลังของภาพวาดการ์ตูน และคาแร็กเตอร์ที่นักอ่านจดจำ มีการเล่าเรื่องโดนใจ สร้างอารมณ์ขันและสนุกสนานมายาวนาน มาชมนิทรรศการจะพาไปชมงานของต่าย ขายหัวเราะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดคาแร็กเตอร์การ์ตูนดังปังปอนด์ นอกจากนี้ยังมีหนังสือการ์ตูนไทยที่ครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัย อย่างมหาสนุก, ไอ้ตัวเล็ก, หนูหิ่นอินเตอร์ ฯลฯ   

นิตยสารการ์ตูนขายหัวเราะ จากหนังสือเล่มปรับตัวสู่โลกดิจิทัล

 


    โซนนี้ยังมีการนำเสนอผลงานของ “ชัย ราชวัตร” หรือ “สมชัย กตัญญุตานนท์” ในการ์ตูน “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นการ์ตูนล้อเลียนการเมือง, การ์ตูนชุด “หนูเล็ก-ลุงโกร่ง” ของ อดิเรก อารยะมนตรี, การ์ตูนสัตว์ประหลาด เช่น จัมโบ้เอ, ไอ้มดแดง, หุ่นนายสิทธิ์ ปัจจุบันเมื่อรูปแบบสังคมเข้าสู่ยุคดิจิทัล การ์ตูนหลายแบรนด์ได้ปรับเปลี่ยนก้าวข้ามจากสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์อย่างไม่รอช้า  
    ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ว่า สำนักหอสมุดแห่งชาติได้รวบรวมหนังสือที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนไว้มากมาย ตนได้ให้นโยบายว่า ควรมีการจัดหมวดหมู่หนังสือ เอกสาร ตำราต่างๆ ให้เป็นระบบ และนำมาจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในแง่มุมประวัติศาสตร์ วิชาการ สาระบันเทิง นำมาสู่การจัดนิทรรศการเรื่องหนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด เพื่อเผยแพร่ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของหนังสือการ์ตูนไทยตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงทุกวันนี้  
    “ หนังสือการ์ตูนไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเนื้อหา รูปแบบการเข้าถึง และการผสมผสานทางวัฒนธรรม แสดงถึงความเอาใจใส่ต่อสังคมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนการ์ตูนทั้งในแง่ของรูปแบบ เนื้อหาและการนำเสนอ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี“ อธิบดีกรมศิลปากรชวนมาหอสมุดแห่งชาติอ่านหนังสือการ์ตูนกัน
    นักอ่านหรือแฟนการ์ตูนสนใจนิทรรศการ “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” จัดแสดงที่ห้องวชิรญาณ 2 และ 3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ เทเวศร์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2564 วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"