เปิดทำเนียบฉีดวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" เปิดทำเนียบฯ ฉีดวัคซีนแอสตราฯ เข็มแรก พ่วง ครม.-แพทย์อาวุโสเรียกความเชื่อมั่น หลัง คกก.สธ.ไฟเขียวยันไม่ทำลิ่มเลือดอุดตัน ก่อนลุยฉีดประชาชนกลุ่มเสี่ยงวัย 60 ปีขึ้นไป ศบค.เผยคลัสเตอร์บางแคกระจาย 5 จังหวัด พบผู้ป่วยรายแรกเป็นพ่อค้าขายไก่-เจ้ามือแชร์เดินเก็บเงินทั่วตลาด มั่นใจคุมอยู่ใช้โมเดลปทุมธานี

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 มีนาคม เวลา 11.30  น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 78 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ  74 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 59 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 27,005  ราย หายป่วยสะสม 26,123 ราย อยู่ระหว่างรักษา 684  ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 88 ปี ชาว  จ.ปทุมธานี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเนื้องอกในสมอง มีคนในครอบครัวค้าขายอยู่ในตลาดพรพัฒน์ ไม่พบว่าคนในบ้านติดเชื้อ แต่บ้านอยู่ใกล้ตลาดพรพัฒน์อาจมีคนจากตลาดไปมาหาสู่จนติดเชื้อ  โดยวันที่ 15 ก.พ.ตรวจพบเชื้อโควิด-19 มีอาการเหนื่อยมากขึ้นและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต่อมาวันที่ 28 ก.พ. ติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายเฉียบพลัน ความดันโลหิตต่ำ  อาการแย่ลงเรื่อยๆ กระทั่งเสียชีวิตวันที่ 23 มี.ค. ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 87 ราย
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศมีทิศทางที่ควบคุมได้ แนวโน้มไม่มียอดกราฟที่พุ่งสูงขึ้น ยังเป็นตัวเลขสองหลัก ยังเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงสถานการณ์การติดเชื้อที่ตลาดบางแค เนื่องจากมีการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยพบว่าผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายไทยอายุ  21 ปี มีแผงขายไก่และไข่ไก่ 4 แผงอยู่ในตลาดวันเดอร์ อีกทั้งยังเป็นเจ้ามือแชร์ที่มีพฤติกรรมต้องเดินเก็บเงินไปมารอบตลาด โดยวันที่ 1 มี.ค.มีอาการไอ จมูกไม่ได้กลิ่น  ลิ้นไม่รับรส จากนั้นวันที่ 5 มี.ค.ไปตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 กรมควบคุมโรคจึงไปทำการสอบสวนโรคสมาชิกในครอบครัวและผู้ค้าแผงติดกันในวันดังกล่าว พบผู้ติดเชื้อ 7  ราย จึงมีการปิดตลาดและทำความสะอาด และเริ่มการค้นหาเชิงรุกในตลาดและชุมชนใกล้เคียง ตัวเลขการค้นหาเชิงรุกในวันที่ 11 มี.ค. ตรวจไปทั้งสิ้น 684 ราย พบผู้ติดเชื้อ  85 ราย และจนถึงวันที่ 15 มี.ค. มีการค้นหาเชิงรุกไปแล้วทั้งสิ้น 995 ราย พบผู้ติดเชื้อ 107 ราย นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาเชื้อทางน้ำลาย 2,772 ราย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเช่นเดียวกัน
    สำหรับคลัสเตอร์ตลาดบางแค ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงไป 4 จังหวัดที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน ได้แก่  สุพรรณบุรี, นครปฐม, เพชรบุรี และสมุทรสาคร เนื่องจากผู้ค้าจะรับของตลาดหนึ่งเพื่อไปยังอีกตลาดหนึ่ง โดยวันที่ 15 มี.ค.จะมีรถพระราชทานชีวนิรภัยไปจอดให้บริการที่ตลาดบางแค ใครที่อยู่บริเวณโดยรอบหรือมีประวัติเชื่อมโยงสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ในส่วนของตลาดวันเดอร์มีแผงค้าทั้งสิ้น 1,000 แผง มีผู้ค้าและลูกจ้าง 1,200 คน มีทางเข้าออกเชื่อมต่อกับ 6 ตลาด ทำให้การคัดกรองย่อหย่อน พื้นที่ไม่ระบายอากาศ ดังนั้นจึงขอให้แต่ละตลาดรักษาสภาพแวดล้อม เคร่งครัดตามมาตรการของสาธารณสุข ขณะที่สถานการณ์ใน จ.สมุทรสาครดีขึ้น มีการรายงานตัวเลขค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่คาดหวัง ขณะนี้มีผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาตัว 332 ราย โดยการคัดกรองเชิงรุกดำเนินการมาแล้วทั้งหมด 115,587 ราย หรือ  96.2% จึงพิจารณาเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ขอผ่อนคลายทั้งจังหวัด
    ด้าน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยผลการประชุม ศบค.ชุดเล็กว่า ที่ประชุมได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขถึงสถานการณ์ที่ตลาดบางแคว่า จะมีลักษณะคล้ายกันกับตลาดที่อื่นๆ คือเจ้าของตลาดเป็นคนไทยและมีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในตลาด ซึ่งเขาก็มีการไปมาหาสู่กัน ความระมัดระวังยังมีไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับที่ตลาดพรพัฒน์ จ.ปทุมธานี ซึ่งสามารถควบคุมได้และนำมาเป็นโมเดลตัวอย่าง และต่อไปจะต้องเฝ้าระวังในตลาดสดต่างๆ
    เมื่อถามว่า สถานการณ์ตลาดบางแคจะส่งผลต่อการพิจารณามาตรการผ่อนคลายในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ยังเห็นว่าไม่น่าเป็นข้อกังวลมากนัก แต่เป็นข้อที่พึงระวังไว้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาพิจารณาและประเมินภาพรวมของประเทศ แต่ไม่ใช่ว่าจะมีผลกระทบถึงกับทำให้ต้องยกเลิกทั้งหมด ไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมของการผ่อนคลายในช่วงเทศกาลสงกรานต์  ส่วนมาตรการผ่อนคลายการจัดงานสงกรานต์นั้น คาดว่าในการประชุม ศบค.ชุดเล็ก วันที่ 17 มี.ค.จะได้ข้อเสนอ  ก่อนจะเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 19 มี.ค.นี้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 มี.ค. เวลา 08.55 น.  ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเข้ารับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก ที่ตึกสันติไมตรีหลังใน  ทำเนียบรัฐบาล โดย นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จะเป็นผู้ฉีดวัคซีนให้ ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความพร้อม โดยให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาหนังสือเดินทางมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมขอให้ยืนยันความประสงค์การเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยด่วน ทั้งนี้หลังการฉีดวัคซีนแล้วต้องให้แพทย์สังเกตอาการ 30 นาที จึงทำให้ต้องเลื่อนการประชุม ครม.วันที่ 16 มี.ค.ไปเป็นเวลา 09.30 น.
    สำหรับการฉีดวัคซีนให้นายกฯ ครั้งนี้ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์ แต่จะมีการไลฟ์สดผ่านทางเพจไทยคู่ฟ้า ซึ่งหลังจากรับวัคซีนแล้วนายกฯ จะพูดสดถึงภาพรวมและการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การกลับคืนสู่ภาวะปกติของประเทศ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะพูดถึงแผนบริหารจัดการภาพรวมทั้งหมดของวัคซีน
    ด้านนายอนุทินกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดจากต่างประเทศและองค์การอนามัยโลก ซึ่งยืนยันว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาไม่เกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ  สามารถฉีดได้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้คนไทย และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นว่าสามารถเดินหน้าฉีดต่อไปได้ โดยช่วงบ่ายมีการประชุมคณะกรรมการวิชาการเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น หากไม่มีข้อมูลขัดแย้งเพิ่มเติมจะได้เริ่มทำการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไปในจังหวัดเป้าหมายตามแผน
    นายอนุทินกล่าวด้วยว่า นายกฯ แสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดเวลา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยการฉีดวัคซีนให้ผู้นำประเทศต้องได้รับคำยินยอมจากคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งวันที่ 16 มี.ค.ได้เตรียมวัคซีนทั้งจากแอสตราเซเนกาและซิโนแวคเพื่อฉีดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่สมัครใจ ตาม 8 ขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดห้องสังเกตอาการ และกรมการแพทย์ได้จัดรถพยาบาลพร้อมส่งต่อไปยังโรงพยาบาลราชวิถีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยอาจารย์ยง  ภู่วรวรรณ จะเป็นผู้ฉีดให้นายกฯ และจะรับการฉีดพร้อมกับอาจารย์แพทย์อาวุโสท่านอื่น เช่น ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนด้วย
    ทั้งนี้ มีวัคซีนจากแอสตราเซเนกา จำนวน 117,300  โดส ซึ่งจะเน้นฉีดให้กลุ่มเสี่ยงเป้าหมายที่อายุเกิน 60 ปี  และจะได้รับจำนวนมากในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ขอยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ ซึ่งวันที่ 20 มี.ค.นี้จะได้รับวัคซีนจากซิโนแวคอีก 800,000 โดส รวมทั้งได้เจรจาจัดหาวัคซีนจากซิโนแวคเพิ่มอีกจำนวน 5 ล้านโดส และได้มีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ ที่สามารถนำส่งวัคซีนมายังประเทศไทย ก่อนที่วัคซีนจากแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทยจะผลิตออกมา สำหรับภาคเอกชนคาดว่าอีกไม่กี่เดือน จะสามารถติดต่อเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่ได้รับการผ่อนคลายจากสถานการณ์ฉุกเฉินมากขึ้นและใช้ในสถานการณ์ปกติได้
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท  ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน  กรมควบคุมโรค แถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-14 มี.ค.ได้ให้บริการฉีดวัคซีนสะสม 46,598 คน คิดเป็นร้อยละ 50  ของจำนวนวัคซีน ยังไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรงที่ต้องเข้ารับการดูแลจากคณะกรรมการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ส่วนผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรงมีจำนวน 4,229 ราย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"