ในช่วงเวลาที่ประเทศและโลกกำลังประสบกับปัญหาที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้การดำเนินการต่างๆ นั่นติดขัดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าลงทุน หรือการค้าขาย ซึ่งธุรกิจที่มีขนาดใหญ่นั้น ต้องคิดทบทวนให้ดีที่สุดก่อนจะตัดสินใจลงเงินอะไรไป จึงสะท้อนให้เห็นว่าปีก่อนนั้นการลงทุนข้ามประเทศมีสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมาก
ในขณะที่ประเทศไทยเองเกิดผลกระทบทางด้านธุรกิจเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด เนื่องจากการท่องเที่ยวนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ทุกประเทศมีการปิดน่านฟ้าเดินทาง ขณะเดียวกันคนในประเทศเองก็ต้องกักกันเชื้อไวรัส จึงทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบไปทั้งหมด
โดยที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ได้สรุปภาวะการลงทุนปี 2563 ว่ามีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 480,000 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นคือ ปี 2562 มูลค่าการลงทุนก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน ถ้าไม่นับรวมโครงการที่มีขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งยื่นขอรับส่งเสริมเมื่อปี 2562 อย่างไรก็ดี ถึงแม้มูลค่าจะลดลงไปเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และจากการระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อดูในแง่จำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 12% โดยมีจำนวน 1,717 โครงการ
และประเด็นน่าสนใจสำหรับภาวะการลงทุนปีที่ผ่านมาคือ กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ามีการขอรับส่งเสริมจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าคือปี 62 ที่ 20% มูลค่าลงทุน 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผ้า หรือเส้นใยชนิดต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงขึ้นมาก เป็นการเติบโตที่สอดคล้องไปกับมาตรการของบีโอไอที่ให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็วในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีจากการลงทุนที่เป็นกิจการของคนไทยทั้งสิ้น ได้ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีมูลค่าลงทุน 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 148% และหากจะคิดเป็นสัดส่วนโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นมีจำนวนถึง 42% ของจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมทั้งหมดตลอดปี 2563 ส่วนด้านมูลค่าลงทุนมีสัดส่วน 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก จึงอาจจะกล่าวได้ว่า นักลงทุนไทย รวมถึงเอสเอ็มอี คืออัศวินม้าขาวของระบบเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาได้เลยเต็มปาก
ด้านบีโอไอเองก็ได้ออกมาตรการพิเศษให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด รวมทั้งให้ครอบคลุมทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก และอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็คือมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีของบีโอไอที่ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการลงเพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะสะดุดจากโควิด-19 การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอาจยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่การเร่งสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว ให้ขยายการลงทุนต่อ น่าจะเป็นแนวทางสำหรับการส่งเสริมการลงทุนที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนอย่างบีโอไอนั้น ก็คงต้องอาศัยโอกาสนี้ที่จะนำเสนอมาตรการต่างๆ ที่ตอบโจทย์และทันสมัยเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพื่อความหวังในการจะเพิ่มแนวโน้มที่ดีขึ้นให้กับเศรษฐกิจไทย.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |