ไทย-เมียนมา : ความคุ้นเคย เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน


เพิ่มเพื่อน    

       ถ้าไทยเราจะมีส่วนช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติของเมียนมาได้จะต้องมีบทบาทอย่างไร?

                ข้อแรกที่ต้องตระหนักคือ ไทยจะต้องกระตุ้นให้อาเซียนทั้งกลไกมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการแสวงหาทางออกกันอย่างเป็นรูปธรรม

                และอาเซียนจะต้องจับมือกับสหรัฐ, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และแน่นอนสหประชาชาติในการระดมสรรพกำลังทางการเมือง การทูตและเศรษฐกิจ เพื่อให้กองทัพเมียนมาตระหนักถึงความสำคัญของการที่จะต้องฟังเสียงของนานาชาติในการระงับเหตุร้ายที่อาจจะบานปลายใหญ่โต

                เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ลากยาวและยืดเยื้อออกไปในเมียนมาอาจจะเกิดภาวะ “สงครามกลางเมือง”

                เป็นสภาพความวุ่นวายสับสนที่มีการเข่นฆ่านองเลือดกันอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลกที่เราเคยเห็นในอิรักหรือลิเบียหรือโคโซโวมาแล้ว

                สำหรับประเทศไทย เดิมพันมีสูงกว่าประเทศอื่นๆ ข้างนอก เพราะเราคือเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด นอกจากจะมีพรมแดนทางบกที่ยาวกว่า 2.4 พันกิโลเมตรแล้ว ไทยกับพม่ายังมีความผูกพันทั้งด้านการเมือง, ความมั่นคง, เศรษฐกิจ, สังคมและสาธารณสุขอย่างแนบแน่น

                อีกทั้งผู้นำไทย, ข้าราชการ, นักธุรกิจ, นักวิชาการและประชาชนของทั้ง 2 ประเทศก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกว่าประเทศอื่นใด

                ดังนั้นความทุกข์ยากและวุ่นวายของเมียนมาก็คือความทุกข์ยากและวุ่นวายของไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

                หากความรุนแรงในเมียนมาเพิ่มระดับขึ้น ผลกระทบต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมก็จะหนักหน่วงขึ้นทันที

                ความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมาส่งผลให้ไทยต้องเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับผู้อพยพหนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมาก

                สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยป้องกันชายแดนในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก เพื่อเตรียมตั้งรับสถานการณ์ที่อาจจะมีคนพม่าหนีความวุ่นวายทางการเมืองเข้าไทยผ่านจุดชายแดนต่างๆ

                รายงานข่าวบอกว่า จังหวัดตากได้เตรียมพื้นที่รองรับผู้อพยพไว้ จำนวน 7 แห่งใน 4 อำเภอตลอดแนวชายแดน ได้แก่ อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.พบพระ และ อ.แม่สอด

                ถึงวันนี้มีผู้อพยพลี้ภัยการสู้รบชาวเมียนมาในหลายสิบปีที่ผ่านมาอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในไทยหลายแสนคน

                บางส่วนอพยพมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1980 ด้วยซ้ำ

                ผู้อพยพจำนวนหนึ่งเกิดในค่ายผู้อพยพ และไม่เคยอาศัยอยู่ในเมียนมาเลยก็มี

                หากสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมาไม่กระเตื้องขึ้นผ่านการเจรจาหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และสันติ ความยุ่งยากตรงชายแดนของไทยเราก็จะยิ่งเพิ่มภาระหนักหน่วง

                ไม่ต้องพูดถึงความเสี่ยงที่เพิ่มระดับ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มาซ้ำเติมความหนักหน่วงของปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงที่มีอยู่แล้ว

                บทบาทของไทยที่จะเป็น “สะพานเชื่อมตรง” กับเมียนมาทั้งทางภูมิศาสตร์และรัฐศาสตร์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

                ความสนิทสนมของผู้นำไทยกับผู้นำเมียนมา (ทั้งด้านกองทัพและกระทรวงต่างประเทศ) จะต้องถูกใช้ในทางสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาระดับสากล

                ความใกล้ชิดของไทยกับเมียนมาทั้งกับฝ่ายก่อรัฐประหารและฝ่ายประชาธิปไตยที่มี อองซาน ซูจี เป็นผู้นำ จะต้องทำให้เกิดผลในแง่บวก

                อย่าให้ประเทศอื่นมองว่าความใกล้ชิดระหว่างผู้นำไทยกับฝ่ายรัฐประหารกลายเป็น “ปัจจัยลบ” เพราะอาจจะมีความ “เห็นอกเห็นใจ” ระหว่างนายพลของ 2 ประเทศมากกว่าที่จะเป็นการใช้ความคุ้นเคยในการน้าวโน้มให้ฝ่ายทหารหยุดยั้งการกระทำที่ประชาคมโลกกำลังจับตาว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

                ความเสี่ยงของรัฐบาลไทยคือหากใช้ “ความคุ้นเคย” กับฝ่ายทหารและพลเรือนเมียนมา (ทั้งพลเอกมิน อ่องหล่าย และอองซาน ซูจี) ไปในทางที่ผิดก็จะทำให้ “จุดแข็ง” กลายเป็น “จุดอ่อน” ของไทยได้

                ครั้งนี้จึงเป็นการพิสูจน์ความสามารถของ “การทูตไทย” ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

                (พรุ่งนี้ : สายตรงกรุงเทพฯ-เนปิดอว์).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"