แถลงการณ์ไทยกรณีเมียนมา ท่าทีชัดขึ้นแต่ยังชัดไม่พอ


เพิ่มเพื่อน    

    รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์กรณีวิกฤติเมียนมา ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยภาษาที่ "ชัดขึ้น"  แต่ "ไม่ชัดพอ" สำหรับการแสดงจุดยืนที่ควรจะแข็งขันกว่าที่ผ่านมา

            เพราะถ้าเปรียบเทียบกับการแสดงออกของเพื่อนเราในอาเซียนชาติอื่นๆ ทั้งอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์แล้ว ไทยเราถูกมองว่า "เก้ๆ กังๆ" พอสมควร

            เพราะก่อนหน้านั้น ไทยไม่ได้เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาหยุดการใช้อาวุธสังหารประชาชนที่ออกมาประท้วงโดยปราศจากอาวุธ

            ไทยไม่ได้ระบุชัดให้ปล่อยตัวอองซาน ซูจี และผู้นำรัฐบาลของพรรค NLD

            ไทยเราไม่ได้แสดงความเห็นเรื่องรัฐประหาร

            ไทยเราเพียงแต่อ้างว่าเรามีจุดยืนเหมือนกับสหประชาชาติและอาเซียน

            เท่ากับเป็นการเอาตัวเองลอยอยู่เหนือวิกฤติของเพื่อนบ้านที่ชายแดนทางบกติดต่อกันยาวที่สุด

            แถลงการณ์ล่าสุดของรัฐบาลไทยบอกว่า

            "ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันโดยมีพรมแดนร่วมกันเป็นระยะทางยาว และประชาชนไทยกับประชาชนเมียนมามีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในหลากหลายมิติ  ไทยยังคงติดตามสถานการณ์ในเมียนมาด้วยความห่วงกังวลอย่างมาก เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เราเสียใจต่อการเสียชีวิตและความทุกข์ยากต่างๆ ของประชาชนเมียนมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยกระดับมากขึ้น

            ไทยขอย้ำท่าทีตามแถลงการณ์ของบรูไนดารุสซาลามในฐานะประธานอาเซียน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และ 2  มีนาคม ซึ่งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาใช้ความอดทนอดกลั้นและมีความยืดหยุ่นอย่างถึงที่สุด เราเรียกร้องให้มีการคลี่คลายสถานการณ์และการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว  รวมทั้งขอกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี ด้วยการพูดคุยกันผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ใดๆ เพื่อเมียนมาและประชาชนเมียนมา

            ไทยสนับสนุนความพร้อมของอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือในเชิงบวกอย่างสันติและสร้างสรรค์แก่เมียนมา ซึ่งเป็นสมาชิกของครอบครัวอาเซียน"

            ที่เพิ่มความชัดเจนมาในแถลงการณ์นี้สำหรับไทย คือการใส่คำว่า "...และการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว" แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นอองซาน ซูจี หรือประธานาธิบดีวิน มินท์ และสมาชิกคนสำคัญของพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงเกิน 80%

            ไม่มีการระบุขอให้กองทัพเมียนมายุติการใช้อาวุธสังหารและทำร้ายประชาชนที่ใช้สิทธิ์คัดค้านรัฐประหาร

            เพียงแต่ให้มีการ "คลี่คลายสถานการณ์"

            และ "ขอกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี ด้วยการพูดคุยกันผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ใดๆ เพื่อเมียนมาและประชาชนเมียนมา"

            ขณะที่ผู้นำของอินโดฯ, สิงคโปร์ และมาเลเซียให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยว่า การที่ประชาชนถูกตามไล่ยิงอย่างโหดเหี้ยมนั้นเป็นสิ่งที่ "รับไม่ได้" หรือ "ให้อภัยไม่ได้"

            ผมได้รับคำอธิบายว่า สาเหตุที่รัฐบาลไทยต้องมีท่าที  "กลางๆ" อย่างนี้ เพราะเป็นเพื่อนบ้านที่เข้าใจทุกฝ่ายในเมียนมา ต้องการจะเปิดช่องทางเอาไว้สำหรับการหาทางออกร่วมกัน จึงไม่อยากจะใช้ภาษาที่จะเป็นการกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้เขารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเขาเลย

            หากท่าทีของไทยเช่นนี้จะช่วยให้ฝ่ายทหารและอองซาน ซูจีในเมียนมา มองไทยว่าเป็นคนนอกที่เข้าใจเขามากที่สุด เราก็ต้องแน่ใจว่าฝ่ายกองทัพเมียนมาจะต้องฟังคำแนะนำและคำเตือนของเราที่จะต้องหยุดยั้งการไล่ฆ่าประชาชนของเขา

            และต้องให้คนของรัฐบาลไทยสามารถเข้าถึงคนของอองซาน ซูจี เพื่อประเมินสถานการณ์ในฐานะ "เพื่อนสนิทผู้หวังดีกับทุกฝ่าย"

            เราต้องไม่ถูกฝ่ายทหารเมียนมาใช้เป็นเครื่องมือ และต้องให้ฝ่ายประชาธิปไตยของเขาเห็นว่าเรามีความจริงใจที่จะ "อำนวยความสะดวก" ในการหาทางออกเพื่อประโยชน์ของคนเมียนมาเอง

            แต่เมื่อรัฐบาลไทยยอมรับ "วูนนะ หม่อง ลวิน" เป็น  "รัฐมนตรีต่างประเทศ" ของเมียนมาในวันที่เขาบินมาที่ดอนเมือง ขณะที่อาเซียนชาติอื่นๆ ยังเรียกเขาเป็นเพียง "ตัวแทนของรัฐบาลรัฐประหาร" ก็อาจถูกตีความว่าเราให้  "ความชอบธรรม" ในการยึดอำนาจครั้งนี้

            นั่นย่อมทำให้สถานะของการเป็น "เพื่อนผู้หวังดีกับทุกฝ่าย" หมดความศักดิ์สิทธิ์ลงไปทันที.

            (พรุ่งนี้: หนทางของการเจรจาหาทางออกวิกฤติเมียนมา)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"