14 มี.ค.64 - ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 14 มีนาคม "คนเดือนพฤษภา 2535 สภาที่ 3” ได้จัดเสวนา เรื่อง "จาก รสช. คปค.คมช.ถึง 3ป. มรดกรัฐประหารที่ตกค้างในแผ่นดินไทย” โดยมีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2535 นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมเสวนา
โดยนายอดุลย์ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นคือมรดกของรัฐประหารยังมีตลอดเวลา วันนี้บ้านเมืองเราที่ผ่านการรัฐประหารจาก คสช. และมาสู่ความเลวร้ายและล้มเหลวในทุกด้าน แม้พยายามประนีประนอมและทำตามคำสอนของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 คือหันหน้าเข้าหากัน แต่จนวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ ตนขอโทษที่ไม่สามารถเดินได้ถึงจุดที่ปรองดองกันได้ แม้จะพยายามทุกทาง วันนี้สิ่งที่รัฐบาลทำกับตน ทำกับพวกเรา ทำกับสังคมไทยมันไม่เป็นจริงอย่างที่พูด ตนต้องขอโทษเพราะรู้สึกละอายกับวีรชนคนที่ตายไป ตนพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งน่าจะดีกว่านี้ อย่างไรก็ตามตนไม่ได้เกลียด พล.อ.ประยุทธ์เป็นการส่วนตัว แต่ชิงชังการบริหารบ้านเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า ที่ได้กระทำแบบนี้
"สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป เกิดจากการที่พลเอกประยุทธ์และพวก ถือปืนเข้ามายึดอำนาจ ประเทศยังไม่เกิดความสามัคคีปรองดอง และทำตรงข้ามโกหกหลอกลวงและสร้างความแตกแยก ทุจริตต่อหน้าที่ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต วางคนของตัวเองไว้ กุมอำนาจเศรษฐกิจ เอื้อนายทุน กุมอำนาจทหาร มีการซื้อเสียง ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้ต่อไปแม้แต่องค์กรอิสระก็พึ่งพาไม่ได้ อยากเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าสลายความเป็นสีเสื้อแล้วมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในนามประชาชนคนไทย ลุกขึ้นมาร่วมกันแสดงพลังให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะได้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วหมด"นายอดุลย์ กล่าว
ด้านนายปริญญา กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 วันที่ 17 - 18 มี.ค.นี้ ว่า กระบวนการที่จะเริ่มทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาต้องโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระ 3 จากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ส่วนการที่มี ส.ส. และ ส.ว.บางส่วนตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระ 1 และ 2 ถือเป็นโมฆะนั้น ตนเข้าใจว่าเป็นความตั้งใจตีความให้ไปต่อไม่ได้ เพราะจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ต้องมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก่อน จึงจะไปถามประชาชนว่าอยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
"หากเราเคารพในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจริงต้องมีวาระ 3 และหากรัฐสภาต้องการให้ประชาชนได้แสดงความประสงค์ว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รัฐสภาต้องผ่านวาระ 3 ถึงจะมีการทำประชามติ หากประชาชนไม่เอาก็ใช้ฉบับ 2560 ต่อไป แต่หากประชาชนเห็นชอบด้วยจึงจะเกิดส.ส.ร. เราจะเห็นด้วยกับรัฐบาลกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ก็ให้ใช้ 1 คน 1 เสียงจบที่ประชามติ ถ้าประชาชนไม่เอา ก็ใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป เรื่องง่ายๆแค่นี้" นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวด้วยว่า หากจะมีการทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เราจะใช้รัฐธรรมนูญมาตราไหนมาดำเนินการ เพราะหากใช้มาตรา 116 ก็จะกลายเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา และอาจจะเกิดการติดขัดขึ้น แต่ในมาตรา 256 ไม่ได้มีการเขียนไว้ว่าให้ทำประขามติก่อน ดังนั้น การจะทำประชามติก่อนจึงต้องแก้ไขมาตรา 256 เพราะส่วนตัวมองหาไม่เจอว่ารัฐสภาจะใช้อำนาจตามมาตราใด
นายปริญญา กล่าวอีกว่า หากเราประสงค์จะให้พี่น้องคนไทยไม่ว่าฝ่ายไหนยุติปัญหาด้วยรัฐสภา คิดว่าขั้นตอนที่จะนำความขัดแย้งนอกสภามาสู่กระบวนการที่ใช้รัฐสภาเป็นตัวแก้ปัญหา เกรงว่าหากคว่ำไป การเมืองนอกสภาอาจจะแรงขึ้น ดังนั้น ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องความยอมรับของประชาชนจำนวนมาก ต่อให้ผ่านประชามติมาก็เป็นประชามติที่ไม่สมบูรณ์แบบ ตนจึงเห็นว่าควรจบด้วย 1 คน 1 เสียง เพราะเมื่อผลออกมาแล้วจะแก้ข้อครหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ และจะได้รู้กันไปเลยว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาจริงหรือไม่ แต่หากไม่มีวาระ 3 ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด เพราะเท่ากับว่ารัฐสภาด้อยค่าตัวเอง ในการพิจารณา 2 วาระที่ผ่านมา จึงมองว่าอย่างไรก็ตามต้องมีวาระ 3 ส่วนจะโหวตอย่างไร เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีต่อประชาชน
“ขอตั้งคำถามไปยังที่ประชุมรัฐสภา มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีฉบับใหม่หรือไม่นี่คือสิ่งที่ ศาลรัฐธรรมนูญวางเงื่อนไขไว้ ว่าทำได้แต่ต้องถามประชาชนก่อน”นายปริญญา กล่าว
ด้านนายจตุพร กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่มีทางที่แก้ไขได้ เพราะเป็นกลไกเดียวที่สามารถต่ออายุของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้ ทั้งนี้ในการลงมติวาระสามของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 17 มีนาคม นั้นเชื่อว่าวุฒิสภาจะลงมติเห็นชอบไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดไว้ คนที่ต้องรับผิดชอบ มากที่สุดคือ พลเอกประยุทธ์ ซึ่งการแก้ไขและธรรมนูญเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่งที่หลอกกันไปหลอกกันมา การทำประชามตินี้นำมาแอบอ้างเป็นประชามติที่อัปยศอดสู ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่ว่าจะผ่านมากี่ฉบับก็จบลงด้วยการถูกฉีกทั้งนั้น ที่สุดแล้วพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเล่นบทลอยตัวสร้างความขัดแย้งให้ประชาชน แล้วตัวเองก็ปกครองสบาย เพราะถ้าประเทศสามัคคีผู้ปกครองแบบนี้จะปกครองไม่ได้ เขาจึงไม่พยายามที่จะสร้างความปรองดองใดทั้งๆสิ้น แต่เป็นคณะรัฐประหารที่มีความประหลาดไม่เหมือนกับชุดอื่น อะไรที่ตึงเขาพร้อมที่จะถอย ทำอะไรผิดเขาพร้อมจะขอโทษไม่อย่างนั้นเขาจะบริหารชาติบ้านเมืองแบบนี้จะได้ถึงเจ็ดปีหรือ
“ประยุทธ์โกหกไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่คนไทยก็ยังให้อภัย ผมถึงบอกกับประชาชนว่าการแก้ไขและธรรมนูญเป็นเรื่องหลวงโลกของรัฐบาล เพราะเป็นกลไกเดียวที่จะต่ออายุของเขา นอกจากนี้บรรดานักการเมืองทั้งหลายก็กลัวกลไกทหาร แบบน้ำเพิ่งเรือเสือพึ่งป่าที่ปัญหาเต็มไปหมดภายในรัฐบาลเอง พรรคประชาธิปัตย์ก็สาละวันเตี้ยลงทุกวัน ถ้าเรื่องรัฐธรรมนูญพรรคประชาธิปัตย์ยังแถกได้อีกครั้งน่าจะเรียกว่าสูญพันธุ์ หรืออาจจะเหลือไม่ถึงครึ่งของครึ่งเพราะเห็นกันอยู่ว่ามันผลัดกันเล่นผลัดกันต้ม และศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็มาจากประยุทธ์ทั้งชุด ผมถึงบอกว่าวันนี้ถ้าประชาธิปัตย์ยังไม่รู้สึกรู้สา กรุงเทพฯหมด และภาคใต้ก็จะทยอยสูญพันธุ์ วันนี้ถ้านักการเมืองยืนหยัดเรื่องประชาธิปไตย เราจะไม่มีสภาพแบบนี้ วันนี้ประชาชนต้องคิดกันใหม่เราจะถูกแบ่งแยกและทำลายเพื่อผู้ปกครอง ถ้าเรายังทะเลาะกันเหมือนเดิม เราก็สู้คนที่มายึดอำนาจเหล่านี้ไม่ได้ วิธีที่จะดัดหลังพวกนี้ เราต้องคิดเรื่องชาติบ้านเมืองเป็นใหญ่ เอาเรื่องตัวเองวางไว้ไม่เช่นนั้นเราจะไม่ได้อะไรเลย รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ ประเทศก็เจ๊ง” นายจตุพร กล่าว
ขณะที่นายพิภพ ธงไชย กล่าวเตือนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือกลุ่ม3 ป. อย่าละเลยกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีศาลรัฐธรรมนูญมากำกับ รวมถึงประมาทพลังประชาชน เพราะอาจเกิดเหตุการณ์เหมือนประเทศเมียนมาร์ได้ เพราะทหารประมาทประชาชน อย่างไรก็ดีตนมองว่าการเคลื่อนไหวของประชาชนต่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญต้องเป็นไปอย่างสันติวิธี และเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนผู้สถาปนารัฐธรรมนูญเป็นเกราะป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีก
"ผมเชื่อว่าหากประชาชนที่มีข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญและให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ถอนประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ออก จะเหลือความเห็นที่ตรงกัน และร่วมชูธงคำขวัญของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ประชาชนมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจและความรับผิดชอบที่มีอยู่ข้อเดียวคือทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินตามกลไกไปให้เร็วที่สุด โดยต้องทำให้สำเร็จและทันก่อนเปลี่ยนสมัยของรัฐบาล เพื่อให้พวกคุณกลับบ้านและนอนหลับได้อย่างสบายใจ" นายพิภพ กล่าว
นายพิภพ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะทำให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ไม่ได้ ประชาชนต้องกล่าวหาว่า ไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญสำคัญ 2 เรื่อง คือ ปฏิรูปตำรวจและปฏิรูปการศึกษา
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |