นิทรรศการนำเสนอแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว
ในประเทศไทย ภาคพลังงานเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43% ภาคขนส่ง27% รวมแล้ว 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ปัญหา คือ พลังงานที่ใช้ในบ้านเรามาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่งเองก็เผชิญปัญหา เพราะทุกวันนี้ 99.95% ของยานพาหนะทั้งหมดในไทยเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันซึ่งเป็นที่มาของฝุ่นพิษ PM2.5
โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ สภาพการจราจรที่ติดขัดติดติดอันดับ 10 ของโลก จากความหนาแน่นของจำนวนรถยนต์ ทุกวันนี้มีรถยนต์จดทะเบียนสะสมมากกว่า 10 ล้านคัน ทุกปีคนเมืองเสียเวลาไปกับนั่งแช่บนท้องถนน 8 วัน กับอีก 15 ชั่วโมง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 11 พันล้านบาท
ที่กล่าวมาล้วนเป็นที่มาของปัญหามลพิษ PM2.5และสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ที่ทำให้ไทยติดอันดีบด้านความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในอันดับ 9 ของโลก
การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานทั้งภาคการผลิตและเพื่อการขนส่งจากน้ำมัน หรือพลังงานฟอสซิล มาเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ถือเป็นเครื่องมือต่อสู้และบรรเทาผลกระทบจากภาวะ"โลกร้อน" ซึ่งนับวันส่งผลกระทบชัดเจน ในรูปของภัยแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยและยาวนานขึ้น รวมทั้ง ไฟป่าที่เป็นผลพวงจากภัยแล้ง หรือการเกิดอุทกภัยถี่ขึ้นกว่าเดิม
โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 53 จาก 115 ประเทศ ที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ส่วนสวีเดนครองแชมป์มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในด้านเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ 6 ร่วมกับเวียดนาม ยังตามหลังฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์และกัมพูชา
เหตุนี้ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม จับมือกับสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เสนอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและคมนาคมขนส่งของประเทศไทยจากปัจจุบันไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนผ่านงาน ”พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” ซึ่งเปิดให้คนรักโลกเข้าชมตั้งแต่วันที่ 12-18 มี.ค.นี้ ที่ลานกิจกรรรมชั้น 3 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ
ไฮไลต์มีการนำเสนอแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2564-2573 ซึ่งมีเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซในภาคขนส่งราว 35% ภายในปี 73 ในแผนมีการนำเสนอแนวทาง”ลด-เปลี่ยน-ปรับปรุง” ดังนี้ 1.ลดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง เช่น วางแผนพื้นที่เมืองแบบกระชับ การสนับสนุนการทำงานจากบ้าน และการพัฒนาพื้นที่รอบระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้คนสามารถเดินทางด้วยระบบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกมากขึ้น
.เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า หนึ่งในคมนาคมแบบใหม่
2.เปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง โดยสนับสนุนให้เกิดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว และการเดินทางด้วยรูปแบบที่ไม่ปล่อยมลพิษ เช่น การเดิน หรือการปั่นจักรยาน ซึ่งลดปัญหารถติด ลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในเวลาเดียวกัน 3.ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในยานยนต์ โดยพัฒนาเทคโนโลยีระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ เทคโนโลยีประหยัดพลังงานในยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ไทยต้องมีแผนและนโยบายเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกตามข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติ ทางกระทรวงคมนาคมอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีมาตรการการต่างๆ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่วนหนึ่งมาจากจราจรที่ติดขัดในเขตเมือง
ระบบขนส่งทางราง ช่วยลดก๊าชเรือนกระจก
การขนส่งสาธารณะในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ขณะนี้เริ่มใช้เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งภายใต้แผนการฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กำลังวางแผนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 2,511 คัน เพื่อให้บริการประชาชนได้ใช้ภายในปลายปีนี้ หากสำเร็จจะทำให้เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนระบบรางมีการผลักดันต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจุบัน เปิดให้บริการรถไฟฟ้าระยะทางมากกว่า 170 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 160 กิโลเมตร อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กทม.จะเป็นศูนย์กลางพัฒนาระบบขนส่งทางราง นอกจากนี้ จะมีรถไฟฟ้าถึง 14 สาย รวม 553 กิโลเมตร โดยเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่กำลังก่อสร้าง ระยะทาง 600 กิโลเมตร เชื่อมกับ 3 สนามบิน
รองปลัดคมนาคม กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสำคัญ คมนาคมกำลังกำลังเร่งศึกษาโครงการรถไฟทางไกล จะมีการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานไฮโดรเจน และการใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า โดยจะผลักดันในเขตเมืองใหญ่ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต และขยายในเมืองอื่นต่อไป นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกจะร่วมลดมลภาวะอากาศ กำลังหารือเรื่องการลดภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์อีวี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ใช้งานรถอีวีแพร่หลายในไทย ซึ่งตามแผนปฏิบัติการคมนาคมแบบใหม่นี้ จะเปลี่ยนวิถีของคน จะทยอยเปลี่ยนผ่านพลังงานในหมวดต่างๆต่อไป
"ทุกโครงการตั้งอยู่บนหลักขนส่งปลอดภัย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ทำการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ สร้างการเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเท่าเทียม มุ่งสู่การเดินทางในเมืองระยะใกล้และระยะไกลโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ตัวการโลกร้อน"รองปลัดฯ กล่าว
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผอ.กองการต่างประเทศสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน
การเดินหน้่าเปลี่ยนผ่านพลังงานช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อเป็นไปตามคำมั่นข้อตกลงปารีส โดยตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 20% ในกรณีปกติ ภายในปี 2573 ในฐานะกลไกอีกตัวที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ไปสู่พลังงานสะอาด ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 กำหนดให้มีสัดส่วนพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าราว 30% ภายในปี 80 แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561-2580 กำหนดให้ลดความเข้มข้นการใช้พลังงานลง 30% ภายในปี 80 เช่นกัน นอกจากนี้ จะใช้เทคโนโลยีดูแลระบบพลังงาน ลดคาร์บอนให้ได้มากสุด เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และระบบพลังงานต้องกระจายตัวเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น รวมถึงจะปรับปรุงกฎระเบียบให้ตอบสนองการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ไทย-เยอรมันจัดงาน”พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” เสนอแผนเปลี่ยนผ่านพลังงาน
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด โดยในส่วนพลังงานหมุนเวียน ผลผลิตทางการเกษตรชาวบ้านนำมาสู่เชื้อเพลิงโรงงาน โดยได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม อีกส่วนใช้ไบโอดีเซลเพิ่มความมั่นคงพลังงานไทย รวมถึงใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในเขตเมืองมุ่งเน้นการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ระดับครัวเรือน กระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ มุ่งเน้นแนวคิดเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงพลังงาน โดยแผนนี้จะเปลี่ยนภาคพลังงานให้สะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงนวัตกรรมด้านพลังงานจะเป็นกุญแจสำคัญ ทำให้ไทยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
"ในปี 2565 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ภายใต้แนวคิด โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เน้นที่นำทรัพยากรด้านพลังงานของไทยมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แปรสภาพขยะเกิดประโยชน์ทางพลังงาน “ ดร.พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย