หากนับตั้งแต่วันที่พรรคร่วมรัฐบาลยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 จนถึงขณะนี้ที่มีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 17-18 มีนาคม เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอลงมติวาระ 3 ถือว่าเส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างขรุขระ
และแม้ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) และมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่อีกครั้งหนึ่ง
ที่แม้ดูเหมือนจะมีความชัดเจนระดับหนึ่ง แต่สำหรับฝ่ายการเมือง คำวินิจฉัยดังกล่าวดูคลุมเครือ แตกกันออกเป็นหลายแขนงมาก
ท่าทีของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและวุฒิสภา ที่ถูกมองว่าไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น และพยายามตั้งคำถามเรื่องกระบวนการมาตลอด เห็นว่าต้องไปเริ่มกันใหม่ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาในวาระ 1 และวาระ 2 เป็นโมฆะเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันกับนายไพบูลย์ นั่นคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แท้งก่อนจะมีการลงมติในวาระ 3
ทว่า ปฏิกิริยาของฝ่ายที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับเห็นต่างออกไป เพราะมองว่าสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือการทำประชามติก่อนตามความหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมา
แน่นอนว่า ความเห็นต่างเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของฝ่ายการเมือง มีโอกาสที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดอีกครั้ง หรือร้ายแรงถึงขั้นแท้ง ต้องไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่
เพราะต้องไม่ลืมว่า ตัวแปรสำคัญคือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอลงวาระ 3 จะไปต่อได้หรือไม่ได้ ต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือ 84 เสียง ดังนั้นการที่มีสมาชิกวุฒิสภาแสดงความไม่มั่นใจออกมาอาจนำมาซึ่งการงดออกเสียง หรือแม้แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล ก็พูดในลักษณะเดียวกันว่า หากฝืนลงมติมีโอกาสจะถูกคว่ำ
ขณะที่นายชวน ในฐานะประธานรัฐสภา ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เนื่องจากหลายฝ่ายตีความคำวินิจฉัยแตกต่างกัน จึงขอรอดูรายละเอียดของคำวินิจฉัยก่อน
แต่อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดูจะเข้าทางพรรคพลังประชารัฐกับสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นเครื่องหมายคำถามมาตลอดว่าพยายามเตะถ่วงกระบวนการ และจงใจทำให้ทุกอย่างมันดูยุ่งยากซับซ้อนมาโดยตลอด เรียกว่าตั้งแต่ก่อนเริ่มนับหนึ่งเสียด้วยซ้ำ
โดยในเดือนธันวาคมปี 2562 ใช้วิธีแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขึ้นมา โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่ศึกษาก่อน คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวกินเวลาศึกษาไปนานกว่าครึ่งปี กระทั่งสรุปผลการรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมปี 2563
ทุกอย่างทำท่าจะราบรื่น แต่แล้วการลงมติในวาระที่ 1 ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง หลังวิปรัฐบาลเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาญัตติร่างรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอมา โดยหยิบยกสถานการณ์การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 และกรณีสมาชิกวุฒิสภาไม่เห็นด้วยหากให้ลงมติโดยไม่มีการศึกษาญัตติก่อน กว่าจะผ่านวาระ 1 ได้ต้องรอถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563
หรือแม้แต่การที่นายไพบูลย์และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน นำโดยนายสมชาย แสวงการ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ก็ถูกมองว่าหาทางล้มกระดาน
ทั้งหมดทั้งมวลเพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้มีการแก้ไข เพียงแต่บรรจุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นสัญญาใจในการเข้ามาร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยจึงต้องดำเนินการเท่านั้น
หากย้อนกลับไปในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในขณะนั้น คสช.เองก็เคยถูกตั้งข้อสังเกตว่าพยายามหาช่องทางยื้อให้การยกร่างเสร็จช้าที่สุด เพื่อยืดระยะเวลาการบริหารประเทศให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เพื่อไปเริ่มยกร่างกันใหม่
กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ขึ้นมายกร่างในเดือนตุลาคมปี 2558 มีการยกร่างรัฐธรรมนูญและทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ทว่า กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น เพราะต้องยกร่างกฎหมายลูกที่จะทำให้จัดการเลือกตั้งได้ มีการขยายไทม์ไลน์หลายครั้ง กว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ต้องรอถึงวันที่ 24 มีนาคม 2562
ครั้งนี้หลายฝ่ายก็มองว่าผู้มีอำนาจจะใช้วิธีคล้ายๆ เดิม คือสร้างอุปสรรคปัญหาแบบแยบยล จนในที่สุดเมื่อครบเทอมก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากที่สุดก็คือผู้มีอำนาจ
อย่างไรก็ตาม แม้การดำเนินการแบบนี้สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่รู้สึกว่าถูกหลอก และอาจเกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลก็ยังมีช่องทางให้ดิ้น นั่นคือ การยุบสภา ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายการเมืองย่อมไม่แฮปปี้กับจุดจบแบบนั้น เพราะผลลัพธ์คือต้องเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |