โหวตวาระ 3 สุ่มเสี่ยง แก้รายมาตราคือทางออก


เพิ่มเพื่อน    

 เดินต่อไปไม่ได้ ผิดมาตั้งแต่ต้น ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่

            เรื่องการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองที่ต้องติดตามต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา รธน.ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มี รธน.ฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่าง รธน.ฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่าง รธน.ฉบับใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ รัฐสภาจะมีการประชุมสมัยวิสามัญสัปดาห์นี้ 17-18 มี.ค. ที่มีระเบียบวาระเรื่องการโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 วาระสาม รอการพิจารณาอยู่ ท่ามกลางข้อเสนอและความเห็นที่หลากหลายของฝ่ายต่างๆ หลังมีคำวินิจฉัยของศาล รธน.ข้างต้น

                สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะแกนนำสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติยื่นคำร้องขอให้ศาล รธน.วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไข รธน. พร้อมกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ จนเป็นมติของศาล รธน.ข้างต้น กล่าวถึงผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.โดยมองว่า รัฐสภาไม่สามารถโหวตวาระสามในสัปดาห์หน้านี้ได้  เพราะกระบวนการที่รัฐสภาทำมาตั้งแต่วาระแรกจนถึงจะโหวตวาระสาม เป็นการทำข้ามขั้นตอนของคำวินิจฉัยของศาล รธน. ดังนั้นมองว่าหากมีใครโหวตจนเกิดเป็นมติเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.แล้วส่งไปทำประชามติ ก็สุ่มเสี่ยงอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รธน.ที่อาจมีผลตามมา พร้อมกับเสนอทางออกว่าหากจะแก้ รธน.เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ก็ควรใช้วิธีเสนอแก้เป็นรายมาตราจะเหมาะสมกว่า

            สมชาย-สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นโดยลำดับว่า  คำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่แม้ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่  ทว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.ก็มีผลผูกพันกับทุกองค์กรและเป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในท่อนที่ว่า

                 "รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่"

            ...คำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการบอกว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ได้ แต่เป็นภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ องค์อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือประชามติ จะต้องอนุญาตให้ทำได้ มิได้หมายความว่ารัฐสภามีอำนาจเพียงลำพังไปร่าง รธน.ฉบับใหม่เอง เพราะองค์อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญมาจากประชามติของประชาชน  16.8 ล้านเสียง ต่อ 10.5 ล้านเสียง เพราะฉะนั้นถ้าจะล้ม รธน.ฉบับปี 2560 โดยร่างขึ้นมาใหม่ ก็ต้องให้ประชาชนเห็นชอบก่อนว่า อนุมัติให้รัฐสภาทำหน้าที่ไปเตรียมจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ โดยหากประชาชนไม่อนุมัติก็จบ หากประชามติอนุมัติผ่านประชามติ รัฐสภาถึงค่อยไปเสนอร่างแก้ไข รธน.ออกมาบอกกับประชาชนว่าจะให้มีการร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดยใคร อย่างไร

            ...เรื่องนี้เสมือนว่าเรามีบ้านอยู่หลังหนึ่ง แล้วเราจะขอทุบบ้านหลังเก่าทิ้งแล้วสร้างบ้านหลังใหม่ ก็ต้องถามเจ้าของบ้านว่าตกลงอนุมัติให้รัฐสภา ซึ่งจะเป็นผู้ไปออกแบบ จะทุบบ้านทิ้งหรือสร้างบ้านใหม่มาให้ดูไว้ เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐสภาหากได้รับอำนาจจากผลประชามติให้ทำได้ รัฐสภาก็ต้องเสนอว่าจะใช้สถาปนิกหรือวิศวกรแบบใด เช่นจะให้มี สมาชิกสภาร่าง รธน.หรือ ส.ส.ร. 200 คน 200 เขต แบบร่างแก้ไข รธน.ที่ผ่านวาระสองมา หรือจะให้มี ส.ส.ร. 99  คนแบบตอนปี 2539 หรือ ส.ส.ร.แบบปี 2550 ที่มาจากสมัชชามาเลือกกันเอง หรือจะให้เป็นกรรมการร่าง รธน.แบบชุดอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ หรือรัฐสภาจะทำหน้าที่นั้นเสียเอง รัฐสภาทำได้และเคยทำมาแล้ว โดยการตั้งกรรมการยกร่าง รธน.ขึ้นมาใหม่ก็ทำได้เช่นกัน

            ...หากประชาชนลงประชามติให้มีการสร้างบ้านใหม่ เพื่อให้มี รธน.ฉบับใหม่แทน รธน.ปี 2560 รัฐสภาก็ต้องบอกว่าจะใช้วิธีการให้ได้มาซึ่ง รธน.ฉบับใหม่อย่างไร  โดยไปแก้มาตรา 256 หรือไปแก้ไขสร้างหมวดแก้ไขเพิ่มเติม รธน. แล้วไปบอกประชาชนเพื่อให้ประชาชนลงมติว่า จะอนุมัติเห็นชอบให้ใช้สถาปนิกหรือวิศวกรแบบที่รัฐสภาเสนอมาหรือไม่ ซึ่งในนั้นจะมีมาตรา 256 (8) ที่ต้องลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง เพราะในมาตรา 256 (8) บอกว่าหากมีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ในหมวด 1-หมวด 2 และเรื่องของหมวดแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ต้องถามประชามติ ก็จะเป็นการถามประชามติครั้งที่สอง โดยหากมีการใช้ระบบต่างๆ เช่นให้มี ส.ส.ร. หรือกรรมการร่าง รธน. หรือกรรมาธิการยกร่าง รธน.ที่รัฐสภาเลือกสรรมาเอง มายกร่าง รธน.ฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสูตรไหน เมื่อร่าง รธน.ฉบับใหม่ออกมาแล้วก็ต้องส่งร่าง รธน.ฉบับใหม่ดังกล่าวไปให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่งว่า บ้านใหม่ที่ออกแบบมาหน้าตาเป็นแบบนี้ ประชาชนโอเคไหม หากประชาชนดูแล้วไม่โอเค บอกว่าสู้บ้านหลังเก่าคือ รธน.ฉบับปัจจุบันไม่ได้ ไม่เห็นด้วยให้ทุบบ้านหลังเก่า ก็คือการไม่เอาบ้านหลังใหม่ นี่คือหลักของคำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ออกมาที่ผมเห็นว่าชัดเจนมาก

            ส.ว.สมชาย กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาช่วง 17-18 มีนาคมนี้ ที่จะมีระเบียบวาระเรื่องการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ในวาระสามว่า ในวันดังกล่าวที่ประชุมก็ต้องหารือกันว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งผมมีความเห็นว่าเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาล รธน.ผูกพันทุกองค์กร  ผูกพันรัฐสภา ที่ก็มีความเห็นว่าหากที่ประชุมรัฐสภาจะเดินหน้าไปสู่การลงมติเห็นชอบ แล้วมีคนเสนอความเห็นให้นำร่าง รธน.ดังกล่าวไปลงประชามติ จะให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งมันมีส่วนที่ศาล รธน.ไม่ได้อนุญาตไว้ เพราะไปเขียนในหมวด 15 (1) ว่าให้จัดทำ รธน.ฉบับใหม่ โดยในมาตราที่เขียนลงรายละเอียดไว้ในวาระสอง มีการเขียนไว้เช่น  256/1 ให้มี ส.ส.ร.จำนวน 200 คน 200 เขต กำหนดคุณสมบัติไว้เรียบร้อยหมด ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่เกินจากที่ศาล รธน.วินิจฉัยไว้แล้วว่าต้องไปทำประชามติเสียก่อน

            ...ดังนั้นหากมีการลงมติในวาระสามแล้วเกิดร่างผ่านความเห็นชอบ จนมีการส่งไปให้ประชาชนลงประชามติ เท่ากับเป็นการไปบอกประชาชนว่าผมทำไว้แล้ว ประชาชนไปลงประชามติได้เลย คือตีความมันง่าย แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เพราะว่าไม่ได้มีการลงประชามติเสียก่อน แต่มาส่งให้ทำประชามติโดยรัฐสภาทำเสร็จมาแล้ว และไปบอกประชาชนว่าจะเอาสิ่งที่ทำหรือไม่ คือข้ามไปขั้นที่สองเลย  มันข้ามขั้นไปแล้ว

                "ถ้าเปรียบให้เห็นก็คือ หากจะบอกว่าเรามาเริ่มวิ่งแข่งกัน ในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 12 มีนาคม แต่ปรากฏว่ามีอีกคนไปยืนรอแล้วตรงอีกสิบเมตรถึงเส้นชัย เพื่อรอกรรมการเป่านกหวีด เท่ากับมันฟาวล์ทำไม่ถูกกติกา แต่ต้องไปบอกให้คนที่ไปยืนรอให้กลับมาเริ่มต้นวิ่งพร้อมกันตรงจุดสตาร์ทเหมือนคนอื่น เพื่อรอกรรมการเป่านกหวีดให้เริ่มการแข่งขัน ถึงจะได้เริ่มวิ่งแข่งกัน แต่ตอนนี้เรื่องแก้ไข รธน.ที่ทำอยู่มันเหมือนกับวิ่งไปรอข้างหน้าก่อนแล้ว และพยายามบอกให้กรรมการเป่าเริ่มแข่งขัน ซึ่งทำแบบนี้มันไม่ได้ " ..สรุปได้ว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.จะต้องมีการทำประชามติถามประชาชนก่อนที่จะเริ่มมีการประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.วาระแรก โดยต้องทำประชามติถามให้ชัดเจนว่า "ท่านเห็นด้วยจะให้มีการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่หรือไม่" ถามประชามติแค่นี้  ถามมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะประชาชนคือผู้มีอำนาจในการสถาปนา รธน. หากประชามติประชาชนเห็นด้วยถึงค่อยไปทำขั้นตอนที่สอง คือการเสนอร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติม รธน.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระแรก

                -แต่ก็มีความเห็นจากบางฝ่าย เช่นฝ่ายค้านที่แย้งว่าในมาตรา 256 (8) มีบัญญัติไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ผ่านรัฐสภาวาระสามก็ยังนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้อยู่ดี ต้องนำไปทำประชามติก่อน ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ให้ทำประชามติอยู่แล้ว?

            เป็นความเห็นในข้อกฎหมายของแต่ละคน แต่ผมตีว่า ความเห็นแย้งดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่สอง เพราะมันต้องผ่านขั้นตอนที่หนึ่งก่อน ต้องลงประชามติก่อนว่าประชาชนให้ทำได้หรือไม่ ถ้าประชาชนบอกว่าไม่เห็นชอบ ไม่ให้ทำ  แล้วขั้นตอนนั้นมาโผล่ได้ยังไง มันเหมือนคุณไปวิ่งรอที่เส้นชัยแล้ว ขั้นตอนนั้นเกิดไม่ได้ เพราะคุณเล่นวิ่งไปข้างหน้าก่อนคนอื่น ขั้นตอนนั้นจะต้องกลับมาอยู่ตรงเส้นสตาร์ทเหมือนกัน ก็คือประชาชนอนุมัติให้คุณทำ รธน.ฉบับใหม่  จากนั้นค่อยมาเสนอว่าจะทำแบบไหน พอได้ข้อสรุปว่าจะทำแบบไหนแล้ว ก็ค่อยส่งไปให้ประชาชนอนุมัติอีกครั้งหนึ่งว่าโอเคเห็นชอบด้วยหรือไม่

...เช่น บางคนชอบสถาปนิก วิศวกรที่จะมาสร้างบ้านใหม่แบบ ส.ส.ร. 200 คน หรืออาจเป็นแบบรัฐสภาตั้งกรรมการร่าง รธน.ขึ้นมาเองก็ได้ ซึ่งจะเป็นแบบไหน ใครจะไปรู้ ยังไม่มีใครรู้ได้เลย จึงหมายความว่าขั้นตอนที่สองตรงนี้ ต้องกลับมาทำตั้งแต่วาระแรกให้เห็น แล้วก็ถามประชามติครั้งที่สอง ว่าประชาชนในฐานะเป็นเจ้าของบ้านที่ได้อนุมัติให้สร้างบ้านมาแล้ว ผมได้เลือกสถาปนิก วิศวกรกลุ่มนี้แล้ว โดยหากประชาชนลงประชามติเอาด้วยกับสถาปนิก วิศวกรกลุ่มที่เสนอมาให้เข้าไปสร้างบ้านหลังใหม่ สถาปนิก วิศวกรก็สร้างบ้านหลังที่สองสร้างมาให้เสร็จ  ก่อนจะทุบหลังเก่าทิ้ง แล้วก็ไปถามประชามติอีกครั้งว่าประชาชนชอบไหม เช่นจากบ้านทรงไทยมาสร้างเป็นคอนโดมิเนียมหรือตึกแถว หากประชาชนบอกว่าไม่เอา  อยากได้บ้านทรงไทยเหมือนเดิม แล้วลงประชามติว่าไม่เอา แบบนี้คือขั้นตอนที่สาม

            ...ที่มีการอธิบายเรื่อง 256 (8) ว่ารัฐสภาโหวตวาระสามแล้วค่อยส่งไปทำประชามติ มันเป็นเรื่องการเอาขั้นตอนที่สองไปลงประชามติ ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในอดีตเคยมีการยื่นถอดถอน ส.ส.-ส.ว. 308 คน ที่อาจจะมีคนส่งไปสองช่องทาง คือ 1.คนอาจไปยื่นต่อศาล รธน.ว่ามีคนกระทำการที่ขัดต่อ รธน. จากคำวินิจฉัยของศาล รธน.เมื่อ 11 มี.ค. และ 2.อาจมีคนไปยื่นว่ามีการกระทำผิด อาจส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ

            "ความเห็นผม มันอันตรายมาก ดังนั้นรัฐสภาควรจะช่วยกันแก้ปัญหาด้วยการหารือกันว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่มีผลผูกพันต่อรัฐสภาครั้งนี้  รัฐสภาควรปฏิบัติอย่างไร แต่ความเห็นผม มันเดินต่อไปไม่ได้ เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น มันต้องกลับไปเริ่มนับใหม่ แล้วถ้าเราจะร่าง รธน.ฉบับใหม่ ก็กลับไปถามประชามติเสียก่อนว่าจะให้ร่าง รธน.ฉบับใหม่หรือไม่ อันนี้คือทางที่หนึ่ง จากนั้นรัฐสภาก็กลับมาเริ่มพิจารณากันใหม่ในวาระแรกและวาระสอง" ส.ว.สมชายระบุ 

            .....กับทางที่สองที่ง่ายกว่าคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ทำได้ตั้งแต่ต้น  เพราะใน รธน.ฉบับปัจจุบันก็เขียนไว้ในหมวด 15 อยู่แล้วว่า การแก้ไข รธน.ทำได้โดยผ่านช่องทางคือ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ส.ส.ร่วมลงชื่อในญัตติขอแก้ไข รธน.โดยใช้เสียง 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.เข้าชื่อกันเสนอญัตติ หรือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา เสนอญัตติขอแก้ไข รธน. และประชาชนร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข รธน. 50,000 ชื่อ

            โดยเงื่อนไขการแก้ไขรายมาตราแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ที่ไม่ต้องพูดถึงมาตรา 1 ซึ่งบัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ที่เป็นข้อห้ามเด็ดขาด สองกลุ่มดังกล่าวแบ่งเป็น กลุ่มที่หนึ่งมีประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เป็นบทบัญญัติที่แก้ง่าย แก้โดยรัฐสภา เช่น สิทธิชุมชน-สิทธิพลเมือง หากเห็นว่ายังน้อยเกินไป ประชาชนก็เสนอได้ ครม.ก็เสนอได้ หรือเรื่องหน้าที่ของรัฐ เช่น อยากเพิ่มเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐก็เสนอแก้ไขเข้าไป รธน.ในมาตรา กลุ่มนี้แก้ได้เลยและทำได้เร็ว

            ส่วนกลุ่มที่สอง แก้ไขได้เช่นกัน อาจไม่เร็วแต่มีเงื่อนไขต้องทำประชามติ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขหมวดหนึ่งที่เป็นหมวดทั่วไป จริงๆ แก้ได้ เพียงแต่แก้ความเป็นรัฐไทยความเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ แต่อาจแก้เพิ่มเติมเข้าไป สมมุติในเชิงวิชาการ เช่น ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว แล้วบวกด้วยโดยมีศาสนา...เป็นศาสนาประจำชาติ คือเติมได้ แต่แก้ความเป็นรัฐไทยไม่ได้ เหมือนที่ฝรั่งเศสเขาเขียนไว้เลยว่า ห้ามแก้เปลี่ยนจากสาธารณรัฐมาเป็นรัฐเดียว

            การที่ รธน.มาตรา 256 (8) เขียนไว้ว่าต้องทำประชามติ ล็อกไว้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ในหมวดหนึ่งที่เป็นหมวดทั่วไป หมวดสอง พระมหากษัตริย์ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ เรื่องเหล่านี้แก้ไขได้ แต่แก้แล้วต้องทำประชามติ

            ...ยกตัวอย่างเช่น หากประชาชนเห็นด้วยกับเรื่องคดีทุจริตไม่ให้มีหมดอายุความที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เกิดมีคนอยากไปแก้ให้คดีทุจริตต้องมีอายุความ เช่น 10 หรือ 15 ปี แบบนี้ประชาชนอาจไม่ยอม ต้องไปทำประชามติถามประชาชน เป็นต้น

            ...รัฐธรรมนูญสองกลุ่มนี้แก้ไขเพิ่มเติมได้โดยรัฐสภา ไม่ต้องร่างใหม่ พูดง่ายๆ ว่า รธน.ฉบับปัจจุบัน 279 มาตรา เกือบทั้งหมดแก้ไขได้เลย แก้โดยรัฐสภา ที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ แก้แล้วไม่ต้องทำประชามติ กับกลุ่มที่สองแก้แล้วต้องทำประชามติ

            ทางออกก็คือ หากคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้แล้วมีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกฎหมาย หากใช้ไประยะหนึ่งแล้วเห็นว่ามีช่องว่าง มีช่องโหว่ เพราะตอนที่ร่างอาจไม่สอดคล้องกับยุคดิสรัปชัน ใช้ไปแล้วก็เหมือนอยู่บ้าน อยู่ไปแล้วเจอหลังคารั่ว ท่อน้ำมัน หลังคาโรงรถทะลุ ก็ต้องซ่อมแซม ไม่ใช่ทุบทิ้งเลยแล้วสร้างใหม่ เพราะหากเราเห็นว่ามีปัญหาตรงไหนก็ซ่อมตรงนั้น  รธน.จึงแก้ไขได้

            ...เมื่อการแก้ไข รธน.เพื่อให้แก้ไขได้ ผมเสนอสองทางคือ หากจะไปทำประชามติร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็จะเข้ารัฐสภาวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ หากจะรอตรงนั้นก็แล้วแต่ ก็คือต้องไปทำประชามติเสียก่อนแล้วก็ไปเสนอขั้นตอนที่สอง มี ส.ส.ร.หรือกรรมการยกร่าง รธน. จากนั้นพอร่าง รธน.เสร็จก็ส่งไปทำประชามติครั้งที่สาม ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลายาวมาก อาจใช้เวลาร่วมสองปีกว่า กับแนวทางที่สองคือ แก้ไข รธน.รายมาตรา ที่หากเห็นชัดเจนว่า รธน.มีปัญหาตรงไหนแล้วอยากแก้ไขก็เสนอได้

            อย่างผมเคยลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไข รธน.รายมาตราของฝ่ายค้านสองร่างในการลงมติรับหลักการวาระแรก อันแรกคือร่างแก้ไข รธน.รายมาตราเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ ผมก็อยากให้ ส.ส.เข้ามามีหน้าที่ตรงนี้ด้วย ก็อาจเสนอแก้ไข รธน.รายมาตรา โดยให้ ส.ส.เข้ามามีหน้าที่ตรงนี้พร้อมกับ ส.ว. ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ แบบนี้คือทางที่ถูกตามครรลอง สามารถเสนอแก้ไขได้เลย เป็นต้น

            ผมชวนให้ทุกคนใช้เหตุผล สติ แล้วมาตรวจพินิจดูว่า รธน.เหมือนบ้านหลักที่เราอยู่ หากเราไม่ชอบใจตรงไหน เราเห็นห้องน้ำมันตันเราก็ต้องซ่อม หากไม่ชอบเตียงในบ้าน เราก็เปลี่ยนเตียงใหม่ ก็แค่นั้นเอง ทำไมต้องเผาบ้านทิ้ง อาจโอเค หากว่าบ้านมันเก่าแล้ว ใช้มา 50 ปี 100 ปี มันจะพังแล้ว จะสร้างบ้านใหม่ไม่มีใครว่า หรือจะอนุรักษ์บ้านเก่าไว้แล้วปรับปรุงภายในก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องถามเจ้าของบ้าน คือประชาชน แต่ตอนนี้เพิ่งใช้มา 4 ปี แล้วมามีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่เอาแล้ว จะทุบบ้านหลังนี้ทิ้ง จะสร้างบ้านใหม่ คำถามคือ แล้วคุณถามเจ้าของบ้านตัวจริงหรือยัง คือเสียงประชามติ 16.8 ล้านเสียง ศาล รธน.วินิจฉัยแล้วให้ไปถามประชาชนก่อน โดยหากจะมีใครใช้กระบวนการนี้ก็ทำต่อ ผมไม่ได้ขัดขวาง ก็เห็นด้วย ประชามติอยู่ที่ประชาชน ก็อาจมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผลการออกเสียงก็อาจออกมาเหมือนเดิมก็ได้ คือเสียงส่วนใหญ่บอกว่าไม่ให้แก้ไข ไม่ให้ร่าง รธน.กันใหม่ หรืออาจออกมากลับข้างกันก็ได้ ก็ไม่มีใครรู้ แต่กระบวนการนี้กว่าจะทำทั้งหมดเสร็จใช้เวลาร่วมสองปี เทียบกับสิ่งที่ผมเสนอให้กลับมาคิดและตั้งสติด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะที่ มันก็เหมือนคนป่วย อย่างคนป่วยเป็นไข้หวัดก็ต้องรักษาอาการหวัด ไม่ใช่ฆ่าทิ้งแล้วเกิดใหม่

            -การแก้ รธน.รายมาตราคือทางออก ทางลงหลังจากนี้ในเรื่องการแก้ไข รธน.?

            ใช่ ผมยืนยันตั้งแต่ต้นมาตลอดเวลาว่า รธน.แก้ไขได้ เพราะ รธน..คือกฎหมาย กฎหมายคือกติกาที่ตกลงกัน เมื่อวันหนึ่งคนในสังคมไม่สบายใจกับกติกาที่เคยตกลงกันก็เสนอแก้ไขได้ เพราะการแก้ไข รธน.รายมาตรา คือการแสดงให้เห็นว่าไม่ชอบมาตราใด แล้วจะเสนอแก้อย่างไรก็เสนอมา คนก็จะเห็นเลยแบบมาตราต่อมาตรา เช่น หากเสนอให้ตัดทิ้งหายไปเลย หรือจะเสนอแก้ไขโดยมีการเพิ่มข้อความเข้ามา สังคมก็จะได้เห็น เอาหรือไม่เอา

เราเสนอทางออกที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นทางออกของสังคม ว่าหากคุณไม่พอใจบ้านหลังนี้บางเรื่อง ก็ควรมาพูดคุยกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง แล้วเสนอแก้ไขเข้ามา หากเสนอมาเป็นเหตุเป็นผลก็แก้ไข การแก้ไข รธน.รายมาตราจึงเป็นแนวทางที่เร็วและตรงเป้า เพราะทำได้เลย ทำทันทีก็ได้ผลทันที

                -ประเมินการประชุมร่วมรัฐสภาที่จะมีการโหวตวาระสามในช่วง 17-18 มี.ค.นี้อย่างไร หลังมีคำวินิจฉัยของศาล รธน.ออกมา?

            สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. รัฐบาล-ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา ก็ต้องพูดคุยกัน ที่คงใช้เวลาการพูดคุยกันพอสมควร เพราะเป็นคำวินิจฉัยประวัติศาสตร์

            ...การประชุมร่วมรัฐสภา 17-18 มี.ค.นี้ เมื่อเริ่มเข้าสู่การประชุม ประธานรัฐสภาก็คงอ่านหนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งผลการวินิจฉัยในญัตติซึ่งที่ประชุมรัฐสภาส่งไป จากนั้นสมาชิกรัฐสภาก็คงมีการลุกขึ้นหารือกันถึงเรื่องการตีความทางกฎหมายในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตีความกันอย่างไร โดยที่ประชุมก็อาจหารือกันถึงแนวทางที่รัฐสภาจะดำเนินการ เช่น อาจมีการคุยหรือเสนอกันว่าจะให้เลื่อนระเบียบวาระการลงมติร่างแก้ไข รธน.วาระสามที่ถูกบรรจุอยู่ออกไปหรือไม่ แต่หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรต้องเลื่อน ก็มาดูต่อไปว่าหากไม่เลื่อนแล้วที่ประชุมจะทำอย่างไรต่อไป จะพิจารณาลงมติวาระสามไปเลยหรือไม่ หรือว่าจะรอให้ไปทำประชามติก่อน แล้วร่างที่เดิมจะโหวตวาระสามก็ให้คาอยู่ในระเบียบวาระไปก่อน แต่ก็เห็นมีบางคนเสนอว่าจะให้ที่ประชุมโหวตวาระสามไปเลย แล้วจากนั้นก็ส่งไปทำประชามติ กับอีกส่วนหนึ่งที่เขาเห็นว่าที่ประชุมรัฐสภาโหวตวาระสามไม่ได้ ซึ่งผมอยู่ในฝ่ายที่เห็นว่าที่ประชุมโหวตวาระสามเสร็จแล้วส่งไปทำประชามติไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้ทำประชามติก่อน แต่ก็คงมีอีกฝ่ายที่เห็นต่างกัน สุดท้ายประธานในที่ประชุมก็คงต้องถามมติกันว่าตกลงจะเอาอย่างไร

            ผมก็มองว่าโหวตวาระสามเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบแล้วส่งไปทำประชามติทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย เพราะขั้นตอนแรกมันยังไม่ได้ทำ คือประชามติถามประชาชนว่าจะให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ที่ประชาชนต้องอนุมัติ ยังไม่ผ่านขั้นตอนที่หนึ่งเลยแล้วจะไปทำขั้นตอนที่สอง อนุมัติสถาปนิก-วิศวกรออกแบบบ้านแล้ว มันข้ามขั้นตอนไป เราเห็นว่าการโหวตวาระสามเป็นการข้ามขั้นตอนที่หนึ่ง จึงผิดกฎหมาย คือทั้งหมดมันมีผลผูกพันกับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ต้องขอเตือนย้ำกันไว้ ท่านที่ลงมติอย่างหนึ่งอย่างใดต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา

                -เท่าที่ได้คุยกับ ส.ว.มาหลังศาล รธน.มีคำวินิจฉัย ส่วนใหญ่มองว่าอย่างไร?

            ก็คุยกันในข้อกฎหมาย ก็เห็นพ้องว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.มีผลผูกพันทุกองค์กร ผูกพันวุฒิสภาด้วย รัฐสภาจะโหวตอย่างไร ต้องรับผลแห่งความผูกพันนั้น ดังนั้นมุมมองข้อกฎหมายเวลานี้ไม่ค่อยต่างกัน โดยเฉพาะกับนักกฎหมายที่ได้คุยกันทางโทรศัพท์ มันเดินต่อไปลำบาก และเดินไปแล้วมันสุ่มเสี่ยงจะทำผิดกฎหมายเสียเอง ส่วน ส.ว.จะทำอย่างไร ยังไม่ได้หารือจนได้ข้อยุติ แต่ในข้อกฎหมาย เท่าที่คุยกันก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า คำวินิจฉัยของศาลชัดเจนว่าให้ไปทำประชามติเสียก่อน ไม่ใช่ทำทีหลัง มันชัดมาก อันนี้เห็นตรงกัน.

                                                                 โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

..............................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"