13 มี.ค.64 - ที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ สถาบันปรีดี พนมพงค์ จัดกิจกรรมการ PRIDI Talks9 x CONLAB โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” โดยนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนุญไม่สามารถทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยได้ แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาสูงสุด แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ความสัมพันธ์องค์กรของรัฐ
ถามว่าขณะนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าจะทำให้เรารู้สึกสบายใจ เราจะเปรียบเทียบประเทศเรากับประเทศพม่า ซึ่งดีกว่า แต่ถามว่าทำไมต้องเปรียบเช่นนั้น เหตุใดไม่เปรียบเทียบว่าประเทศไทยต้องอยู่แถวหน้าของเอเชีย ต้องมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมแบบยุโรป
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า วันนี้เราไม่อาจบอกได้ว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ดูเพียงแค่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย คนเพียงไม่กี่คนเลือกสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แล้วให้บุคคลเหล่านี้มาเลือกนายกฯ และนายกฯไม่ได้มาจากประชาชน คนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย อาจเป็นเผด็จการ คำพูดของอะดอป ฮิตเลอร์ ชัดเจน วิธีการที่จะควบคุมประชาชนอย่างดีที่สุด คือ ค่อยๆกีดกั้นเสรีภาพออกไปทีละเล็กทีละน้อย ทำลายให้หมดไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้ประชาชนรู้ตัว
ฉะนั้น หากประชาชนไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ให้รัฐธรรมนูญปี 60 ต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อย่าหวังว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น ระบบการปกครองที่ดี ประชาธิปไตยต้องมีศีลธรรม ต้องมีความซื่อสัตย์ จะอ้างประชาธิปไตย หรืออ้างการเลือกตั้ง แล้วไปโกงทุจริตคอรัปชั่นก็ย่อมไม่ได้ เราก็ไม่เอา
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามข้อเรียกร้องของส.ว.คนหนึ่ง และส.ส.พรรคพลังประชารัฐคนหนึ่ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คืออำนาจของประชาชน ซึ่งถูกต้องแล้ว ถ้าวินิจฉัยต่างจากนี้จะประหลาดมาก นั่นหมายความว่าวันที่ 17-18 มี.ค.นี้รัฐสภาต้องเดินหน้าโหวตวาระสาม จะแก้ได้หรือไม่ได้ ไม่เป็นไร เราจะสู้ในระบบ หากส.ว.คว่ำการแก้ไขวาระสามก็คือคว่ำเลย และประชาชนจะได้รู้ว่าแต่ละคนมีจุดยืนอย่างไร จะได้ทราบว่าพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเองจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยแล้วเข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ จะทำตามที่ประกาศไว้หรือไม่ เราจะได้เห็นกันชัดๆ
เขากล่าวว่า คนจำนวนมากไม่มีความมั่นใจ ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำ เรามั่นใจว่าอย่างไรเสียโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะคว่ำสูงมาก แต่ไม่เป็นไร คว่ำก็คว่ำไป แต่เราจะรณรงค์ต่อสู้โดยมุ่งไปที่รัฐบาลจะต้องทำประชามติ ในเมื่อบอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนทำประชามติว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
"ขณะนี้มีบางฝ่ายตีความว่าห้ามโหวตวาระสาม เกมนี้พอมองออก ว่าส.ว.จะงดออกเสียง พรรคพลังประชารัฐก็อาจจะงดออกกเสียง จนทำให้การโหวตวาระสามล่ม แล้วก็ว่ากันใหม่" นายอนุสรณ์ กล่าว
ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี กล่าว่าถ้ามองโลกในแง่ดี หวังว่าจะมีส.ว.จำนวน 1 ใน 3 ของส.ว.ทั้งหมด เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนร่วม เห็นแก่ความก้าวหน้า เห็นแก่ความเป็นประชาธิปไตย โหวตเดินหน้าวาระสาม ตนจะขอคารวะ แต่อยากถามว่าเชื่อหรือไม่ว่าจะมีส.ว.แบบนั้น มีหรือไม่มี ไม่ทราบ แต่หวังว่าจะมีอยู่บ้าง
"ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน เราจะฉลอง7วัน7คืน เหมือนที่คณะราษฎรฉลองวันรัฐธรรมนูญ" ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมูญฉบับใหม่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร)ต้องเกิดจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ปี 40 แม้ได้รับยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่การเลือกส.ส.ร.ในครั้งนั้นก็ยังมาด้วยการเลือกตั้งทางอ้อม แต่คราวนี้ส.ส.ร.จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำงานแข่งกับเวลา เราต้องเสนอกรอบเวลา เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีคนชอบซื้อเวลา โดยการส่งให้ศาลตีความ
ขณะที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่มีบางคนระบุว่ามีปัญหา โดยเกิดการตีความคำว่า “ก่อน” ออกเป็นสองความหมาย คือ 1.ก่อนจัดทำรัฐธรรมนุญ หรือ2.ก่อนตั้งแต่เริ่มเสนอวาระแรกในการจัดทำรัฐธรรมนนูญ ซึ่งอยากจะบอกว่าตามคำวินิจฉัยศาล หมายความว่าเมื่อผ่านวาระสามแล้วให้ไปจัดทำประชามติก่อนที่จะมีการจัดตั้งส.ส.ร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญบับใหม่หรือไม่ ถูกแล้ว ไม่มีอะไรมาก แต่ก็ยังมีคนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกบอกว่ากระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมดไม่ได้เลย กับกลุ่มที่สอง คือ ไม่ต้องการให้มีส.ส.ร. เพราะเป็นการตีเช็คเปล่าให้สามารถแก้หมวด 1-2 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้อีก 38 มาตรา ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และอำนาจของพระมหากษัตริย์
“ฝากถึงส.ว.ที่กำลังจะลงมติในวันที่ 17 มีนา ถ้ามั่นใจว่าเหตุผลดังกล่าวฟังขึ้น ก็ขอให้โหวตไปเลย แต่ต้องอธิบายต่อประชาชน ถ้าคิดว่าเหตุผลปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าอ้างว่าสสร.มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้ใครก็ไม่รู้ได้เช็คเปล่าเปลี่ยนแปลงหมวด 1-2 และอีก 38 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ แปลว่าท่านรู้อยู่แล้วว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่ท่านกำลังส่งสัญญาณแบบนั้น แต่ผมไม่รู้ว่าประชาชนคิดอะไร” ผู้จัดการไอลอว์ กล่าว
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ "ไอติม" ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และเจตนาผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ต้องการให้กติกาเป็นกลาง โดยตอนแรกร่างเพราะคสช.ต้องการเป็นกรรมการ แต่พอร่างเสร็จเรียบร้อยก็โดดลงมาเป็นผู้เล่น โดยเห็นชัดจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เคยพูดอย่างไม่เกรงกลัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อเรา ยิ่งกว่านั้นกระบวนการได้มาไม่เป็นกลาง หลายคนอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ผ่านประชามติมาแล้ว ซึ่งตนเห็นว่าอ้างไม่ได้ เพราะถ้าย้อนไปดูการจัดทำประชามติ เห็นชัดว่าไม่ได้จัดทำประชามติอย่างเสรีและเป็นธรรม อีกทั้งไม่ได้เปิดให้ประชาชนทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วย ดูจากมีการส่งข้อดีของรัฐธรรมนูญถึงตู้ไปรษณีย์ของแต่ละบ้าน ขณะเดียวกัน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน รณรงค์ไม่รับร่างรัฐรัฐธรรมนูญกลับถูกจับติดคุก
นายพริษฐ์ กล่าวว่า การจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราควบคู่ไปด้วยนั้น ไม่ได้ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งระหว่างนั้นไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือรัฐประหารอะไรขึ้นระหว่างทาง ถ้าเกิดจริงเท่ากับเราจะได้กติกาเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายผู้มีอำนาจอาจจะตั้งแง่เกี่ยวกับคำถามประชามติ ว่า การโหวตเห็นชอบหลังวาระที่สามคือการโหวตรับร่างแก้ไข ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการรับหลักการว่าควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะเป็นการรับร่างแก้ไขที่ระบุรายละเอียดไปแล้วว่าต้องมีส.ส.ร. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ถ้าจะไม่ยอมรับว่าเป็นคำถามเดียวกัน เราสามารถตั้งเป็นคำถามพ่วงได้ กล่าวคือ คำถามแรกถามว่า รับร่างแก้ไขที่ผ่านสภามาหรือไม่ และคำถามที่สอง ถามว่าเห็นด้วยกับการรับหลักการจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ขอเสนอให้มีการแก้ไขรายมาตราควบคู่ไปด้วย โดยการยุบวุฒิสภา ให้เหลือสภาเดี่ยว คือสภาผู้แทนราษฏร รีเซ็ตที่มาศาลและองค์กรอิสระ รวมถึงตัดเรื่องยุทธศาสตร์ออก อย่าให้คสช.นำเรื่องนี้ไปเร่งงานฝั่งตรงข้ามได้ หากมีการพลิกขั้วอำนาจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |