เวเนซุเอลาเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันอาทิตย์ นิโกลัส มาดูโร จ่อครองอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 2 ขณะฝ่ายค้านบอยคอตและนานาชาติประณามเป็นการเลือกตั้งหลอกลวง
ชาวเวเนซุเอลาเดินผ่านโปสเตอร์หาเสียงของประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ในกรุงการากัส / AFP
เอเอฟพีรายงานว่า การลงคะแนนเริ่มในเวลา 06.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม 2561 ตามเวลาท้องถิ่น (17.00 น.วันเดียวกันของไทย) และจะปิดหีบในเวลา 18.00 น. (05.00 น. วันจันทร์ของไทย) โดยทางการได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารรักษาความปลอดภัยราว 30,000 นาย
ชาวเวเนซุเอลาราว 20.5 ล้านคน ที่มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี โดยเป็นการเลือกตั้งแบบรอบเดียวชี้ขาด ผู้ชนะจะเป็นประธานาธิบดี 6 ปีโดยจะเริ่มรับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2562
สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งหนุนหลังรัฐบาลฝ่ายซ้ายและมีอำนาจล้นฟ้า ตัดสินใจเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้เร็วขึ้นกว่าปรกติ จากที่มักจัดในเดือนธันวาคม โดยอาศัยจังหวะที่ฝ่ายค้านกำลังแตกแยกและอ่อนแอ
มาดูโรสวมเสื้อเชิ้ตสีแดงสดเพื่อแสดงความเป็น "ชาวิสตา" หรือผู้สนับสนุนอูโก ชาเวซ ผู้นำฝ่ายซ้ายที่ล่วงลับ มาลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงการากัสพร้อมกับนางซิเลีย ฟลอเรส ภริยา กับพวกเจ้าหน้าที่ที่เขาไว้วางใจ
ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร มาลงคะแนนที่กรุงการากัสเมื่อวันอาทิตย์ / AFP
อดีตคนขับรถบัสวัย 55 ปี ทายาททางการเมืองของชาเวซ น่าจะชนะการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากคู่แข่งของเขาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั้ง 2 คนถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งสถาบันต่างๆ ของรัฐล้วนอยู่ในกำมือของพวกที่จงรักภักดีต่อผู้นำฝ่ายซ้ายรายนี้ การครองอำนาจต่อไปของมาดูโรอาจทำให้สหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของเวเนซุเอลาเพิ่มอีก รวมถึงเรียกเสียงประณามจากสหภาพยุโรป (อียู) และหลายชาติในลาตินอเมริกา
คู่แข่งหลักๆ ในการเลือกตั้งของเขาครั้งนี้ได้แก่ เฮนรี ฟัลคอน อดีตนายทหารและผู้ว่าการรัฐที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพวกแกนนำฝ่ายค้าน และฮาเวียร์ เบร์ตุชชี ผู้สมัครที่เป็นคริสเตียนอีวานเจลิคัล
นับแต่เข้ารับตำแหน่งต่อจากชาเวซเมื่อปี 2556 มาดูโรได้นำพาประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกแห่งนี้เข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจและสังคม อัตราเงินเฟ้อสูงลิ่ว อาหารและยาขาดแคลน อาชญากรรมพุ่งสูง และเครือข่ายคมนาคม น้ำ และไฟฟ้าพังพินาศ ก่อกระแสต่อต้านภายในประเทศและเกิดเหตุการณ์ไม่สงบหลายครั้ง
เมื่อวันเสาร์ มาดูโรปราศรัยให้คำมั่นว่าจะปฏิวัติทางเศรษฐกิจหากเขาชนะเลือกตั้ง ส่วนฟัลคอน คู่แข่งของเขาสัญญาว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยใช้เงินตราต่างประเทศอีกครั้ง และนำบริษัทที่เคยโดนชาเวซยึดกิจการ กลับคืนสู่มือของเอกชน ทั้งจะเปิดทางสำหรับการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มาดูโรปฏิเสธ
กลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน พรรคเอกภาพประชาธิปไตยโต๊ะกลม (เอ็มยูดี) ตัดสินใจบอยคอตการเลือกตั้งครั้ง หลังจากแกนนำของพวกเขาถูกตัดสิทธิ์หรือไม่ก็โดนคุมขัง
เอ็มยูดีหวังพึ่งพาแรงกดดันจากต่างชาติเพื่อบีบให้ฝ่ายสังคมนิยมในเวเนซุเอลาปลดประธานาธิบดีผู้ไม่ได้รับความนิยมรายนี้ พวกเขาได้รับการสนับสนุนทั้งจากสหรัฐ, อียู และ 14 ประเทศจากกลุ่มลิมา ที่เรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้ง
รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธที่จะยอมรับการเลือกตั้ง "ปาหี่" ครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกตั้งจอมปลอมเพื่อให้มาดูโรได้ครองอำนาจต่อไป และได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพื่อโดดเดี่ยวเวเนซุเอลายิ่งขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |