ตีความคำวินิจฉัยไปคนละทาง! นายกฯ เคารพศาล ถ้าทำประชามติพร้อมจัดหางบฯ ให้ “วิษณุ” ชี้ช่องสภาวาระ 3 โหวตคว่ำเป็นวิธีดีสุด แล้วเริ่มต้นใหม่ แต่เชื่อสมาชิกจะงดออกเสียง “ชวน” อ้างบรรจุวาระแล้วพร้อมเดินหน้าโหวตวาระ 3 ยันยึดคำวินิจฉัย "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" โหนคำวินิจฉัยลุยโหวตแก้ รธน.วาระ 3 ได้ ชี้ต้องทำประชามติก่อนทูลเกล้าฯ ถวาย "ก้าวไกล" ขู่ ปชช.จะหาทางออกนอก รธน. "ส.ว.สมชาย-คำนูณ" เตือนโหวตวาระ 3 ถูกดำเนินคดี-โดนร้องศาลอีก
เมื่อวันศุกร์ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำประชามติสอบถามความคิดเห็นประชาชนก่อน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่มีความเห็นอะไร เป็นเรื่องของรัฐสภา ถ้าเขาจำเป็นต้องดำเนินการตามนั้น ตนก็จะหางบประมาณให้ แค่นั้นเอง และการทำประชามติก็เป็นเรื่องของประชาชน
เมื่อถามว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ เพราะเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า เมื่อเช้าตนก็เห็นสมาชิกพรรคที่ว่าออกมาแถลงแสดงความคิดเห็นแล้ว ซึ่งเขาไม่กังวล ถ้าไม่เป็นกังวลแล้วตนจะกังวลทำไม ก็เป็นไปตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา ก็เป็นเรื่องที่ว่าจะไปทำอย่างไรต่อไปเท่านั้นเอง ก็ขอร้องอย่าเอาประเด็นเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งกันอีกเลย เรื่องรัฐธรรมนูญขัดแย้งกันมาหลายรอบแล้ว ซึ่งรัฐบาลยินดีที่จะให้มีการแก้ไขอย่างไร แต่ให้ไปว่าครบถ้วนกระบวนความ ไม่อยากให้เป็นความขัดแย้ง จะทำให้ประเทศเราไปสู่ความขัดแย้งในหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน คงไม่เหมาะสมในเวลานี้
"เรื่องโควิดก็แย่อยู่แล้ว สถานการณ์การเมืองก็เอาเข้าไปอีก เศรษฐกิจก็เอาเข้าไปอีก แล้วประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่กันอย่างไร ก็ต้องเห็นใจคนอื่นเขาบ้าง เราต้องนึกถึงคนทุกคน แน่นอนว่าคนทั้ง 66 ล้านคนคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ส่วนที่จะแก้หรือแก้แบบไหน ไปหาวิธีกันมา เพราะผมมีหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ผมก็สนับสนุน อาจจะมีการแก้ไขจริงๆ ก็แก้ไขกันไป แต่ก็ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรมเขาด้วย ศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร เพราะเขาพิจารณาตามกระบวนการ ตามหลักการข้อกฎหมาย ขอให้ระมัดระวังด้วยเมื่อไปกล่าวถึง อย่าไปก้าวล่วงถึง ซึ่งผมก็ไม่ไปก้าวล่วงถึง เพราะผมก็เคารพศาล" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาสามารถเดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อไปได้หรือไม่ ว่าเป็นเรื่องของสภา สภาจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ โดยวาระหนึ่งวาระสองไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่วาระสาม จะลงมติได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าสภาเห็นว่าไม่ควรจะโหวตก็ไม่โหวต ก็เลิกไปเฉยๆ เพราะมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าสภาเห็นว่าไม่เป็นไรโหวตไป สุดท้ายถ้าให้ทำประชามติก่อนเดี๋ยวคิดกันก็สามารถทำอย่างนั้นได้
คว่ำวาระ 3 เริ่มต้นใหม่
"แต่ความเสี่ยงก็จะมี เพราะคำวินิจฉัยออกมาอย่างนี้แล้วก็มีอีกฝ่ายที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยในการโหวตวาระสามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซีกของ ส.ว.และ ส.ส. ก็อาจมีความเป็นไปได้เมื่อโหวตวาระสาม 1.อาจจะไม่มีคนมาประชุม 2.มาแต่งดออกเสียงเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี หรือ 3.ลงมติไม่เห็นชอบหรือคว่ำเสียให้มันตกไปให้จบเรื่อง แล้วค่อยไปเริ่มต้นกันใหม่ โดยจะเริ่มที่ลงประชามติก่อนเพื่อแก้ทั้งฉบับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ หรือจะแก้เป็นรายมาตรา ก็เป็นเรื่องที่ไปคิดอ่าน"
เมื่อถามว่าการทำประชามติควรเริ่มในช่วงเวลาใด นายวิษณุ ตอบว่า ช่วงไหนก็ได้ แต่ต้องเข็นให้กฎหมายประชามติผ่านเสียก่อน สมมุติว่าผ่านวาระสามไปแล้วหลังมีการโปรดเกล้าฯ กฎหมาย มีผลบังคับใช้ได้ทันที กฎหมายประชามติเป็นแค่เครื่องมือในการออกเสียงประชามติ ส่วนกรอบเวลา ถ้าทำได้เร็วมันก็เร็วข้อสำคัญเมื่อเกิด ส.ส.ร.แล้วสภาจะยุบหรือไม่ หรือจะตั้งใหม่หรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกัน ทุกอย่างเดินหน้าของมันไปเรื่อย
"สรุปง่ายๆ คืออยู่ที่สภาว่าจะต้องคิดอย่างไร ถ้าสภาคิดว่าอย่างนั้นไม่รู้จะไปโหวตทำไมก็จบ และถ้าเป็นอย่างนี้ในวันที่ 17 มีนาคม เวลา 09.30 น. ก็ให้คุยกันเสียก่อน แต่ถ้าสภาบอกว่าให้ลงมติแล้วค่อยไปคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร ก็ลงไป แต่มีโอกาสที่สมาชิกสภาจะงดออกเสียงเป็นไปได้สูง สูงมากด้วย"
เมื่อถามย้ำว่า อย่างนี้วาระ 1 วาระ 2 ที่ทำมานั้นแท้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า 1 กับ 2 ไม่แท้ง แต่ 3 นี่ แล้วแต่ว่าจะตัดสินใจให้แท้งหรือเปล่า ซึ่งจะตัดสินใจว่าเลิกไปมันก็ได้ หรือจะดันเข้าสภาต่อก็ได้ เมื่อถามอีกว่าแสดงว่ามาตรา 3 นี้ควรจะโหวตตกไปเลยใช่หรือไม่ ถ้าอยากให้จบ นายวิษณุกล่าวว่า "ก็งดออกเสียงไง"
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมของทีมกฎหมาย สำนักเลขานุการสภาผู้แทนราษฎร ว่าทีมกฎหมายศึกษาและรายงานผลการประชุมให้ทราบแล้ว โดยได้ข้อสรุปว่าในวันที่ 17-18 มีนาคม ยังคงดำเนินการประชุมเช่นเดิม เนื่องจากมีการบรรจุลงระเบียบวาระไปแล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแม้จะมีความเห็นที่หลากหลาย แต่สภาก็ต้องยึดรัฐธรรมนูญและยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นเช่นไรต้องรอดูในการประชุมต่อไป
เมื่อถามว่า หากเข้าวาระ 3 จะมีคนไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายชวน กล่าวว่า ไม่มีใครห้าม
ต่อมานายชวนให้สัมภาษณ์ที่พรรค ปชป.เพิ่มเติมกรณีมีข้อเสนอให้โหวตคว่ำวาระ 3 ว่าการโหวตวาระ 3 สามารถเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้ ถ้าไม่เห็นชอบร่างดังกล่าวก็ตกไป ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายทั่วไป เพียงแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องทิ้งระยะเวลาจากวาระ 2 ไป 15 วัน แล้วถึงจะโหวตวาระ 3 ได้
เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ทำประชามติก่อนที่จะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สภาจะดำเนินการอย่างไร นายชวนกล่าวว่า คณะทำงานด้านกฎหมายของสภาให้ความเห็นมาแล้วว่า โดยหลักปฏิบัติต้องยึดรัฐธรรมนูญเดิม และต้องยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอยู่ภายในกรอบนี้ ซึ่งก็เดินได้ สามารถโหวตวาระ 3 ได้ไม่ต้องกังวล
ปชป.อ้ำอึ้งทบทวนท่าทีร่วม รบ.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า สำคัญตอนนี้คือต้องรอดูคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความหมายที่แท้จริงว่าอย่างไร เพราะตอนนี้ความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายยังไม่ตรงกัน และต้องรอนายชวนด้วยว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง และขอยืนยันในจุดเดิมของพรรค ปชป.ว่าเราสนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ที่ผ่านไปนั้น ถือว่าเป็นโมฆะหรือไม่ ตนไม่อยู่ในฐานะที่ตอบได้ และเรื่องนี้ก็ต้องนับหนึ่งที่คำวินิจฉัยฉบับเต็มว่าแปลว่าอย่างไร
ถามต่อว่า ทางพรรค ปชป.จะมีการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ขอให้เรื่องในตอนนี้ยุติเสียก่อน และพรรคของเราก็ทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาล หากเราจะยื่นเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะเรามีเพียง 50 เสียง แต่การจะยื่นแก้ไขเป็นรายมาตรานั้น จะต้องอาศัยเสียง 100 เสียงขึ้นไป ส่วนความกังวลใจที่จะมีฝ่ายโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละฝ่าย
ถามย้ำว่า ถ้ายังมีกระบวนการพยายามยื้อแก้รัฐธรรมนูญ พรรค ปชป.จะทบทวนท่าทีในการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "เราต้องทำหน้าที่ของเราให้สุดทางก่อน"
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ? กล่าวว่า ของทุกอย่างเมื่อเริ่มทดลองใช้คงไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีสิ่งที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อใช้ไปสักระยะก็มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤติการเมืองในปัจจุบัน ดังนั้นอยากเห็นรัฐบาลและรัฐสภาร่วมกันแก้ไขเพื่อหาทางออกประเทศ จะเป็นจุดสำคัญในการผ่อนคลายสถานการณ์ทางการเมือง
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อกำหนดท่าทีหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค กล่าวภายหลังการประชุมว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าสามารถแก้ไขได้ ดังนั้นฝ่ายค้านจะดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 การดำเนินการในวันที่ 17-18 มี.ค. ประธานสภาฯ ควรนำเรื่องการลงประชามติเข้ามาหารือในที่ประชุมด้วย
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันในการลงมติวาระ 3 โดยเราถือว่ามีความชอบธรรม และสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดถูกต้องแล้ว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาตั้งแต่ต้น คำวินิจฉัยที่ออกมาสอดคล้องกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่ในรัฐสภา วาระที่ 1-2 ถือว่าไม่เป็นโมฆะ จะเดินหน้าไปสู่วาระที่ 3 สิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา คือ มาตรา 256 ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ การที่สมาชิกรัฐสภาบางคนพยายามลดทอนอำนาจของตัวเองโดยการบอกว่าวาระที่ 1 และ 2 เป็นโมฆะนั้น เป็นการตีความที่ไม่เห็นหัวประชาชน และไม่ถูกต้อง ถ้ามีการโหวตคว่ำในการประชุมรัฐสภาในวาระที่ 3 อีก จะได้รู้กันว่าใครมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ประธานรัฐสภาทำถูกแล้วในการบรรจุกำหนดวันโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ดังนั้น ในการประชุมควรพิจารณาเห็นชอบเรื่องนี้เพียงอย่างเดียวว่ารับหรือไม่รับ การจะเอาเรื่องอื่นเข้ามาพิจารณาก่อน คิดว่าประธานสภาฯ รู้ดีว่าหากทำเช่นนั้นจะเท่ากับเรื่องที่พิจารณาอยู่ตกไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกสำหรับวิกฤติประเทศ หากมีการโหวตคว่ำหรือไม่มีการโหวต ก็จะค้านกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเราต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3
ขู่ ปชช.ออกนอก รธน.
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การดำเนินการที่เราทำอยู่นี้คือการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่ได้แก้ทั้งฉบับ ดังนั้น การดำเนินการจึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า สภามีความกังวลในเรื่องของเงื่อนเวลาตามมาตรา 5 ที่ระบุว่า จะต้องเลือก ส.ส.ร.ภายใน 30 วัน ซึ่งจะทำให้ไม่ทันกับการทำประชามติ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบว่า ต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนที่จะถึงกระบวนการทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศเป็น พ.ร.ฎ. โดยสามารถทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 นี้หรือไม่ และถามเป็นคำถามพ่วงไปในคราวเดียวกับการทำประชามติ ว่าจะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อให้มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กล่าวว่า ในวาระ 1-2 ก็ผ่านขั้นตอนมาทุกเรื่อง ทุกอย่างผ่านตัวแทนประชาชนในรัฐสภามาแล้ว ควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ได้ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ก็พอมองเห็นกันอยู่ มีแค่สองกลุ่ม คือกลุ่มที่อยากให้แก้ไข เพราะเห็นว่า รธน.60 มีจุดอ่อนหลายเรื่อง มีความเป็นประชาธิปไตยน้อย กับกลุ่มที่ไม่อยากให้แก้ไข เพราะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เหมือนกับคำพูดที่ว่ารัฐธรรมนูญเขียนมาเพื่อพวกเรา
ขณะที่พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจเต็มของรัฐสภาที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดจนถึงขณะนี้ เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ การออกเสียงประชามติยังคงเกิดขึ้นได้ภายหลังการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ตราบที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ประกาศใช้ หวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะร่วมกันลงมติเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อส่งต่ออำนาจไปให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากรัฐสภาและสถาบันการเมืองในระบบทั้งหมด ยังคงประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนอยู่เช่นนี้ อีกไม่นานประชาชนย่อมต้องเรียกร้องหาทางออกด้วยวิถีทางอื่นที่พ้นไปจากโซ่ตรวนของข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา จะเรียกคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) หารือกันถึงปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นด้วยว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และมองว่าความเห็นที่ต่างกันขณะนี้ เป็นเพราะยังไม่มีใครเห็นคำวินิจฉัยกลาง ดังนั้นต้องพิจารณาจากคำวินิจฉัยกลางก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ศาลระบุชัดเจนว่าต้องทำประชามติก่อน แล้วจึงกำหนดว่าจะใช้วิธีการตั้ง ส.ส.ร.หรือตั้งกรรมาธิการยกร่างฯ การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติวาระ 3 วันที่ 17-18 มีนาคมนี้ จะต้องหารือคำวินิจฉัยของศาลก่อนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะคำวินิจฉัยผูกพันรัฐสภา หากจะเดินหน้าต่อไปก็ต้องกลับไปทำประชามติก่อน และถ้าทำประชามติรวบไปพร้อมกันหลังการลงมติวาระ 3 จะมีปัญหา เพราะสิ่งที่ดำเนินการมามีเนื้อหาที่เกินอำนาจจากที่ศาลวินิจฉัย คือเขียนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไว้แล้ว รวมถึงกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ทั้งที่ไม่ทำประชามติถามประชาชนก่อน จึงถือเป็นการสอดไส้
โหวตวาระ 3 เจอร้องศาลอีก
"หากยังเดินหน้าไปถึงวาระ 3 ในส่วนของ ส.ว.ก็ต้องหารือกันก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าร่วมลงมติหรือไม่ เพราะการลงมติมีผลผูกพัน หากเดินหน้าต่อไปทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด ก็อย่า ในยุคนี้ไม่มีการถอดถอนแบบในอดีต แต่จะถูกดำเนินคดีในศาลฎีกานักการเมืองด้วย" นายสมชายกล่าว
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ระบุว่า ศาลยืนยันหลักการเกี่ยวกับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอีกครั้งว่าเป็นอำนาจสูงสุด เหนือกว่าอำนาจรัฐสภา คือต้องทำประชามติทั้งก่อนและหลังกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่ผ่านมาในวาระ 1 และ 2 ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่ควรลงมติวาระ 3
"หากเดินหน้าลงมติวาระ 3 จะเสี่ยงต่อการจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญได้ เชื่อว่าจะมีบุคคลภายนอกยื่นคำร้องต่อศาลอีกแน่ โดยใช้ช่องทางตามมาตรา 49 อีกครั้ง นอกจากนั้น ส.ส.และส.ว.ยังสามารถเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อศาลตาม 256 (9) ได้ว่าการลงมติวาระที่ 3 ขัดมาตรา 255 เพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหากยังไม่ได้รับอนุญาตจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" นายคำนูณระบุ
นายโภคิน พลกุล แกนนำกลุ่มสร้างไทย แถลงว่า ขอเสนอให้รัฐสภาและรัฐบาลเลื่อนการลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ออกไปก่อน เพื่อรอการทำประชามติสอบถามประชาชนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาสมดุลแห่งอำนาจในการลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ให้ยังคงเป็นเช่นเดิมไปพลางก่อน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทำประชามติในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยโดยเร็ว ซึ่งถ้าพิจารณาดูแล้วจะใช้เวลาทำประชามติให้แล้วเสร็จได้ภายในไม่เกิน 90 วัน ตามกฎหมายประชามติที่ยังมีผลบังคับใช้
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า รัฐสภาคงไม่กล้าโหวตในวาระ 3 เชื่อว่าถ้าบรรจุร่างแก้รัฐธรรมนูญเข้าสภา คงถูกคว่ำแน่นอน เพราะมีการตีความการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นโมฆะ หรือสมาชิกรัฐสภาอาจไม่เข้าร่วมประชุม เนื่องจากหวั่นเกรงจะถูกถอดถอน พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเป็น ส.ส.ต่อไปได้อย่างไร เพราะคุณทำผิดรัฐธรรมนูญ เมื่อเชื่อว่าการพิจารณา 2 วาระนั้นเป็นโมฆะ ไม่ตรงกับการวินิจฉัยที่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน แต่กลับมาแก้ ม.256 ก่อน ต้องถูกถอดถอน จะอยู่ได้อย่างไร จำปากตนไว้ รัฐธรรมนูญ 2560 จะจบลงที่การฉีก เพราะสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |