ยุทธศาสตร์ ‘ทำจริง’ หลังโควิด 7 ด้านของสิงคโปร์


เพิ่มเพื่อน    

           เมื่อวานเขียนถึง "ยุทธศาสตร์เพื่อการลงมือทำ" เพื่อตั้งรับความเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 เพื่อเปรียบเทียบกับ  "ยุทธศาสตร์ชาติ" ของไทยเราที่ยังมีคำถามอยู่มากมายหลายประเด็น

            เมื่อเขาประเมินว่าหลังโควิดจะมี "ความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ" ไม่ต่ำกว่า 6 ด้าน ก็เกิดการตั้ง "ภาคี" การทำงานร่วมของรัฐ, เอกชน, นักวิชาการ, นักปฏิบัติการ และ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" ทุกๆ ด้านมาตั้งเป็น Alliances  for Action 7 ด้าน

            เป็น 7 ด้านที่ล้วนมีความสำคัญสำหรับการปรับตัวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสิงคโปร์

            และสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ต้องการปรับตัวให้กับความ "Major Shifts" หรือ "ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่"  ที่ท้าทายความสามารถของทุกประเทศที่ต้องการจะฟื้นจากวิกฤติโควิดและไปต่อได้อย่างแข็งแกร่ง

            ภาคีทั้ง 7 ด้านมีดังนี้

            (1) สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างแบบดิจิทัล (Digitalizing  the Built Environment)

            เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแรงผลักดันสำคัญของการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมของสิงคโปร์

            พอเกิดโควิดเขาก็เร่งระดมพลังของทุกภาคส่วนของห่วงโซ่คุณค่าของภาคสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสในการเร่งผลักดันสู่ดิจิทัลให้สามารถยกระดับผลผลิตในห่วงโซ่คุณค่า

            ว่ากันทั้งกระบวนการ ตั้งแต่แนวคิด การออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้าง การจัดการสถานที่ และการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก

            หัวใจของข้อนี้คือ การสามารถประสานพลังของทุกฝ่ายให้เดินไปในเส้นทางเดียวกัน

            รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์และการโละทิ้งกฎระเบียบที่เก่าแก่คร่ำครึต้องอาศัย "ความกล้าหาญทางการเมือง" ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งหากจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

            (2) เทคโนโลยีการศึกษา (EduTech):

            พอเกิดโควิด สิ่งแรกๆ ที่ต้องทำคือ นำเทคโนโลยีด้านการศึกษาเข้ามาปฏิบัติในทุกระดับอย่างจริงจัง

            นั่นหมายรวมถึงการเรียนรู้ที่บ้านไปถึงการศึกษาอบรมวิชาชีพออนไลน์

            (3) ประสบการณ์นักท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Safe and Innovative Visitor Experiences)

            ข้อนี้มีความเกี่ยวโยงกับการแก้ปัญหาของไทยไม่น้อย

            เพราะเกิดโรคระบาดก็เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว

            สิงคโปร์ตั้งเป้าว่าจะต้องบุกเบิกหาวิธีการใหม่ เพื่อสร้างการขนส่งที่ปลอดภัย ธุรกิจที่ปลอดภัย การเดินทางและการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย...คำว่า "ความปลอดภัย" และ  "สวัสดิภาพ" กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องได้รับความใส่ใจอันดับหนึ่ง

            (4) การอำนวยความสะดวกการค้าอัจฉริยะ  (Facilitating Smart Commerce in Singapore)

            โควิด-19 สร้างโอกาสสำหรับอีคอมเมิร์ซอย่างมหาศาล เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน สิงคโปร์มองว่าจะต้องนำเอาการซื้อขายออนไลน์มาบริการผู้บริโภคและส่งเสริมผู้ค้าปลีกอย่างเป็นรูปธรรม

            สิงคโปร์ต้องการผลักดันการสร้างระบบนิเวศแบบ  "สมาร์ตคอมเมิร์ซ" ที่ผสมผสานการค้าปลีกแบบดิจิทัลและแบบกายภาพเข้าด้วยกัน ถึงจุดที่สามารถเชื่อมโยงร้านค้าในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคทั่วโลก

            (5) หุ่นยนต์ (Robotics)

            มีการทุ่มเทเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้เกิดความสามารถในการสร้างผลผลิตที่สูงขึ้นและการแก้ปัญหาด้านกำลังคน

            อีกทั้งต้องไม่ลืมการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อลดการติดต่อทางสังคมและรักษามาตรฐานด้านสุขภาพระดับสูง

            ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์ก่อสร้าง  ระบบการดูแลสุขภาพและระบบขนส่งสาธารณะอัตโนมัติ

            (6) การสร้างดิจิทัลของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain  Digitalization):

            ไม่ต้องสงสัยว่าโลกยุคหลังโควิดจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในการสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน

            โดยมองไปที่การก้าวไปสู่ห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสมโหฬารในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในห่วงโซ่อุปทาน

            รวมถึงโลจิสติกส์ กฎระเบียบและการเงินกับรายละเอียดอื่นๆ ที่ต้องไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ

            (7) ความยั่งยืน (Sustainability):

            ข้อนี้แม้จะมาเป็นลำดับสุดท้ายแต่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของ "ยุทธศาสตร์ฟื้นตัวหลังโควิด"

            การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 อย่างปฏิเสธไม่ได้

            นั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้สิงคโปร์พัฒนาจนกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับโซลูชันและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ESG ทั่วโลกได้

            แต่ 7 ด้านยังไม่พอ

            "ภาคีเพื่อการลงมือปฏิบัติ" หรือ Alliances for Action  กำลังจัดตั้งคณะที่ 8 เพื่อดูเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์  (MedTech) เพิ่มขึ้นอีก

            เพราะอนาคตของการแพทย์กับเศรษฐกิจและความยั่งยืนไม่อาจจะแยกออกจากกันได้เลย

            ทั้งหมด 8 ด้านนี้ล้วนมีความละม้ายกับที่ประเทศไทยจะต้องทำ...อาจจะมีคำกล่าวอ้างว่า "เราทำอยู่แล้ว" แต่ที่เห็นชัดถึงความแตกต่างคือ "เขาทำจริงกว่าเรา" ใช่หรือไม่?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"