กขค.วางกฎเข้ม 7 ข้อบีบ'ซีพี'ห้ามใช้อำนาจกินรวบค้าปลีก


เพิ่มเพื่อน    

 

12 มี.ค.2564 นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะกำกับดูแลและตรวจสอบติดตามเงื่อนไขประกอบการอนุญาตรวมธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มบริษัทซีพี จำนวน 7 ข้อ อย่างเข้มงวด โดยให้รายงานผลการประกอบธุรกิจตามเงื่อนไขที่กำหนดในวันที่ 1 เม.ย.2564 และรายงานผลเป็นประจำทุก 3 เดือน เพื่อให้ กขค. สามารถติดตามและตรวจสอบการประกอบธุรกิจได้ และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด จะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ และหากฝ่าฝืนข้อห้ามการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด จะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ถ้าผู้ประกอบธุรกิจรายใดพบว่าซีพี มีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โทร 02 199 5444 หรือทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th หากมีการกระทำที่เข้าข่ายความผิด จะพิจารณาดำเนินการลงโทษตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างเด็ดขาดต่อไป”นายสมศักดิ์กล่าว
สำหรับเงื่อนไข 7 ข้อที่กำหนดให้ซีพีต้องปฏิบัติ ได้แก่

1.ให้กลุ่มบริษัทซีพีในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท  เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และบริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) รวมทั้งบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องมีหนังสือรับรองว่าจะไม่รวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดค้าปลีกค้าส่งเป็นระยะเวลา 3 ปี และในกรณีที่มีการซื้อหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายอื่นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั่วไปแต่การซื้อหุ้นหรือทรัพย์สินไม่เข้าหลักเกณฑ์การรวมธุรกิจจะต้องรายงานให้ กขค. ทราบภายใน 15 วัน

2.ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด แจ้งแผนการเพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) และกลุ่มสินค้าอื่นๆ โดยให้เพิ่มยอดขายจากปี 2563 ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี และให้รายงานผลการดำเนินการภายในไตรมาสแรกของทุกปี

3.ให้กลุ่มบริษัทซีพีในตลาดค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท  เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และบริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) มีหนังสือรับรองว่าจะไม่ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า

4.ให้บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ดำเนินการคงไว้ตามเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงกับผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิมที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้แล้วก่อนการรวมธุรกิจเป็นระยะเวลา 2 ปี เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณหรือประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ และจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบนั้นๆ และรายงานผลการดำเนินการทุก 3 เดือน

5.ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อทางการค้า (Credit Term) แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้า OTOP ไม่เกิน 30 วัน และกลุ่มสินค้าอื่นๆ ไม่เกิน 45 วัน เป็นระยะเวลา 3 ปี กรณีข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิมน้อยกว่าให้ใช้ข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิม โดยให้รายงานผลการให้สินเชื่อทางการค้าของ SMEs ทุกรายในวันที่ 1 เมษายน 2564 และให้รายงานผลการดำเนินการเป็นประจำทุก 3 เดือน

6.ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด รายงานผลการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ข้อมูลสาขาและการขยายสาขาหรือยกเลิกสาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 เมษายน 2564 และรายงานผลการขยายสาขา หรือยกเลิกสาขารวมทั้งรายงานยอดขายสินค้าจำแนกตามหมวดสินค้าเป็นประจำทุก 6 เดือน
7.ให้กลุ่มบริษัทซีพีในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท  เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และบริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ในวันที่ 1 เมษายน 2564 และให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางการพิจารณาทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ.2562

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทซีพีในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด จะต้องไม่มีการกระทำที่เป็นข้อห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 50 แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"