12 มี.ค.64 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า จากการอ่านเฉพาะคำแถลงสรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 11 มีนาคม 2564 เพียงย่อหน้าเดียว
ผมสรุปได้ดังนี้
1. ศาลยืนยันหลักการเกี่ยวกับ ‘อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ’ อีกครั้งว่าเป็นอำนาจสูงสุด เหนือกว่าอำนาจรัฐสภา
2. ศาลวางเกณฑ์ทั่วไปในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ชัดเจนและหนักแน่นขึ้นกว่าคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 จากคำแนะนำว่า ‘ควร’ จัดทำประชามติก่อน มาเป็นหลักการว่า ‘ต้อง’ ถามและได้คำตอบอนุญาตโดยตรงจากประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติเสียก่อน เพราะตามข้อ 1 อำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภา และต้องทำประชามติรวม 2 ครั้ง ครั้งแรก ‘ก่อน’ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งย่อมหมายความว่าก่อนเริ่มต้นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในวาระ 1 และ 2 ของรัฐสภาแม้จะยังไม่ใช่การเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตรงแต่ย่อมต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย โดยศาลระบุแม้ในคำวินิจฉัยย่อนี้ว่าต้องถามในการลงประชามติเป็นการเฉพาะว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่ 2 ‘หลัง’ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จ ถามว่าประชาชนเห็นชอบกับการนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้แทนฉบับเดิมหรือไม่
พูดง่าย ๆ คือ ‘ต้อง’ ทำประชามติทั้ง ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
3. ประเด็นที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันมากที่สุดก็คือ ในคำวินิจฉัยย่อไม่ได้พูดถึงการทำประชามติหลังร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อให้เกิดหมวดใหม่กำหนดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านวาระ 3 อาจจะเพราะเป็นเรื่องทั่วไป 1 ใน 6 ประเด็นที่ต้องทำประชามติอยู่แน่นอนแล้วตามบังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ศาลไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง หรือจะเพราะไม่ใช่คำถามจากรัฐสภา หรือจะเพราะเหตุอื่นใด จึงทำให้มีผู้ตีความว่าการทำประชามติตามมาตรา 256 (8) นี้หมายถึงการทำประชามติครั้งแรกในหลักการเฉพาะในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ศาลวางไว้ในขัอ 2 ผมเห็นว่าการตีความเช่นนี้จะถูกต้องก็ต่อเมื่อศาลได้กล่าวระบุไว้ชัดเจนในคำวินิจฉัยกลางทึ่จะเผยแพร่ต่อไปเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ศาลน่าจะได้กำหนดเกณฑ์ในการตั้งคำถามประชามติให้ชัดเจนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการเฉพาะที่ศาลได้วางในข้อ 2 ตัวอย่างเช่น อาจกำหนดให้ตั้งคำถามในการลงประชามติเป็น 2 คำถาม
คำถามที่ 1 - ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
คำถามที่ 2 - ท่านเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านรัฐสภามานี้หรือไม่
แม้แนวทางนี้จะสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ ไม่ขัดกับหลักการในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ศาลวางไว้ในข้อ 2 และเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน แต่ถ้าศาลไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในคำวินิจฉัยกลาง ผมเห็นว่ารัฐสภาจะถือว่าการลงประชามติหลังผ่านวาระ 3 ตาม 256 (8) หมายถึงการลงประชามติครั้งแรกตามหลักการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ศาลวางหลักการเฉพาะไว้แล้วหาได้ไม่ เพราะ
(1) เป็นการนำบททั่วไป (การลงประชามติในกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น) มาใช้แทนบทเฉพาะ (การถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่) และ
(2) ไม่ใช่อำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย โดยเฉพาะการวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐสภาโดยลำพัง
4. สรุปเบื้องต้นในความเห็นส่วนตัวผมหลังอ่านคำวินิจฉัยย่อ หากคำวินิจฉัยกลางไม่ได้เขียนประเด็นในข้อ 3 ไว้ให้ชัดเจน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องผ่านการทำประชามติ 3 ครั้ง
(1) ก่อนเริ่มดำเนินการเสนอหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว
(2) หลังร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวผ่านวาระ 3 และ
(3) หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ
5. ตามความเห็นที่ลำดับมา ผมจึงเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่ผ่านมาในวาระ 1 และ 2 ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่ควรลงมติวาระที่ 3 ตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย
หากเดินหน้าลงมติวาระ 3 จะเสี่ยงต่อการจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญได้
โดยเชื่อว่าจะมีบุคคลภายนอกยื่นคำร้องต่อศาลอีกแน่ โดยใช้ช่องทางตามมาตรา 49 อีกครั้ง และครั้งใหม่นี้ข้อเท็จจริงจะแตกต่างออกไปจากครั้งก่อนที่ศาลยกคำร้องไปแล้ว เพราะเป็นการกระทำที่ศาลมีคำวินิจฉัยวางหลักเกณฑ์การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไว้แล้ว
นอกจากนั้น ส.ส.และส.ว.ยังสามารถเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อศาลตาม 256(9) ได้ว่าการลงมติวาระที่ 3 ขัดมาตรา 255 เพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหากยังไม่ได้รับอนุญาตจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
6. ส่วนจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในรายละเอียด เป็นเรื่องที่รัฐสภาจะต้องปรึกษาหารือกัน
7. รัฐสภาจะต้องเร่งดำเนินการผ่านร่างกฎหมายประชามติโดยเร็ว
หวังว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญจะเผยแพร่ออกมาโดยเร็ว และตอบคำถามได้ครบถ้วนกระบวนความ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |