12 มี.ค.64 - นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับเพิ่มเติม กล่าวภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนรู้สึกดีใจที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา ตามที่สมาชิกร้องได้ขอ โดยยืนยันให้รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่มีความขัดแย้งในเชิงอำนาจระหว่างสถาบันนิติบัญตัติและตุลาการขึ้น โดยศาลชี้ให้รัฐสภาทำได้ แต่อำนาจเด็ดขาดในการสถาปนาอยู่ที่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกมธ.ในการพิจารณาที่ผ่านมา โดยคำวินิจฉัยนี้ทำให้เกิดการผ่อนคลาย กับสมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่ยังมีความกังวลว่า รัฐธรรมนูญจะขัดธรรมนูญหรือไม่ เพราะเมื่อศาลชี้แล้ว รัฐสภาก็สามารถทำได้ โดยสิ้นข้อสงสัย
นายนิกร กล่าวว่า แต่สิ่งที่ตนยังมีความกังวลจากคำวินิจฉัยนี้อยู่ที่ความเห็นในการตีความคำวินิจฉัยของฝ่ายต่างๆในทางการเมืองที่ออกมาไม่เหมือนกัน สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ร่างที่ยกร่างถูกต้องสอดคล้องกับคำวินิจฉัยแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า ทุกอย่างที่ทำมาเป็นโมฆะ ต้องเริ่มต้นใหม่โดยกลับไปถามประชาชนก่อน แต่ส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่า ร่างของรัฐสภา ที่กำลังรอโหวตวาระสามนั้น สอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รอการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ เป็นการการแก้ไขเพียงมาตราเดียว โดยมีการแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรก เปลี่ยนมาใช้เสียงของรัฐสภา ในวาระ 1 และ 3 เป็น 3 ใน 5 ของรัฐสภาแทนที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม และตอนที่สอง เป็นการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 โดยให้ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญ
"เท่ากับว่า มีการเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญโดยให้ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนเป็นผู้กำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ยกเว้นหมวด 1หมวด 2 อันเป็นการทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นของประชาชน โดยหลังจากมีมติในวาระสามของร่างฉบับที่กำลังพิจารณานี้แล้ว ให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่า เห็นชอบหรือไม่ กับการจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยใช้ส.ส.ร. เท่ากับเป็นไปตามที่ข้อวินิจฉัยแรกที่ให้ถามประชาชนของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหากยังมีความกังวลว่า ไม่ครบอาจจะใช้เพิ่มเติมคำถามในการทำประชามติเข้าไปในช่วงนี้ก็สามารถทำได้ ต่อจากนั้นเมื่อมีการเลือกส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วเสร็จให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าพิจารณารัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างฉบับใหม่นั้นหรือไม่ ถือเป็นการสอบถามประชาชนเป็นครั้งที่ 2 ตามคำวินิจฉัย" นายนิกร กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีที่ซีกส.ว.เสนอให้มีการย้อนกลับไปทำประชามติ เริ่มต้นใหม่อีกครั้งนั้น นายนิกร กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะเรื่องนี้ได้มีการพิจารณาในชั้นกมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการมาก่อนแล้วว่า การทำประชามติก่อนที่จะมีการยกร่างแก้ไขนั้น กระทำไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฏหมายที่จะทำ การใช้มาตรา 166 เป็นของรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายใดๆของฝ่ายบริหารไม่ใช้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะที่การตั้งคำถามก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีประเด็นครงถ้วนที่จะถาม และนอกจากนั้นจะถือเป็นการทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น
"อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถ้าเป็นไปได้น่ารอพิจารณารวมที่สมบูรณ์ และคำวินิจฉัยเป็นรายบุคคล เพื่อจะได้ทราบว่า ศาลชี้ตามแนวทางปฏิบัติว่าอย่างไร เพราะผมเกรงว่า เรื่องนี้มีนัยยะที่มีอันตรายอยู่เช่นกัน เพราะถ้ายังคลุมเครือก็จะเป็นอันตราย เพราะถ้าหากว่า เข้าพิจารณาในวาระสาม อาจมีการยกเป็นข้ออ้างว่า ยังความไม่ชัดเจนในการทำประชามติแล้วงดออกเสียง ซึ่งจะทำให้ได้เสียงจากส.ว.ไม่ครบ 1 ใน 3หรือ 84 เสียงส.ว. ตามบทบัญัตติเดิมของรัฐธรรมนูญ ทำให้ร่างนี้ต้องตกไปในทันที จึงสมควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง"นายนิกร กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |