กฎหมายดิ้นไม่ได้ แต่คนดิ้นได้
ฉะนั้น ไม่แปลก
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ประเด็นรัฐสภา (ส.ส.-ส.ว.) มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. เขียนใหม่ทั้งฉบับใช้แทนฉบับปัจจุบัน ทำได้หรือไม่?
เมื่อวาน (๑๑ มี.ค.๖๔) ด้วยมติเสียงข้างมาก ศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า
๑.รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
๒.โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ
๓.เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
สิ้นเสียงวินิจฉัย เสียงจาระไนตามมาทั้ง ๒ ด้านทันที!
ด้านหนึ่งบอก แบบนี้ "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่คารัฐสภาก็ตกไป ไม่ต้องโหวตวาระ ๓ ในวันที่ ๑๗ มีนา.แล้ว
อีกด้านบอก "ยังไม่ตก" ๑๗ มีนา.โหวตได้ แล้วค่อยไปทำประชามติ
ก็อีกหลายแนวเห็น บางคนบอก ศาลฯ ตีความออกมาอย่างนี้...งง
"มากหมอ-มากความ" อย่างนั้นจริงๆ แต่ในความเห็นผม ถ้ามีหลักยึด จะไม่งง
พูดกันตรงๆ ประเด็นนี้ ไม่ต้องตีความ เพราะบัญญัติไว้โต้งๆ ในรัฐธรรมนูญ หมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๘)
เพราะอยากจะเอากัน จึงทำเป็นตาบอด-ตาใส มองไม่เห็น (๘) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไว้
หรือเห็น ...
แต่เพราะสมประโยชน์ด้วยกัน ก็ขยิบตากัน หวังใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาลากเอากันให้สำเร็จ
คือถ้าไม่มีใครไปร้องให้ศาลฯ วินิจฉัยถึงความชอบตามรัฐธรรมนูญ "วาระ ๓" ส.ส.ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล มั่นใจว่าเสียงพวกเขา ลากฉลุยแน่
ถ้าติดขัด เพราะเสียง ส.ว.ไม่เอาด้วย ก็จะได้อาศัยจุดนี้เป็นเงื่อนไขทางการเมืองว่า...เห็นมั้ย เพราะ ส.ว. "คสช.ตั้ง" รับใบสั่งรัฐบาลมาขวาง
ก็เป็นประเด็นให้ ๓ นิ้วลากเอาไปละเลงต่อในถนนได้อีก!
แต่ที่ต้องหน้าคะมำ เพราะถูก ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน กับ ส.ว.สมชาย แสวงการ "ยื่นขัดขา" ยื่นให้ศาลฯ วินิจฉัย
พอเข้าใจ "ความเบื้องตน" กันแล้วนะครับ.....
ทีนี้ มาสรุปประเด็นจากคำวินิจฉัยแบบ "สั้น-กระชับ" อีกที
"รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญจัดทำใหม่ทั้งฉบับได้"
แต่การจัดทำนั้่น ต้องผ่าน ๒ ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก
"ก่อนจัดทำใหม่ทั้งฉบับ" ต้องไปทำประชามติ คือถามประชาชนก่อนว่า "ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มั้ย"?
ขั้นตอนที่สอง
เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องทำประชามติอีกครั้ง
ให้ประชาชนออกความเห็นว่า "เห็นชอบกับร่างฯ ฉบับใหม่นี้มั้ย"?
คือ ต้องทำประชามติ ๒ ครั้ง ก่อนร่างฯ กับหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ
จากนั้่น ถึงจะเข้าขั้นตอน "รัฐสภาปลุกเสก"
ถามว่า แล้วไหนล่ะ หลักที่ว่ามีให้ยึด?
ก็ระบุบ่งไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด ๑๕ มาตรา ๒๕๖ (๘) ชัดเจน
มาตรา ๒๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๘) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม
-หมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์
-หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
-หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
-หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ
-หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้
ก่อนดำเนินการตาม (๗).....
ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
ครับ หมายความว่า........
ที่รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร.ไปเขียนใหม่ทั้งฉบับอย่างที่ทราบ
ทำได้ กฎหมายไม่ห้าม แม้กระทั่ง หมวด ๑ หมวด ๒ ก็แก้ได้
แต่....
ต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามที่ผมแยก หรือ..หรือ..ให้เห็นข้อๆ นั่นแหละ
ที่แก้กัน แม้ไม่แตะหมวด ๑ หมวด ๒ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องทำประชามติก่อน
แต่ไปแตะ คือไปแก้หมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันจึงเข้าหลักเกณฑ์พอดี
ต้อง "ทำประชามติ" ก่อน ทั้งก่อนร่างฯ และหลังร่างฯ!
เข้าใจกันแล้วใช่มั้ย....
ว่าทำไมศาลฯ จึงมีวินิจฉัยให้ทำประชามติถึง ๒ ครั้ง ซึ่งไม่ต้องตีความเลย เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญระบุชัด
ต้องยอมรับว่า "อาจารย์มีชัย" เก๋าจริงๆ มองทะลุเกม
จึงวางกับดักพวกอยากแก้เพื่อ "ฆ่า" กฎหมายลูกอีก ๑๐ ฉบับ ที่เป็นยันต์ปิดฝาหม้อ "ขังวิญญาณสัมภเวสี" ขี้โกงถ่วงน้ำไว้ ไม่ให้กลับมาผุด-มาเกิด!
อาจารย์มีชัย "อ่านขาด" ล่วงหน้า จึงวางกับดักไว้ ซึ่งได้ผลชะงัด
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภาวาระ ๒ จ่อ วาระ ๓ เขาแก้ ๒ ข้อ
ข้อแรก แก้มาตรา ๒๕๖ เรื่องวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ข้อนี้ แก้ได้เลย ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องทำประชามติ
แต่ข้อที่ ๒ แก้ไขเพิ่มหมวด ๑๕/๑ เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ตรงกระบาลเป๊ะ!
ทำให้ร่างฯ เข้าหลักเกณฑ์ ต้องทำประชามติทั้งก่อนและหลังร่างฯ ตาม (๘) ของมาตรา ๒๕๖
ก็พยายามลำดับประเด็นให้เข้าใจต่อเนื่องที่สุด น่าจะหายงงนะ
คือ หมดสงสัย ว่า ๑๗ มีนา.วาระ ๓ ยังจะโหวตกันหรือไม่?
โหวตหวังเป่าตูดงั้นรึ...มันฟื้นไม่ได้หรอก
เพราะร่างฯ นั้น ไม่ทำตามหลักเกณฑ์ตั้งแต่แรกไป เมื่อผิดแต่ต้น ทั้งกลางและปลาย มันก็ผิด "ร่างที่คารัฐสภา" จึงถือว่า "แท้งนอกมดลูก" ไปโดยปริยาย
ในเมื่อศาลฯ มีวินิจฉัยชัด....
รัฐสภา "จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้"
อยากจะแก้ ก็ต้องกลับไปนับ ๑ ทำประชามติ "ถามประชาชน" ก่อนว่า ต้องการมีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่มั้ย?
ถ้าเสียงข้างมากบอก "ต้องการ"
ก็เอาเลย รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน อะไรที่บอกให้ทำได้ ทำเลย ที่ไม่ได้บอกให้ทำ ก็อย่าไปทำ
มันมีหลัก-มีเกณฑ์อยู่ ฉะนั้น อยากมี ส.ส.ร.เขียนใหม่ทั้งฉบับ ก็ไม่ยาก
เก็บร่างที่ผ่านรัฐสภาไว้ก่อน แล้วไปทำประชามติ ถามประชาชนว่า ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มั้ย?
ถ้าผลออกมา "อยาก"
ก็เอาร่างฯ ในดวงใจ ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.เขียนใหม่นั้น ไปทำประชามติ ถามชาวบ้านอีกรอบว่า อย่างนี้ โอเคมั้ย?
ถ้าโอเค ก็เข้าขั้นตอนพิธีกรรมรัฐสภา จากนั้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้
บอกแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้หนังเหนียว ไม่งั้น คนร่างจะชื่อ "มีชัย" ได้หรือ?!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |