มติศาลรัฐธรรมนูญไม่สะเด็ดน้ำ ออกเอกสารข่าว 7 บรรทัด บอกรัฐสภามีอำนาจทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องถามประชามติจากประชาชนก่อน และเมื่อฉบับใหม่เสร็จก็ถามอีกรอบ “ชวน” รับมึน! รอศึกษาแบบละเอียด ฝ่ายกฎหมายสภาเจอเดดล็อกหากผ่านวาระ 3 ต้องตรา พ.ร.ฎ.เลือก ส.ส.ร. 30 วันผิดเงื่อนไขศาล รธน. “ไพบูลย์” ยัน 17 มี.ค.เถียงหนักแน่เอาอย่างไร ลั่นโหวตวาระ 3 ไม่ได้ ส่วน “ชูศักดิ์” เชื่อทำได้ สุทินโยน “ประธานชวน” ชี้ขาด รับอาจต้องกลับศาลอีกรอบ
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าวที่ 7/2564 ถึงผลการประชุมศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรการ 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)
โดยในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 9 ก.พ.2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกรัฐสภา เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งผลการลงมติที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากเห็นด้วยให้ส่งศาลพิจารณาวินิจฉัย
ทั้งนี้ ผลการประชุมพิจารณา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง จึงไม่มีการออกนั่งอ่านคำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน โดยศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง
สำหรับคดีที่ 2 เป็นกรณีนายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยกล่าวอ้างการที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม และนายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม และที่ประชุมรัฐสภาลงมติรับหลักการ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 49 มาตรา 255 มาตรา 256 ประกอบมาตรา 5 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกรณีที่ 3 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยกล่าวอ้างว่าการที่สมาชิกรัฐสภา 576 คน ลงมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามญัตติที่ 1 และสมาชิกรัฐสภา 647 คน ลงมติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามญัตติที่ 2 เป็นการกระทำที่เป็นสิทธิการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และขอให้คำสั่งให้ประธานรัฐสภาสั่งระงับหรืองดเว้นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาหรือลงมติในวาระที่สองและวาระที่สาม จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอ และยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมตกไป
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าดี ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล และเคารพคำสั่งศาล ทุกอย่างจึงจะได้เดินหน้าไปได้
เมื่อถามว่า การทำประชามติจะยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อย่าไปคิดอะไรมาก ถ้ายื้อเวลาคงไม่บรรจุแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาตั้งแต่แรกแล้ว แต่นี้ทำทุกอย่างแล้ว สภาก็ทำหน้าที่ทุกอย่าง เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแบบนี้แล้วไปบอกว่ายื้อเวลา ก็คงไม่ใช่ อย่างนี้หาเรื่องแล้ว
สภามึนเจอเดดล็อก
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศาลส่งคำวินิจฉัยมาให้เพียง 4-5 บรรทัด ซึ่งขณะนี้ความเห็นยังไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่นัก ยังคงตีความกันอยู่ ดังนั้นจึงต้องรอรายละเอียดคำวินิจฉัยก่อน
เมื่อถามว่าจะสามารถโหวตแก้รัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ได้สั่งบรรจุระเบียบวาระก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา
ทั้งนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/ร 15 ถึง ส.ส.และ ส.ว. เรื่องการนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ว่าด้วยมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2564 ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.2564 ประธานรัฐสภาจึงได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 17 มี.ค. และครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 18 มี.ค. เวลา 09.30 น. โดยในระเบียบวาระมีเรื่องด่วนคือร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช.... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) (เป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระที่สาม) นอกจากนี้ ยังมีระเบียบวาระการประชุมคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ... 2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... และ 3.ร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งทั้ง 3 ร่างคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายกฎหมาย สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรียกประชุมด่วนเพื่อหารือถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในเวลา 17.00 น. มีการถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียด โดยฝ่ายกฎหมายเห็นว่าการประชุมลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะขั้นตอนการทำประชามติจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 เพื่อเตรียมเลือก ส.ส.ร. แต่ปรากฏว่ามีปัญหาสำคัญอยู่ที่มาตรา 5 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เพิ่งผ่านวาระ 2 ไป ระบุว่า "ในวาระเริ่มแรกให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 30 วัน นับจากที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ" หมายความว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 และมีผลบังคับใช้ จะต้องตราพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ใน 30 วัน โดยที่ยังไม่มีการสอบถามประชามติจากประชาชนจะยินยอมให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากมีการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะผิดเงื่อนไขของศาลรัฐธรรมนูญทันที หรือหากจะจัดให้ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชน ก็จะมีเวลาแค่ 30 วัน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ฝ่ายกฎหมายยังไม่สามารถหาทางออกได้
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้ยื่นคำร้อง กล่าวว่า ยังงงในคำวินิจฉัย และเชื่อว่าในการประชุมในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ที่ประชุมจะถกเถียงว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในความเห็นส่วนตัว เชื่อว่ารัฐสภาไม่สามารถลงมติได้ ดีไม่ดีอาจจะโหวตตกก่อน
ต่อมานายไพบูลย์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า พอใจในคำวินิจฉัยศาลที่ยืนยันในอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ใช่ยกอำนาจให้องค์กรใดดำเนินการ เช่น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ในการลงมติวาระ 3 นั้น เชื่อว่าไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐสภาได้ทำเกินไปกว่าที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ
เมื่อถามย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นถือว่าโมฆะใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ใช่ เพราะต้องไปถามประชาชนก่อน และถามได้เพียงว่าประสงค์จะให้แก้ทั้งฉบับหรือไม่ โดยไม่สามารถนำเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พ้นวาระสองไปถามพ่วงได้
เสียงแตกโหวตวาระ 3
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา และโฆษก กมธ.ร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไข รธน.มาตรา 256 กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.ได้ตอบกลับมาแล้วว่า หากจะมีการแก้ไข รธน.โดยรัฐสภา ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้ รธน.ฉบับใหม่หรือไม่ รัฐสภาจะมีอำนาจได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขคือต้องผ่านการทำประชามติก่อน หากผลประชามติออกมาว่าประชาชนเห็นด้วย รัฐสภาถึงค่อยนำผลประชามติมาพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อผลเป็นเช่นนี้ ร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ผ่านวาระแรกและวาระสองมาแล้วมันไม่ผ่านการทำประชามติมาก่อน ดังนั้นรัฐสภาไม่สามารถไปแก้ไขได้ ดังนั้นญัตติแก้ไข รธน.ตามร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาวาระหนึ่งและสองมา ที่ค้างอยู่จะโหวตวาระสามจึงต้องตกไป
ส่วนนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวว่า ที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ในปัจจุบันคือการทำประชามติก่อนตามความหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมา คือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านวาระ 3 ก็ยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าจะเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อประชาชนเห็นชอบ ก็นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็ต้องเลือก ส.ส.ร.ตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แล้ว ส.ส.ร.ก็ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก็ไปทำประชามติอีกครั้ง ถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็เข้าสู่กระบวนการประกาศใช้
“ที่ทำอยู่สอดคล้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนี้ก็ต้องเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไป และเชื่อว่ากระบวนการจะไม่ล่าช้ากว่าเดิม” นายชูศักดิ์ระบุ
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ส่วนที่มีผู้ไปตีความคำวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อน มีความหมายว่าก่อนดำเนินการใดๆ ต้องถามประชาชนเสียก่อนว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่นั้น เข้าใจว่าถ้าไปตีความเช่นนั้น จะเป็นเรื่องที่ขาดเหตุผลอย่างมาก เพราะจะถามประชาชนได้เพียงว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยประชาชนไม่รู้เลยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมาอย่างไร จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร จึงเห็นว่าสิ่งที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือการสอบถามประชาชนว่าเห็นสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง เนื่องจากเมื่อผ่านวาระ 3 เราก็ต้องทำประชามติตามที่ได้กล่าวมา
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า คำวินิจฉัยที่ออกมาทำให้ประชาชนตีความไปคนละทิศละทาง บ้างก็บอกว่าวันที่ 17 มี.ค. ไม่สามารถโหวตวาระ 3 ต่อไปได้ บ้างก็บอกว่าเดินหน้าต่อไปได้ แต่ส่วนตัวมีความเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ศาลบอกว่าการยกร่างทั้งฉบับต้องไปถามประชาชน โดยทำประชามติ 2 ครั้งนั้น หมายถึงฉบับที่ ส.ส.ร.จะยกร่างขึ้น แต่ฉบับที่คาสภาอยู่นี้ เป็นการแก้เพียงมาตราเดียวคือมาตรา 256 ไม่ใช่ยกร่างทั้งฉบับ ดังนั้นจึงคิดว่าเดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้ตามปกติ
“เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ คงต้องรอให้ประธานรัฐสภาเป็นคนวินิจฉัยแนวทางดำเนินการตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมา แต่ถ้ามีคนไม่เชื่อคำวินิจฉัยประธานรัฐสภา เรื่องนี้อาจต้องวกไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง” นายสุทินกล่าว
ชงประชามติใน 90 วัน
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ขอเสนอให้รัฐสภาและรัฐบาลได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.รัฐสภาควรเลื่อนการลงมติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ออกไปก่อน เพื่อรอการทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาล 2.ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณาในรัฐสภาเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีควรเร่งปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติตามนัยแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ที่ยังมีผลบังคับใช้ 3.รัฐบาลควรเร่งดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยโดยเร็ว ซึ่งสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในไม่เกิน 90 วัน ตามกฎหมายประชามติที่ยังมีผลบังคับใช้
ขณะที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว และนายชวนได้บรรจุระเบียบวาระเเล้วจะพิจารณาวาระที่ 2-3 และถ้ารัฐสภาเห็นชอบ เราจะมี พ.ร.บ.ประชามติไว้รองรับการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นตามคำวินิจฉัยของศาลทันเวลา
“รู้สึกเสียดายหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติมากกว่า 1 ครั้ง เพราะเเนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว และการทำประชามติมากกว่า 1 รอบ จะทำให้เวลาในกระบวนการแก้ไขยืดเยื้อออกไปอีก รวมถึงใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก อาจสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ” นายอิสระระบุ
ส่วนนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์" ที่เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ถูกรัฐสภาโหวตคว่ำในวาระแรก กล่าวว่า จากเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ มองว่ารัฐสภาสามารถเดินหน้าโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แต่ต้องทำประชามติ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ก็เขียนไว้อยู่แล้วหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระ 3 ก็ต้องส่งไปทำประชามติ ซึ่งหลังจากนี้ต้องจับตาดูการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้า 17-18 มี.ค." ว่าสมาชิกรัฐสภาจะมีท่าทีอย่างไรในการโหวตวาระ 3
"หากมีการคว่ำในวาระ 3 โดยรัฐสภา ที่อาจคว่ำโดย ส.ว. ก็แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันปิดประตูตายทั้ง 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ผมไม่รู้คนจะโกรธหรือไม่ แต่คนคงรู้สึกสิ้นหวัง แล้วพอคนสิ้นหวัง ก็อาจทำให้เขาทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนได้ ถ้าแบบดีหน่อย คนไม่เคยลงถนนก็จะลงถนน และหากแย่หน่อย คนที่เคยลงถนนอยู่แล้วเขาอาจจะโกรธมากขึ้น แล้วทำอะไรมากกว่านั้น" นายยิ่งชีพระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |