เพื่อนบ้านเราหลายประเทศได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์หลังโควิด” เพื่อผลักดันให้ตัวเองพ้นจากวิกฤติแล้วจะได้วิ่งไปข้างหน้าได้เต็มที่
คณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ของไทยก็เพิ่งพูดถึง “แผน 13” ที่จะครอบคลุม 4 ด้านเพื่อ “พลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศ”
โดยเน้นการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมแพทย์, ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
มีคำอธิบายจากคุณดนุชา พิชยนันท์, เลขาธิการ สศช., ว่าแผนพัฒนาฉบับที่ 13 จะไม่เหมือนกับแผนฉบับที่ผ่านมา
แผนก่อนๆ จะครอบคลุมการพัฒนาในทุกเรื่อง แต่แผนฉบับที่ 13 จะหยิบยกประเด็นสำคัญมาผลักดันให้สำเร็จใน 4 ด้าน 13 เรื่อง
เป้าหมายคือต้อง “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ” ให้จงได้
เป้าหมายที่ว่านี้คือการนำประเทศสู่ “เศรษฐกิจมูลค่าสูง และสร้างการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน”
เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า High Valued and Sustainable Ecosystem
ส่วนหนึ่งก็จะเป็นการเน้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งไปสู่สังคมที่ลดการปล่อยคาร์บอนและมลภาวะให้สอดคล้องกับบริบทโลก
ภาพใหญ่ของ “แผน 13” ยังอยู่ในกรอบคิดที่ผูกติดกับระบบราชการเดิมที่ยังเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก
หากแก้ตรงสาเหตุหลักที่ถ่วงความเจริญของบ้านเมืองไม่ได้ การที่จะดันให้ไทยเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก็ย่อมจะหวังได้ยาก
เราจึงควรจะมองว่าประเทศต่างๆ ที่กำลังเตรียมแผนก้าวกระโดดให้พ้นโควิด-19 นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
สิงคโปร์ประกาศ 6 การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก
เขาเรียกมันว่า Major Shifts อันหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญที่ประเทศต่างๆ จะต้องไม่เพียงแต่ “ตามให้ทัน” แต่ยังต้อง “วิ่งนำ” คู่แข่งรอบๆ ตัวด้วย
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?
1.ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ภูมิรัฐศาสตร์ที่ผันแปรจะเป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสการค้าภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย
เมื่อเกิดแนวโน้มของกระแสการค้าใหม่ ก็แปลว่าจะต้องเร่งรัดการวิจัยและการพัฒนา บริการ ข้อมูลและนวัตกรรมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่หนักหน่วงและกว้างขวาง
2.โควิด-19 มีผลกระทบต่อ supply chain หรือ “ห่วงโซ่อุปทานการผลิต” อย่างแรง จะจัดการบริหารแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป
จำเป็นต้องหาทางสร้างความเข้มแข็งที่ยืดหยุ่น (resilience) ให้มากขึ้น
ชัดเจนว่าห่วงโซ่อุปทานในวันข้างหน้าจะเรียบง่ายและสั้นกว่าที่เคยเป็นมา นั่นหมายถึงการวางที่ตั้งฐานการผลิตให้ใกล้กับตลาดผู้บริโภคปลายทาง และต้องใกล้กับแหล่งปัจจัยการผลิตที่จำเป็นเพื่อความคล่องตัวด้วย
3.วิกฤติโควิด-19 เร่งให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจต้องปรับใช้ดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม อีกทั้งยังทำให้มีการเร่งปรับตัวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งหมายถึงการใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย
4.พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และที่สำคัญคือ บางพฤติกรรมอาจจะไม่กลับสู่รูปแบบเดิมก่อนการระบาดของโรคอีก
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ความต้องการอี-คอมเมิร์ซ บริการอิเล็กทรอนิกส์และช่องทางดิจิทัลจะเพิ่มขึ้น
อีกทั้งความต้องการที่จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและบริการที่ส่งผลต่อสุขภาพ
ผู้คนต้องการลดความจำเป็นที่จะต้องการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ
5.คำว่า “ความยั่งยืน” จะมีความสำคัญมากขึ้น โควิด-19 เร่งให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมมากขึ้น
ธุรกิจใหม่ๆ จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
6.โควิด-19 ทำให้องค์กรธุรกิจต้องจัดสรรเงินทุนและสภาพคล่องใหม่
ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ที่ประสบปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การควบรวมในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น
เพื่อที่จะตั้งรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้ง 6 ด้านนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศตั้ง “ภาคีเพื่อการลงมือทำจริง” หรือ The Alliances for Action (AfAs)
นั่นคือคณะทำงานระดับสูงที่มีตัวแทนทั้งจากรัฐและเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของอุตสาหกรรม โดยเน้นการทำงานอย่างคล่องแคล่วปราดเปรียวแบบ “สตาร์ทอัพ” และสร้างต้นแบบ หรือ prototype เชิงนโยบายใหม่ๆ
ถึงวันนี้มีการตั้ง AfAs แล้ว 7 คณะ มีหน้าที่ทำงานร่วมกันและเสนอแนะต้นแบบเชิงนโยบายใหม่ในด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์อนาคตที่ผันผวน, ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูง
เช่น AfA on Supply Chain Digitalization ซึ่งมีหน้าที่สร้าง “ห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล”
(7 ด้านที่สิงคโปร์ตั้งรับอนาคตอันแปรปรวนที่รัฐบาลไทยควรศึกษานำมาปรับใช้).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |