ภาพจากหน้าปกรายงาน "Fugushima Daiichi 2011-2021"
11มี.ค.64- เนื่องในเหตุการณ์รำลึกถึงหายนะภัยนิวเคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมะในญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีก่อน กรีนพีซ ญี่ปุ่น ได้ออกแถลงการณ์ โดยแซม แอนเนสลี ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสียครอบครัวและคนรักจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ(Great East Japan Earthquake and Tsunami) เรายืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากผลของหายนะภัยนิวเคลียร์ครั้งใหญ่นี้
หลังจากหายนะภัยที่ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่นได้เริ่มต้นความพยายามในการบูรณะเมืองใหม่ รวมถึงสร้างเครือข่ายคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน ก็ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นมีโอกาสได้ทบทวนแผนพลังงานเพื่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในทางแพร่งที่ต้องเลือกหลังจากพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มาหลายปี แต่น่าเสียดายที่หลังจากเกิดหายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ รัฐบาลญี่ปุ่นกลับเริ่มส่งเสริมโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น นั่นก็คือการเร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาชี้ขาดที่รัฐบาลต่าง ๆ จะต้องบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติจากภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศที่มีต่อผู้คนและความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแล้ว โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งได้ลดสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ลงจาก 22% เหลือ 11% ในขณะที่เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 17% เป็น 45% [1] นับจากนี้ญี่ปุ่นควรใช้ตัวอย่างนี้เป็นแรงบันดาลใจและเร่งแก้ไขนโยบายพลังงาน เพื่อสนับสนุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย
“กรีนพีซญี่ปุ่นย้ำเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมโดยการส่งเสริมนโยบายพลังงานหมุนเวียนแทนการใช้ถ่านหินและนิวเคลียร์ ญี่ปุ่นมีความสามารถและเทคโนโลยีแต่ยังขาดความตั้งใจจริง เมื่อมองไปยังอนาคต รัฐบาลญี่ปุ่นควรลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นต่อแผ่นดินไหวและเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหายนะภัยเช่นที่ฟุกุชิมะขึ้นอีก”
คาซุเอะ ซูซุกิ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานของกรีนพีซ ญี่ปุ่น กล่าวว่า “ จากการสำรวจของสื่อญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่าคนจำนวนมากไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ [2] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับพยายามเริ่มโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทีละแห่งโดยไม่สนใจความต้องการของประชาชน
“แผนการที่จะกลับมาใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องล้มเลิก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน "
คาซุเอะ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากหายนะภัยนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ยังไม่สิ้นสุด โดยปรากฎในข้อมูลภาครัฐว่ามีประชาชนอย่างน้อย 35,000 คนในปัจจุบันที่ยังคงต้องใช้ชีวิตในฐานะผู้อพยพ รวมทั้งการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงดำเนินต่อไปทั่วญี่ปุ่น การเคลื่อนย้ายวัสดุที่ปนเปื้อนรังสีทำให้เกิดการปนเปื้อนซ้ำ การปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามอง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนรังสีที่เกิดขึ้นและสะสมอยู่ในเขตโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกวัน
“รัฐบาลญี่ปุ่นต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนเป็นอันดับแรก และควรชดเชยให้แก่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในฟุกุชิมะ ที่สำคัญที่สุดคือต้องสร้างความมั่นใจให้กับอนาคตของประชาชนด้วยการลงมือปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศโดยลด ละ เลิกถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ที่สกปรกและเป็นอันตรายให้หมดสิ้นไป”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |