แม้ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้มีการเสนอรายชื่อทดแทนอดีตรัฐมนตรีสาย กปปส.ไปแล้ว 2 คน โดยมีชื่อเป็นรัฐมนตรีใหม่ คาดว่าคือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไปดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ส่วน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว จะไปนั่ง รมว.วัฒนธรรม พร้อมโยกนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ซึ่งมองว่าเป็นโควตาใกล้ชิดกับบิ๊ก 3 ป. ไปเป็น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
แต่ก็ใช่ว่าสูตรนี้จะสะเด็ดน้ำ เพราะยังมีตัวแปรสำคัญที่กำลังวิ่งฝุ่นตลบเพื่อเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ โดยเฉพาะการเดินเกมแรงแบบไม่สนใครของรัฐมนตรี 3 ช. นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้มากบารมีของพรรค หวังขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการได้หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์คลื่นใต้น้ำ แต่ละกลุ่มก๊วนวิ่งกันฝุ่นตลบ
หลังทำงานผลงานสุดยอดเยี่ยม เป็นแม่ทัพบริหารจัดการจนชนะการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช คว้า ส.ส.มาเพิ่มในมือในสภาเป็นคนที่ 122 แถมยังสั่งสอนนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พี่ชายของนายพงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ ผู้สมัคร ส.ส. เพราะตลอดการเป็นผู้แทนเล่นบทแกะดำ ค่อยแซะและกระแนะกระแหนพี่น้อง 3 ป. ทุกจังหวะทางการเมืองให้ได้รับความอับอายมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากผู้กองธรรมนัสไม่ได้รับรางวัลตอบแทน ก็เป็นการยากที่คลื่นลมใน พปชร.จะสงบ
นอกจากนี้ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคภูมิใจไทย มีกระแสข่าวต้องการขอสลับเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ของตัวเอง ไปแลกกับพรรค ปชป.ในตำแหน่ง รมช.คมนาคม เพื่อเสริมการบริหารงาน และการทำงานในครึ่งเทอมสุดท้ายของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สุดท้ายหากไม่ได้รับการตอบสนองจาก ปชป.ก็ไม่เป็นไร และยังไม่มีอะไรขาดทุน
เพราะปัจจุบันนี้ก็พอใจกับเก้าอี้ที่รับผิดชอบอยู่ 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วยเก้าอี้สำคัญคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมกับหน้าตักในมือมี ส.ส.มากถึง 61 เสียง ไม่นับงูเห่าจากพรรคก้าวไกลอีก 4 เสียง มากกว่าเดิมในช่วงจัดตั้งรัฐบาลที่มี ส.ส.เพียง 51 เสียง เปรียบเสาค้ำยันที่มั่นคงเอาไว้ ทั้งที่ตามหลักการคำนวณเก้าอี้ รมต. ก็ควรจะได้เพิ่มขึ้น 1 ตำแหน่ง แต่ก็ไม่มีการร้องขอออกมาอย่างเป็นทางการ
แตกต่างจากชะตากรรมของพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนี้ที่มีสภาพเล็กลง ไร้ปากเสียงและเล่นบทนิ่งเงียบ เพราะผจญกับความยากลำบากมาตั้งแต่หลังเสร็จการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่สะท้อนความไร้เอกภาพของ ส.ส.ในพรรค หลังมี 3 ส.ส.ของพรรค ประกอบด้วย
นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ นายอันวาร์ สาและ นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.ในสายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ได้งดออกเสียง แม้แต่หัวหน้าพรรคของตัวเอง และลามมาถึงรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล
ล่าสุดยังเสียเก้าอี้ในพื้นที่ไข่แดงของตัวเองที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงทำให้ไร้อำนาจต่อรอง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าอาจถูกพรรค พปชร.ยึดเก้าอี้กลับ หรือขอสลับเก้าอี้กระทรวงเกรดเอ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รับผิดชอบอยู่ไปให้ พปชร.
สถานการณ์ของ ปชป.จึงขอเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้โควตาของตัวเองอยู่เท่าเดิม และจำเป็นต้องขอโฟกัสเรื่องเดียวคือ เสนอรายชื่อขึ้นมาทดแทนนายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.คมนาคม เพียงเท่านั้น
โดยจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ปชป.ในวันที่ 12 มี.ค. มีรายชื่อแคนดิเดต อาทิ 1.นายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี 2.นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง 3.นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช และ 4.นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา ซึ่งทั้งหมดเป็น ส.ส. 5 สมัย รวมทั้งยังปรากฏชื่ออดีต ส.ส.ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง 8 สมัย ที่มีความอาวุโสทางการเมืองเช่นกัน จะเสนอตัวเข้ารับการพิจารณาครั้งนี้ด้วย
ส่วนการตอบรับในเรื่องสลับตำแหน่ง รมช.กับพรรคภูมิใจไทย เวลานี้อาจจะได้แค่คิด แต่มิใช่สาระสำคัญเท่ากับการกอดเก้าอี้เดิมเอาไว้ให้ได้
แม้ รมช.บางคนในพรรค ปชป.ก็เคยสะท้อนออกมาว่ามีความต้องการจะสลับตำแหน่งเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาทำงานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกับพรรคการเมืองอื่นติดขัดและไม่สามารถแสดงบทบาทได้เต็มที่ ในทางกลับกัน คงเป็นการดีกว่าหากได้โยกไปทำงานร่วมกับพรรคเดียวกัน ที่เชื่อว่าจะพูดจากันได้ง่ายและสามารถโชว์ผลงานได้เพิ่มขึ้น เพื่อหวังฟื้นวิกฤติศรัทธาให้พรรคเก่าแก่แห่งนี้กลับคืนมา
บทสรุปการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/ 4 รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรี นักการเมืองใดจะสมหวัง หรือพรรคการเมืองใดจะเสียประโยชน์ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |