คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติ วันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค. เวลา 09.30 น. ถูกประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลคำวินิจฉัยอาจจะออกมาในสองแนวทางหลัก กับโจทย์ตามญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันจนเป็นมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา ส่งคำร้องมายังศาล รธน.ให้วินิจฉัยว่า “รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ หรือไม่”
1.ผลคำวินิจฉัยคดีสูตรแรก ศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจในการดำเนินการได้ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แต่อย่างใด
หากออกมาสูตรนี้ ผลก็คือ ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญที่จะเกิดขึ้นในช่วง 17-18 มี.ค.นี้ สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. จะมีการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวาระสามต่อไป
2.ผลคำวินิจฉัยสูตรสอง เรียกกันว่า “ล้มกระดานแก้รัฐธรรมนูญ”
คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ตอนนี้ รัฐสภาไม่มีอำนาจในการดำเนินการได้ เพราะมาตรา 256 ไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับแต่อย่างใด เพราะทำได้เพียงแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น
ทั้งนี้ หากศาล รธน.ตัดสินออกมาสูตรสอง ให้รอดูด้วยว่า ศาลจะมีความเห็นประกอบเพิ่มเติมเข้ามาด้วยหรือไม่ ทำนองว่า เมื่อประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผ่านการทำประชามติ ศาล รธน.อาจมองว่าแม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้มีการประกาศใช้ก็เป็นผลมาจากการลงประชามติของประชาชน ดังนั้นหากจะยกเลิกแล้วร่าง รธน.ฉบับใหม่ ผ่านการแก้มาตรา 256 จึงควรให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
โดยหากศาล รธน.มีความเห็นตามแนววิเคราะห์คดีในข้อสอง มันก็คือการยึดแนวคำวินิจฉัยเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 เมื่อปี 2555 ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จับมือกับ ส.ว.ยุคดังกล่าวจำนวนหนึ่ง เคลื่อนไหวแก้มาตรา 291 ใน รธน.ปี 2550 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาร่าง รธน.ฉบับใหม่ แต่ก็โดนศาล รธน.ยุคนั้นเบรกเสียก่อน จนความพยายามแก้ รธน.ของพรรคเพื่อไทยช่วงดังกล่าวต้องหยุดชะงักและล้มเลิกไปในที่สุด
กระนั้น มีการวิเคราะห์ว่า ก็ไม่แน่เสมอไป ที่ศาล รธน.จะยึดบรรทัดฐานเหมือนตอนปี 2555?
โดยให้เหตุผลว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.ปี 2555 เป็นการวินิจฉัยตาม รธน.ปี 2550 ที่สิ้นสภาพไปแล้ว ปัจจุบันเป็น รธน.ปี 2560 โดยแม้มาตรา 256 บทบัญญัติบางวรรคตอนและสาระสำคัญบางประการจะเขียนเหมือนกับมาตรา 291 ใน รธน.ปี 2550 ในเรื่องขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีความแตกต่างกันของรายละเอียดในสาระสำคัญ โดยเฉพาะมาตรา 256 (8) มีการเขียนล็อกไว้ โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า
“หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ ก่อนดําเนินการ นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระสาม ขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป”
อันหมายถึงว่า ร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระแรกและวาระสองมาแล้ว และกำลังจะมีการโหวตวาระสาม ที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายในสัปดาห์หน้า 17-18 มีนาคมนี้ หากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบด้วยกับการแก้ไข รธน.ในวาระสาม ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องจัดให้มีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ซึ่งจุดนี้ มีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ คือ ความแตกต่างของ มาตรา 256 ใน รธน.ฉบับปัจจุบัน กับมาตรา 291 ใน รธน.ปี 2550 ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเบรกการแก้ ม.291 เอาไว้ โดยศาลมีคำวินิจฉัยคดีตอนปี 2555 ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาจากการทำประชามติ ดังนั้นหากจะมีการแก้ไขเพื่อจัดตั้งสภาร่าง รธน. ก็ต้องส่งไปให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ผ่านประชามติ รธน.ปี 2550 มา ได้ลงประชามติก่อนว่าจะให้แก้ ม.291 หรือไม่ ขณะที่ในมาตรา 256 ของ รธน.ฉบับปัจจุบันที่กำลังเสนอแก้ไข มีการเขียนล็อกไว้อยู่แล้วว่า เมื่อจะแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 ที่เป็นเรื่องการแก้ไข รธน. พอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ยังนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้ ต้องส่งไปให้ประชาชนลงประชามติก่อน ที่คล้อยตามไปกับคำวินิจฉัยของศาลในปี 2555
จุดนี้คือความแตกต่างของมาตรา 291 ของ รธน.ปี 2550 กับมาตรา 256 ของ รธน.ปี 2560 ที่เป็น รธน.ฉบับผ่านประชามติเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมต่างกัน จึงทำให้ฝ่ายสนับสนุนการแก้ไข รธน.รอบนี้ชี้ว่า หากจะมีจุดพลิกที่ทำให้ศาล รธน.ไฟเขียวให้มีการแก้ไข รธน.รอบนี้ได้ ประเด็นดังกล่าวก็น่าจะมีส่วนสำคัญเช่นกัน จนอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญยกมาเป็นเหตุที่จะตัดสินไม่เหมือนกับตอนปี 2555 ก็เป็นได้ คือ ไม่ล้มกระดานการแก้ไข รธน.ในเวลานี้ อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์
อีกทั้งมีการมองว่า ปัจจุบันตุลาการศาล รธน.ที่เคยตัดสินคดีมาตรา 291 เมื่อปี 2555 ซึ่งตอนนั้นมี วสันต์ สร้อยพิศุทธิ์ เป็นประธานศาล รธน. แต่ปัจจุบันตุลาการศาล รธน.ทั้งหมดยุคปี 2555 ได้พ้นจากตำแหน่งไปหมดแล้ว ตอนนี้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่หมด 9 คน จึงย่อมอาจเป็นเหตุให้ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบันมีความเห็นในข้อกฎหมายที่แตกต่างจากตุลาการศาล รธน.ช่วงปี 2555 ก็ได้
ส่วนผลจะออกมาอย่างไร รอคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่จะออกมาตอนสายๆ วันที่ 11 มี.ค.นี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |