'ปชป.' อาการน่าเป็นห่วง ประชานิยมพ่นพิษคะแนนตก


เพิ่มเพื่อน    

           สนามเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราชจบไปแล้ว บอกได้เลยว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กำลังเรืองอำนาจ ขาขึ้นสุดๆ ลุยที่ไหนคว้าชัยที่นั่น

               ก็อย่างว่าพรรคนี้เขาพร้อมด้วยสรรพกำลัง ทรัพยากรเพียบพร้อม ตอนนี้ป๊อปปูลาร์เอาไม่อยู่แล้ว 

               นโยบายคนละครึ่งบวกกับนโยบายตระกูล “เรา” ทั้งหลายของรัฐบาล กินใจประชาชนล้นหลาม โดยเฉพาะในยามแย่เศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่เชื้อโควิด-19 มีตัวช่วยจากรัฐบาลมาแบบนี้ ประทับใจ 

               ส่งผลให้ “พลังประชารัฐ” มีแต้มบุญมาก จนเอาชนะเหนือคู่แข่งอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา 

               แต่ชัยชนะนี้ยืนอยู่บนความปวดใจของเพื่อนร่วมรัฐบาล!!!

        จับอาการจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ไว้หลังการเลือกตั้ง 1 วัน ว่า ผมทำการเมืองมานาน อย่างน้อยที่สุดประชาธิปัตย์มีวุฒิภาวะที่จะเข้าใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร พรรคอยู่มา 70 กว่าปี ฉะนั้นเราเข้าใจกระบวนการทางการเมืองดี เพียงแต่วันหนึ่งได้คะแนนน้อยบ้างมากบ้างเป็นเรื่องปกติ 

        เรามั่นใจสิ่งที่เราคิดสิ่งที่เราทำ ทำบนสถาบันทางการเมืองที่ต้องการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้สามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน ซึ่งพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญ ฉะนั้นพรรคการเมืองต้องมีวุฒิภาวะทางการเมืองด้วย ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา อันนี้ไม่ได้พูดถึงพรรคการเมืองอื่น แต่เราพูดถึงตัวเราเอง

               หรือแม้แต่ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้ เมื่อถูกถามถึงมารยาทในการร่วมรัฐบาล เจ้าตัวกล่าวว่า สิ่งที่บอกว่าเรื่องมารยาท ผมเข้าใจว่าในอดีตเคยเห็นบทเรียนเรื่องความแตกแยกของรัฐบาลผสมมา หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำอะไรที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วม โดยเฉพาะการเลือกตั้ง มันหมิ่นเหม่ที่จะก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน จึงมีการละเว้นเรื่องนี้ แต่เมื่อทุกคนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรละเว้น ก็แล้วแต่ความเห็นของแต่ละพรรค ก็ต้องเคารพกัน

               ทว่าทั้ง 2 คนก็ต่างยอมรับว่าพรรคมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

        ล่าสุด เสียงของสมาชิกร่วมพรรคเดียวกัน อย่าง “สัมพันธ์ ทองสมัคร” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช 13 สมัย ออกโรงเตือนว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องหยุดพิจารณาตนเองกันแล้วว่าพรรคควรปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง การจัดคนลงสมัครต้องทบทวนกันใหม่ จะสรรหาคนอย่างไร หากไม่คิดปรับปรุงพรรคคงจะสิ้นอายุขัย 

               คอการเมืองถึงขั้นออกปาก “ประชาธิปัตย์อาการน่าเป็นห่วง” 

        ผลการเลือกตั้งซ่อมเมืองคอน แพ้แล้วก็แพ้ไป แต่อนาคตเลือกตั้งซ่อมจังหวัดชุมพร และอาจจะมีที่จังหวัดสงขลาอีก 1 เก้าอี้ด้วย จะเป็นอย่างไร แล้วไหนจะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อีก 

               โดยเมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่องอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 1 พบว่าบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์รั้งบ๊วย ส่วนบุคคลที่ประชาชนจะเลือกมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 22.43 เปอร์เซ็นต์ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา 15.51 เปอร์เซ็นต์ และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 7.68 เปอร์เซ็นต์

               แม้โพลนี้จะเป็นเพียงผลสำรวจแบบคร่าวๆ แต่ก็เป็นเสมือนคำเตือนจากประชาชนครั้งที่ 1 

        อย่างไรก็ตาม ศึกเลือกตั้งเมืองหลวงมีหลายมิติที่แตกต่างจากสนามอื่น อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อครั้งเลือกตั้งใหญ่ ปี 62 ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ใน กทม. แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะกลับมาอีกไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรอดูใจชาวกรุงเทพฯ ว่าชื่นชอบหลงใหลนโยบายประชานิยมของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

               แต่ที่แน่ๆ หากประชาธิปัตย์ยังไม่เปิดเกมรุก เป็นเพียงลูกไล่และฝ่ายตั้งรับ อีกทั้งยังไม่เร่งเครื่องทำผลงานให้คนประทับใจ ซ้ำแบ่งพรรคแบ่งพวกทะเลาะกันเอง มีหวังกราฟความนิยมนับวันจะมีแต่ดิ่งลงเรื่อยๆ

               พรรคการเมืองและประชาชนต่างต้องเกื้อกูลกัน ลองสำรวจตนเองแล้วกันว่าทำประโยชน์ให้กับสังคมในส่วนใดบ้าง และครอบคลุมทุกภาค (ส่วน) หรือยัง.            


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"